"สัญชาติไทย" ของขวัญที่เด็กดอย "บ้านปางแดง" รอคอย
"ผมอยากเป็นหมอ" "ผมอยากเป็นตำรวจ" "หนูอยากเป็นครูค่ะ" เด็กๆ ทุกคนล้วนมีความฝันและคงไม่ยากนักที่จะทำให้มันเป็นจริงในวันข้างหน้า ถ้ายังตั้งใจและไม่หยุดฝันไปเสียก่อน แต่สำหรับเด็กๆ ที่ "บ้านปางแดง" กลับต่างออกไป เพราะสถานะทางกฎหมายกลับกลายเป็นอุปสรรคก้อนใหญ่กีดขวางเส้นทางฝันที่เคยยิ่งใหญ่ในใจ ให้หดเล็กลงจนแทบไม่เหลือไรฝุ่นความเป็นไปได้ จากการแบ่งแยกตีตราพวกเขาว่าไม่ใช่คนไทย ทั้งที่ส่วนใหญ่เกิดและโตในไทย แต่กลับเป็นได้เพียง "คนไร้สัญชาติ"
ในวันเด็กที่ผ่านมาทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทริป "ดินแดนแสนดอกไม้" ที่มีโอกาสได้เข้าไปทำความรู้จักวิถีชีวิตชนเผ่าดาราอั้ง บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ด้วยหวังเล็กๆ ว่าฝันของเด็กๆ ที่จะได้มีสัญชาติไทยหรืออย่างน้อยๆ ขอแค่มีสถานะตามที่กฎหมายคุ้มครองอย่างเป็นธรรม จะถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้างกว่าในกลุ่ม NGO, ผู้ผลักดันนโยบาย หรือจำกัดอยู่เพียงแค่คนในท้องที่และผู้สนใจปัญหาสังคมเพียงไม่กี่กลุ่มอย่างที่ผ่านๆ มา
แม้ว่าทุกวันนี้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านหมู่บ้านปางแดงในฐานะชนเผ่าผู้อพยพจากพม่ามาขอพึ่งพิงแผ่นดินสยาม จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ไม่ต้องถูกไล่ที่อีก หลังจากองค์กรอิสระช่วยหาทุน บริจาคเงินกว่า 700,000 บาทซื้อโฉนดและร่วมสร้างชายคาที่แข็งแรงให้ได้ตั้งถิ่นฐานรกราก แต่ผลกระทบจากการไร้สถานะไร้สัญชาติก็ยังคงสร้างบาดแผลให้แก่พวกเขาได้ไม่เว้นวัน
ความเจ็บปวดเหล่านี้ยังคงถูกบอกเล่าผ่านละครเงาที่เด็กๆ เล่น ยังคงแอบอิงอยู่ในท่าทีกล้าๆ กลัวๆ คนแปลกหน้า ยังคงแอบแฝงอยู่ในทุกคำพูด ยังคงดำดิ่งลงลึกไปในแววตา… ในแววตาของเด็กน้อยอันเปี่ยมไปด้วยความหวังที่แสนเศร้าสร้อยจากความฝันที่ยังไม่เคยเป็นจริง ในแววตาของผู้ใหญ่อันเอ่อล้นไปด้วยความผิดหวังที่แสนเจ็บปวดจากความจริงที่แบ่งแยกพวกเขาออกจากคนในผืนแผ่นดินไทยด้วยกันเอง
"เวลาจะเข้าโรงพยาบาลก็เป็นปัญหานะ สถานะไร้สัญชาติของเราเนี่ย ตอนนี้บางคนจะได้ใบกำกับว่าเป็นต่างด้าวถาวร แต่ถ้าอยากได้สัญชาติจะต้องมีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนก่อน เราก็บอกว่าถ้าเราหาเงินขนาดนั้นได้ เราไม่ต้องการสัญชาติแล้ว (ยิ้มเนือยๆ) ปีหนึ่งทำงานรวมเงินแล้ว เรายังทำไม่ได้ถึง 30,000 เลยพูดตรงๆ ทุกวันนี้ทำได้แค่ไปรับจ้างเกี่ยวข้าว เก็บข้าวโพด เก็บถั่วลิสง แต่ถ้าเรามีสัญชาติ จะไปหางานทำที่อื่นก็ง่าย แต่ตอนนี้เขาจำกัดเขตพื้นที่เราไว้ ไปได้ไกลสุดแค่ในตัว จ.เชียงใหม่ แล้วก็ห้ามข้ามเขตด้วย บัตรเชียงดาวก็ห้ามไปเชียงใหม่ ถ้าจะไปก็ต้องขออนุญาต ออกนอกพื้นที่ได้มากสุดประมาณ 15 วัน
เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขากลัวว่าเราได้สัญชาติแล้วจะไปทำอะไร แต่เราคิดว่าถ้าเขาให้มันจะดีกว่าไม่ให้นะ ถ้าเรามีสัญชาติแล้วเราจะทำงานอย่างอื่นสะดวกกว่า แต่พอไม่มี บางคนก็คิดสั้น ไปทำงานที่ไม่ค่อยดี ตอนนี้เด็กๆ ที่ไม่มีสัญชาติ ที่กำลังเรียนอยู่มีปัญหาเรื่องกู้ยืมเงินเรียน พ่อแม่เด็กก็ไม่มีเงินส่งลูกไปเรียน ลูกอยากเรียนก็ไปเรียนไม่ได้" คำ นายนวล หัวหน้าชุมชนชาวดาราอั้ง คณะกรรมการหมู่บ้านมั่นคง ผู้ต่อสู้เรื่องนี้มากว่าสิบปีและยังไม่มีท่าทีว่าจะได้สัญชาติ บอกเล่าผ่านสำเนียงไทยเกือบชัดให้ฟังด้วยแววตาหม่นหมอง
ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือชนเผ่าดาราอั้งแห่งนี้มักถูกประเคนสถานะ "แพะรับบาป" ให้ต้องแบกรับอยู่บ่อยๆ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอาถรรพ์จากตำนานความเชื่อเรื่อง "นางดอยเงิน" ที่เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของชนเผ่าด้วยหรือไม่ แต่คนที่นี่เชื่อกันว่าพวกเขาเป็นนางดอยเงินหรือนางฟ้าในตำนานที่ถูกพรานเด็ดปีกแล้วจับไปจองจำเอาไว้ทั้งชีวิต จึงทำให้เป็นชนเผ่าที่โชคร้ายและไม่หือไม่อือต่อการถูกป้ายสีมอบชีวิตในมุ้งเหล็กให้หลายต่อหลายครั้ง อย่างที่ "ปุ้ย-ศุภรักษ์ ใจวุฒิ" กลุ่มละครมะขามป้อม มูลนิธิสื่อชาวบ้าน หนึ่งในกำลังหลัก ผู้ขับเคลื่อนปัญหา ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ชาวบ้านมาโดยตลอดบอกเอาไว้
"ชาวบ้านที่นี่ถูกแปะป้ายไปแล้วว่าไม่มีสัญชาติ เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นมนุษย์ที่ต้องโดนจับ ไฟไหม้ก็มาจับหมู่บ้านปางแดง น้ำท่วมภาคใต้ยังมาจับ เป็นแพะอันดับหนึ่งของประเทศเลยนะหมู่บ้านนี้ คงเพราะเป็นหมู่บ้านไข่แดงรวมคนไร้สัญชาติไว้อยู่ตรงนี้ ถ้าใครเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องมาศึกษาที่นี่ มีกรณีจับติดคุกเยอะแยะไปหมด ชาวบ้านนอนอยู่ในบ้านดีๆ ช่วงตี 4 ตี 5 เจ้าหน้าที่ก็สนธิกำลังกัน 400 คนไปล้อมจับหมู่บ้านเล็กๆ ข้อหาบุกรุกป่า เห็นโดน 3-4 ครั้ง ปี 30 ปี 42 ปี 47 ทุกวันนี้คดีจบแล้ว แต่ก็ยังมีจับแบบนี้เรื่อยๆ อยู่ แต่การล้อมจับใหญ่ๆ แบบนั้นไม่มีแล้ว
ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการเลือกปฏิบัติ ก่อนอื่นเราต้องแยกคำว่า "อคติ" กับ "เลือกปฏิบัติ" ให้ออกก่อนนะ คือคนเรามีอคติได้ เราจะไม่ชอบคนนี้เพราะเขาหน้าตากวนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราเลือกปฏิบัติ มันแย่ เข้าใจว่ามนุษย์เราไม่ต้องดีเหมือนแม่ชีเทเรซ่า ไม่ต้องรักทุกคน แต่คุณอย่ามาเลือกปฏิบัติ ต้องปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าคนนั้นจะมีสถานะหรืออาชีพอะไร ไม่ใช่ว่าคุณเป็นหมอเป็นพยาบาลแล้วเห็นว่าเขาพูดไม่ชัด-พูดไม่รู้เรื่อง คุณก็ข่มเหงเขา พอเห็นแบบนี้เยอะๆ เข้าก็หดหู่เหมือนกันนะ รู้สึกว่ามนุษย์คนนึงทำกับมนุษย์อีกคนนึงได้ขนาดนี้เลยเหรอ"
สานฝันเด็กๆ ด้วยพลังจากคนดีๆ
"ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ มันสามารถแก้ได้ด้วยการพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันครับ เข้าใจว่าคนที่ไม่มีสัญชาติไม่ได้แปลว่าเขาไม่ใช่คนไทย หรือไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนต่ำต้อยเสมอไป" ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร A Day ผู้ก่อตั้งทริป "ดินแดนแสนดอกไม้" หนึ่งในหัวแรงหลักที่ริเริ่มโครงการซื้อโฉนดให้ชาวบ้านที่นี่ได้อยู่ได้มีที่ทำกินมาจนถึงทุกวันนี้ ช่วยไขทางออกเล็กๆ เอาไว้ให้ และเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ผลักให้ก้องพาคนจากแต่ละสาขาอาชีพ คนจากต่างมุมมองและสถานะทางสังคม เข้ามาทำความรู้จักและสร้างความผูกพันกันบนผืนดินแห่งนี้
"จะทำยังไงให้คนได้ยินเสียงคนจากที่นี่บ้าง เพราะปกติเราจะได้ยินแต่เสียงคนเมืองที่เต็มไปด้วยอีโก้และคิดว่าฉันรู้ทุกอย่าง ฉันเรียนจบปริญญา อ่านเว็บไซต์ต่างประเทศมากมาย ทำยังไงให้คนเหล่านี้มาก้มหัวให้คนที่นี่แล้วบอกว่า ช่วยสอนผมหน่อยเถอะครับ แต่ถ้าไปบอกเขาว่า มามะ…มาฟังเรื่องสัญชาติกัน ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากมาฟังหรอกครับ แต่แค่เราเปลี่ยนวิธีบอกเล่าใหม่ บอกว่ามาจัดงานวันเด็กให้เด็กปะหล่องกัน มันก็จะมีคนอยากมา พอได้มาเจอ มาเห็นว่าเด็กที่นี่เจ๋งยังไง เห็นว่าเด็กที่นี่ก็มีความฝัน พวกเขาก็อยากจะช่วยเด็กทำให้ความฝันของเด็กเป็นจริง
จริงๆ แล้ว วัตถุประสงค์ที่พยายามทำ มันคงไม่ได้ยิ่งใหญ่ถึงขั้นจะเปลี่ยนนโยบายเรื่องการให้สัญชาติคนต่างด้าวหรอกครับ คิดดูสิครับว่า NGO ที่ทำงานกันมาเป็นสิบๆ ปี หรือนักการเมืองระดับท้องถิ่น-ระดับประเทศจำนวนมาก พยายามจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ มันยังเกิดไม่ได้เลย เพราะเป็นประเด็นที่ sensitive มาก มันไม่ใช่แค่เรื่องได้สัญชาติไทย แต่คนจำนวนหนึ่งมองว่าคนที่ไม่มีสัญชาติคือคนที่ไม่ใช่คนไทย เป็นเหมือนแรงงานราคาถูกเข้ามา สกปรก พูดไทยไม่ชัด แล้วก็เข้ามาเอาสวัสดิการรัฐของคนไทยไป แล้วทำไมเราต้องให้พวกเขามีสัญชาติไทยด้วยล่ะ สิ่งเหล่านี้คืออคติ คือปัญหาที่เกิดขึ้น
