สังคมไทยมุสลิม…เบื้องหลังความสำเร็จตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ของ สสม.
ในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งที่ติดตามการทำงานของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.) ตลอดระยะเวลา9 ปีที่ผ่านมา แอบชื่นชมการทำงานของทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะเห็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของแผนงานฯ นี้อย่างต่อเนื่อง การันตีได้จากผลงานชิ้นโบว์แดงระดับประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์กับชาวไทยมุสลิมได้จริง เช่นโครงการสุนัต (ขลิบปลายอวัยวะเพศ)ฟรีทั่วประเทศ พ.รบ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต อีกทั้งแผนงานนวัตกรรมต้นแบบเชิงนโยบายที่หลายหน่วยงานและภาครัฐนำไปขยายผลใช้ในระดับประเทศ เช่น คู่มือเทศนาวันศุกร์ โครงการผลิตและส่งมอบหนังสือแบบเรียนวิชาสุขศึกษาและพล ศึกษาแบบบูรณาการอิสลามให้แก่โรงเรียนเอกชนมุสลิมและโรงเรียนเอกชน สอนศาสนาอิสลามในภาคใต้ พื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียงรวมกว่า 70 โรงเรียนโครงการมัสยิดครบวงจร โครงการชุมชนต้นแบบโครงการเรียนผู้นำสุขภาวะและโครงการเด่นๆ อีกหลายโครงการ
รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.) บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสสม. เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาและแรงบันดาลใจในการทำงานว่า
“ผมมองว่าสังคมมุสลิมเป็นสังคมที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ทั้งด้านองค์ความรู้การทำงาน และงบประมาณ รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพหลายๆ อย่างที่มุสลิมประสบอยู่ก็ยังไม่ได้รับการดูแลจัดการอย่างเหมาะสม สาเหตุหนึ่งนั้นเกิดจากช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมและศาสนาผมจึงตั้งคำถามว่ามุสลิมในประเทศไทยในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่งต้องเสียภาษีดังนั้นเมื่อขาดโอกาสก็น่าจะมีใครสักคนหนึ่งมาเติมเต็มให้เขาเหล่านั้นได้รับโอกาสเท่าเทียมกันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศหลังจากที่มีโอกาสลงพื้นที่ตระเวนไปในหลายจังหวัดตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลางภาคใต้ บริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยทำให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่รอคอยการแก้ไข เมื่อกลับมาจากการลงพื้นที่ผมจึงเขียนแผนงานขึ้นมาและบอกกับทางสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อของ สสส. ผู้ให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานว่า การทำงาน/เพื่อเข้าถึงมุสลิมต้องใช้หลักการศาสนาในการทำงาน อะไรที่ออกนอกหลักการศาสนาจะทำไม่ได้ นับจากปี 2546 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 9 ปีแล้ว ที่เราทำงาน อย่างหนักโดยมีเจตนารมณ์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของมุสลิมให้ดีขึ้นทั้งด้านสุขภาวะทางกาย ใจ สุขภาวะทางปัญญาและสุขภาวะทางสังคม”
จะว่าไปแล้วการดำเนินงานของสสม. เปรียบเสมือน islamic window ในส่วนของสุขภาวะของสังคมไทยมุสลิม เนื่องจากสสม. ทำงานภายใต้ความเข้าใจหลักการของอิสลาม และใช้หลักศาสนาเข้ามาบริหารจัดการโดยมีกลุ่มเป้าหมายของการทำงาน คือ ชาวไทยมุสลิม อันที่จริงการทำงานภายใต้ความแตกต่างระหว่างช่องว่างทางวัฒนธรรมและศาสนาของสังคมไทยพุทธซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศกับสังคมไทยมุสลิมซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อยนั้นมีอุปสรรคปัญหา และความยากลำบากอยู่ไม่น้อย ดังนั้นการวางแผนระดับยุทธศาสตร์ และการเข้าไปดำเนินการต่างๆในเรื่องสุขภาวะให้เกิดประสิทธิผล จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างของหลักการแต่ละศาสนาที่มีผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต วิถีความคิด และพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมของมุสลิมที่นำศาสนามาใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
