สัญญาณเตือน บ่งบอกเสี่ยงทำร้ายตัวเอง

ที่มา :  เว็บไซต์ไทยรัฐ


สัญญาณเตือน บ่งบอกเสี่ยงทำร้ายตัวเอง thaihealth


แฟ้มภาพ


วิถีการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันดูน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ท่ามกลางแข่งขันเร่งรีบ เมื่อเผชิญกับความเครียดแรงกดดันต่างๆ หลายคนอาจคิดสั้นหนีปัญหา ปราศจากการไตร่ตรองยั้งคิด นำไปสู่การฆ่าตัวตาย


เนื่องด้วยวันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี ทางองค์การอนามัยโลก กำหนดเป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World suicide prevention day) โดยปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ยต่อเวลา จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที ถือเป็น 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลกอีกด้วย ส่วนข้อมูลกรมสุขภาพจิตระบุคนไทยคิดสั้นพยายามฆ่าตัวตายถึงปีละ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ทำสำเร็จปีละประมาณ 4,000 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่เป็นคนโสด


เพื่อเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตาย สำคัญที่สุดคือ คนใกล้ชิดต้องหมั่นสังเกตดูสัญญาณเตือนบ่งบอกของผู้เสี่ยงจะฆ่าตัวตาย หากมีการโพสต์ข้อความแปลก อาทิ การโพสต์ข้อความสั่งเสีย เช่น ขอโทษ ลาก่อน การโพสต์ระบุ ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว บอกถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ความล้มเหลว ผิดหวังในชีวิต มีการกล่าวโทษ ต่อว่าตัวเอง ทำให้เป็นภาระของคนอื่น ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณเตือนของคนเสี่ยงจะฆ่าตัวตาย


นอกจากนี้ยังมีต้นเหตุพบได้บ่อยสุดจาก 5 เรื่อง 1.ความสัมพันธ์บุคคล 2.สุรา 3.ยาเสพติด 4.สังคม และ 5.เศรษฐกิจ ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่มาจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้น จะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่าส่วนผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า และผิดหวังความรัก


ขณะที่นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้ปัญหาการฆ่าตัวตายจะเริ่มมาจากปัจเจกบุคคลและมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนก็ตาม แต่ก็ไม่ยากเกินแก้ โดยสังคมทุกภาคส่วนทั้งภาคสาธารณสุขและภาคประชาชนต้องร่วมมือป้องกันแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งหลักฐานทางวิชาการทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยขอให้ร่วมมือกันอัดฉีดวัคซีน 3 ส. ป้องกันปัญหาฆ่าตัวตาย


เริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นพลังสำคัญและอยู่ใกล้ปัญหาที่สุด ส.ที่ 1 การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ห่างเหินและใกล้ชิดจนเกินไป ให้คนในครอบครัวเป็นตัวของตัวเอง มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน


ส.ที่ 2 ได้แก่ การสื่อสารที่ดีต่อกัน โดยบอกความรู้สึกตัวเองอย่างจริงจัง มีภาษาท่าทางที่เป็นมิตรต่อกัน เช่น สบตา ยิ้ม โอบกอด และการสัมผัส จะช่วยให้คนในครอบครัวเกิดพลังที่เข้มแข็ง


และส.ที่ 3 คือใส่ใจรับฟัง มีเวลาให้คนในครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน และดูแลช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ซึ่งกรมสุขภาพจิตตั้งเป้าลดอัตราการฆ่าตัวตายให้เหลือ 6.0 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2564    นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การพยายามฆ่าตัวตาย เป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นไม่สามารถหาทางออกได้ในสถานการณ์ที่กดดันทางอารมณ์อย่างรุนแรง จำเป็นต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ ขอให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งมีปีละกว่า 48,000 คน


"ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธหรือผิดหวังในตัวผู้กระทำแค่ไหนก็ตาม ควรให้อภัย หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ขอให้เข้าไปพูดคุยซักถามถึงความคิดฆ่าตัวตาย ด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จริงใจ จะช่วยผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายคลายความกังวล รู้สึกผ่อนคลายและเข้าใจตัวเองดีขึ้น จะเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำได้ เพราะจากการศึกษาของกรมสุขภาพจิตพบว่าจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้มากถึงปีละ 400 คน"


สำหรับสัญญาณเตือนของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตาย มี 9 สัญญาณ เมื่อพบต้องเข้าไปพูดคุยทันที ได้แก่ 1.ชอบพูดเปรยๆ หรือระบายความรู้สึกผ่านสังคมออนไลน์ว่าอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่มีใครรัก ไร้ค่า ไม่มีใครสนใจ 2.เดินทางไปเยี่ยมคนรู้จักโดยที่ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนไปบอกลา 3.แยกตัวไม่พูดกับใคร สีหน้าเศร้าหมอง ซึมเศร้า 4.มีการแจกจ่ายของรักของหวง พูดจาฝากฝังคนข้างหลัง ทำพินัยกรรมในเวลาที่ยังไม่สมควร 5.ติดเหล้าหรือใช้ยาเสพติดหนักในช่วงนี้


6.ทรมานจากการเจ็บป่วยเรื้อรังจนต้องพึ่งยารักษาเป็นประจำ 7.นอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานานๆ 8. ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย สูญเสียคนรักกะทันหัน เป็นโรคเรื้อรัง พิการจากอุบัติเหตุ และ 9. มีอารมณ์ดีขึ้นอย่างกะทันหันตรงกันข้ามกับที่ผ่านๆ มา ซึ่งเป็นช่วงอาจแสดงว่าเขารวบรวมความกล้าและตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะฆ่าตัวตาย


ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราและเสพสารเสพติด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคจิตเภท ผู้ที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้ว ผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทั้งหมดนี้มีเสี่ยงสูงกว่าประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ 4 เท่า-100 เท่าตัว

Shares:
QR Code :
QR Code