ชาวบ้านเหล่านี้ เวลาเข้าไปอยู่ในเมือง เขาก็เป็นแค่คนที่พูดไทยไม่ชัด ซึ่งอาจจะไม่ได้มีค่าอะไรในสายตาพวกเราเลย แต่พอเรามาหาเขาที่นี่ เขาจะเหมือนคนที่มีออร่า ฉายแสงอะไรบางอย่าง เขามีภาษาท้องถิ่นของเขา เขามีประวัติศาสตร์เรื่องเล่าซึ่งคนเมืองไม่มี เขามีเครื่องดนตรีท้องถิ่น มีอาหาร มีตำนานในเครื่องแต่งกาย พอเราเปลี่ยนที่มาอยู่ในที่ที่เขาฉายแสงแล้ว เราก็จะพบว่าพวกเขาเจ๋งว่ะ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าเขาเจ๋ง เราจะอยากยอมรับเขา ผมเชื่อแบบนั้นครับ และเมื่อคนเรายอมรับกันปุ๊บ เราจะมองเขาเปลี่ยนไป ส่วนปัญหาเรื่องสัญชาติในเชิงนโยบาย คงยากที่จะเข้าไปแก้ แต่พอคนจากสองฟากได้มาเจอกันแบบนี้ เราจะมองเขาเปลี่ยนไป อย่างน้อยที่สุดคนที่มาร่วมทริปในจำนวน 30 คนนี้ก็จะมองคนไร้สัญชาติไปในอีกความหมายนึงว่า เขาก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเผลอๆ อาจจะเจ๋งกว่าเราด้วย
และถ้าคนที่มาเข้าร่วมครั้งนี้กลับออกไป ถ้าพวกเขาเป็นหมอเป็นพยาบาล แล้ววันหนึ่งมีคนไร้สัญชาติเหล่านี้มารักษา เขาก็อาจจะปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน อาจจะพยายามดิ้นรนให้โรงพยาบาลมีมาตรการที่จะช่วยดูแลคนเหล่านี้ออกมา หรือถ้าเขาเป็นคนที่ทำงานในโรงเรียน เขาก็อาจจะทำให้เด็กไม่มีสัญชาติได้เรียนหนังสือ เพราะทุกวันนี้คนไร้สัญชาติต้องจ่ายเรตแพงเท่ากับนักเรียนอินเตอร์ จ่ายเท่าคนอเมริกันที่มาเรียนมหาวิทยาลัย ถ้าเกิดคนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย วันนึงเขาอาจจะต่อสู้เพื่อให้เด็กไร้สัญชาติได้เรียนในราคาที่เป็นธรรมก็ได้ สิ่งเหล่านี้อาจจะดูได้ผลกว่าการที่เราคอยเรียกร้องให้รัฐเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้วยซ้ำครับ"
ก้องขอเรียกผู้มาร่วมทริปในครั้งนี้ว่าเป็น "คนดีที่ใกล้หมดพลัง" เพราะส่วนใหญ่มีฝัน และมีความคิดดีๆ ที่จะทำเพื่อสังคมในแบบที่ตัวเองถนัด แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างในการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ทำให้พลังงานที่เคยมี นับวันจะยิ่งฝ่อลงทุกวัน เช่นเดียวกับคนเมืองอีกหลายๆ คนที่โหยหาการกลับสู่อ้อมกอดแห่งขุนเขาและเปิดใจเรียนรู้เพื่อนใหม่ในฐานะนักเดินทาง ส่วนชาวบ้านปางแดงเองก็จะได้ยืนหยัดภูมิใจด้วยลำแข้งของตัวเองในวันที่ทุกคนมองเห็นคุณค่า เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในทริปนี้
"ถ้ามีหมู่บ้านแบบนี้เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น แล้วโปรโมตออกไปว่าที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมน่าสนใจเอาไว้ด้วยกัน คนทั้งประเทศจะแห่กันมาเพื่อมาดูความพิเศษตรงนี้ และที่นี่แหละครับคือแหล่งรวมความพิเศษนั้น ถ้าชาวบ้านได้ลองทำทัวร์ มีคนมาชื่นชม เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะถ้าคิดแค่เรื่องเงิน ทำนาก็ได้เงิน ปลูกถั่วก็ได้เงิน แต่แบบนี้พวกเขาได้กำลังใจ ไม่งั้นถ้าเขาใส่ชุดแบบนี้เข้าไปในเมือง คนก็ขำเขา พ่อแม่เด็กที่นี่ก็ไม่อยากสอนให้ลูกพูดภาษาปะหล่องเพราะมันทำให้เด็กพูดไทยไม่ชัด ถูกล้อ แต่ถ้าเขาได้รับการยอมรับ คนมาแล้วตื่นเต้นในวัฒนธรรม ในความเป็นเขา มันก็จะทำให้เขาอยากรักษาเอาไว้"
ความหวังอันริบหรี่ อยู่ที่ผู้มาเยือน
ความผูกพันในระยะเวลาอันสั้นที่เกิดขึ้น ต่างเรียงร้อยดวงใจใครต่อใครให้หลงใหลเข้าไปในดินแดนแห่งความฝันของเหล่าเด็กน้อยผู้ไร้สัญชาติแห่งบ้านปางแดง ดินแดนหลากเรื่องเล่าของชนเผ่าดาราอั้งที่ยังคงหลงเหลือประกายความหวังในดวงตา พวกเขาหวังเพียงแต่ว่าจะมีใครสักคน คนสักกลุ่ม เข้ามาช่วยฟันฝ่า ปูทางเส้นทางฝันของพวกเขาให้ได้เป็นจริงเพียงสักครั้ง…ความฝันที่จะได้มีตัวตนหยัดยืนอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้อย่างเท่าเทียม
"เด็กทุกคนมีความฝันที่สวยงาม เด็กหลายคนมีโอกาสได้ทำตามความฝัน เด็กบางคนรอโอกาสที่จะได้ทำตามความฝัน กำลังจะเริ่มเขียนบันทึกและทำภาพประกอบเกี่ยวกับการเดินทางในทริป ความฝันวันเด็ก ฝากติดตามมันด้วยนะครับ สัญญาว่าจะเขียนให้จบแม้จะไม่มีใครอ่านมัน" คือข้อความที่ "ฮิปโป-ดำริ" นักวาดภาพประกอบชื่อดังนาม "Hibpo" ผู้ฝากลายเส้นน่ารักๆ เอาไว้ในหนังสือเครือ A Book มาแล้วหลายเล่ม โพสต์ทิ้งไว้ผ่านอินสตาแกรม @hibpo หลังทริปแห่งความทรงจำนี้สิ้นสุดลง ด้วยใจความที่ไม่ต่างไปจากความตั้งใจอันแน่วแน่ที่ได้บอกเราไว้
"ตอนแรกคิดไว้ว่าจะทำเป็นบล็อก เขียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่พอมาได้เห็นจริงๆ เราเริ่มรู้สึกว่าหลายๆ ภาพ หลายๆ สิ่งที่เราเห็น มันสวยจนคิดว่าถ้าเราเอามาวาดรูปได้ คงได้เป็นเซตๆ เป็นฉากๆ อยากทำให้คนเห็นว่าภาพกราฟิกกับคนบนดอย มันมีความเชื่อมโยงกันยังไง อยากทำให้เห็นภาพว่าสิ่งที่เราเห็นบนดอยมันสวยงามแค่ไหน ผมคิดว่าตัวการ์ตูนของผมน่าจะช่วยได้บ้างครับ เพราะเราเรียนออกแบบกราฟิกมา เราอาจจะช่วยด้านอื่นได้ไม่ดีเพราะเราไม่เข้าใจระบบการช่วยงานด้านอื่น แต่ถ้าเป็นด้านนี้ เราจะช่วย เราจะสนับสนุนเต็มที่เลยครับ ตอนนี้ ผมก็มีสื่ออยู่ในมือบ้าง ผมก็จะใช้สื่อตรงนี้สื่อสารประเด็นนี้ออกไปให้คนอื่นได้เห็นมากขึ้นบ้างครับ
เรื่องความฝันของเด็กๆ ผมก็มีถามน้องๆ เขาบ้าง น้องเขาก็ฝันเหมือนๆ เราตอนเด็กๆ เลยครับ อยากเป็นตำรวจ เป็นหมอ เป็นนั่นนี่เต็มไปหมด แต่เราก็แอบรู้สึกในใจว่าความฝันของเด็กอาจจะไปไม่ได้สุดเพราะเขายังไม่รู้เรื่องสิทธิที่เขาควรจะได้ พอเขาโตไปกว่านี้หน่อยแล้วเขาอยากเป็นตำรวจ เขาอาจจะเป็นไม่ได้เพราะเขาไม่มีบัตรประชาชน เหมือนความฝันของเขาถูกจำกัดไว้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ความฝันของเขาในวันนี้น่าจะอยู่ที่คนอื่นมากกว่าครับ น่าจะอยู่ที่ผู้ใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยให้ความฝันของเขาเป็นจริง เพราะตอนนี้ พวกเขายังใสเกินกว่าที่จะรู้เรื่องนี้"
"อุ๋ม-เพ็ญสิริ สอนบุตร" หนึ่งในฟันเฟืองผู้ขับเคลื่อนกลุ่ม "Local Alike" องค์กรที่สนับสนุนการท่องเที่ยวพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน คืออีกหนึ่งแรงที่อยากสื่อสารเรื่องราวของพี่น้องชาวดาราอั้ง ออกไป เธอเชื่อว่าต้องมีสักทางที่เธอจะสามารถช่วยได้
"โดยส่วนตัวเองก็อยากจะบอกต่อ ถ่ายทอด ผ่านทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทางไหนก็ตามแต่ที่จะช่วยสื่อสารเอง และในส่วนของ Local Alike เองก็คิดว่าเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจที่จะเข้ามา ถ้าคนในชุมชนต้องการและสามารถพาเที่ยวได้ เราก็ยินดีค่ะ ส่วนปัญหาเรื่องไร้สัญชาติ คิดว่าปัญหาหลักคือเรื่องอคติ ถ้าทุกคนมองว่าเรามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ปัญหาเรื่องนี้คงจะไม่รุนแรงอย่างที่เป็นอยู่" และบรรทัดต่อจากนี้คือสิ่งที่เธอสื่อสารความคิดคมๆ บอกกับสังคมเอาไว้
"ในขณะที่เรารู้สึกว่า ชีวิตของเรามีข้อจำกัดมากมาย ในขณะที่เรารู้สึกว่าชีวิตของเราช่างวุ่นวายไปเสียหมด ในขณะที่เรารู้สึกว่าปัญหาของเราช่างหนักหนา แต่เราหลงลืมไปว่า ปัญหาเราเล็กลง เมื่อเทียบกับปัญหาของคนอื่นซึ่งใหญ่มาก"
"ชุติมา เด็กสาววัย 12 ปี ชาวดาราอั้ง เยาวชนนำเที่ยวชุมชนและนักแสดงกายกรรม คนตัวเล็ก ผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ฉัน ก่อนเราจากกัน น้องเดินมาสวมกอดและเราก็กอดกันอีกครั้ง ก่อนที่น้องจะพูดกับฉันเป็นประโยคสุดท้ายว่า… พี่จะกลับมาหาหนูอีกเมื่อไหร่คะ"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์