“สังคมมุสลิมจะนำศาสนามาใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ดังนั้น คนที่ทำงานด้านนี้ต้องเข้าใจหลักอิสลามในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาวะด้วย แต่ด้วยวิธีคิดมันต่างกัน สังคมใหญ่กับสังคมมุสลิมไม่เหมือนกันจึงมีหลายจุดที่คิดและทำแตกต่างกันตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การรณรงค์เกี่ยวกับเหล้าที่ทำคนละดีกรีกัน วิธีคิดของอิสลามเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกประเภทคือสิ่งต้องห้าม ห้ามดื่ม ห้ามยุ่งเกี่ยว ห้ามซื้อและขายแต่วิธีคิดของสังคมทั่วไปคือ ดื่มได้ แต่ควรดื่มอย่างมีสติ หรือวิธีคิดของบางคนในสังคมใหญ่เห็นว่าควรจัดโครงการรณรงค์รอมฎอน ปลอดเหล้าซึ่งเรื่องแบบนี้มุสลิมรับไม่ได้ เพราะมุสลิมไม่ดื่มเหล้าอยู่แล้วไม่ว่าจะเทศกาล หรือวันสำคัญใดๆ ก็ตามส่วนเรื่องเมาไม่ขับเราก็ไม่ละทิ้งเช่นกันแต่เราไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากเพราะพื้นที่ใดที่มีมุสลิมอยู่มากปัญหาเรื่องเมาแล้ว ขับแทบไม่มี ตรงนี้สามารถยืนยันได้ด้วยผลวิจัย เรื่องการมีเซ็กส์ก็เช่นกันสังคมไทยส่วนใหญ่เริ่มยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานมากขึ้น ส่งเสริมให้ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรค ซึ่งมุสลิมไม่รับแนว คิดนี้เพราะอิสลามไม่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานดังนั้นโครงการบาง โครงการที่ขัดกับหลักอิสลามแต่ภาครัฐนำมา ใช้ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเข้ากันไม่ได้กับสังคมมุสลิม”รศ.ดร.อิศรา อธิบายเพิ่มเติม
9 ปี ที่ผ่านมาของ สสม. ได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมไว้มากมาย ท่านเองอาจจะคุ้นชื่อโครงการเหล่านี้มาบ้าง เช่นร่างพรบ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตโครงการสุนัตฟรีทั่วประเทศ และโครงการผลิตแบบเรียนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาแบบบูรณาการอิสลาม ตามคำบอกเล่าของรศ.ดร.อิศสรา ที่บอกว่ามันคือของขวัญที่สสม.ส่งมอบให้กับสังคม
“โครงการที่เราภูมิใจมากคือ โครงการสุนัต การทำสุนัตคือการขลิบเอาหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของผู้ชายออกไปเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด ในทางการแพทย์ปัจจุบันยอมรับแล้วว่า การทำสุนัตช่วยป้องกันและลดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ แต่เดิมหากต้องไปทำสุนัตที่โรงพยาบาลจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-5,000 บาทโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดถึง 7,000 บาท บางครอบครัวที่ไม่มีเงิน มีลูกชายหลายคน ลูกคนโตอายุ 19 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีใครได้ทำสุนัตกันสักคน หลังจาก สสส.ให้การสนับสนุนอยู่ระยะหนึ่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็อนุมัติให้การสนับสนุน ดังนั้นปัจจุบันใครก็ได้ที่ถือบัตรทอง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็สามารถทำสุนัตได้ฟรีเช่นกัน ความภูมิใจต่อมาคือ การผลักดันร่าง พรบ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต เป็นพรบ.ที่บอกว่ารัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้มุสลิมในชุมชน ต่างๆตั้งกองทุนซะกาตขึ้นมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาความยากจนของมุสลิม โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผลการวิจัยชี้ชัดว่าภาครัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชนในพื้นที่นี้น้อยกว่าพื้นที่อื่นในประเทศไทย และที่เพิ่งส่งมอบงานไปก็คือโครงการผลิตแบบเรียนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาแบบบูรณาการอิสลาม เนื้อหาการสอนในแบบเรียนนี้จะไม่ขัดต่อหลักคำสอนของอิสลาม แต่เดิมผู้ปกครองและเด็กค่อนข้างรู้สึกอึดอัดกับเนื้อหาในแบบเรียนที่ใช้ร่วมกันกับสังคมใหญ่ เพราะบางเนื้อหาขัดกับหลักศาสนาซึ่งพวกเขาไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ ตัวอย่างเช่น วิธีคิดและการสอนเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาที่สอนว่าหากมีเพศสัมพันธ์สามารถทำได้แต่ต้องรู้จักป้องกัน แต่สำหรับมุสลิมห้ามมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่สามีภรรยาของตนเองหรือเรื่องการชะล้างทำความสะอาดร่างกายสิ่งของ และอาหารก็เช่นกันหลักของอิสลามมีความละเอียดอ่อน มีหลายอย่างที่เป็นข้อห้าม และมีการปฏิบัติในเรื่องนี้แตกต่างกัน แบบเรียนที่ สสม.จัดทำขึ้นเนื้อหาจะสอด คล้องกับวัฒนธรรมของอิสลามไม่ขัดกับคำสอนของศาสนา จะเป็นผลดีต่อเด็ก เพราะเด็กซึ่งเป็นผู้เรียนจะหมดความกังวลใจ เด็กก็จะเรียนด้วยความสบายใจ”
อย่างไรก็ตาม แม้การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ สสม.จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง ทุกคน แต่ปัญหาเรื่องของการจัดสรรงบประมาณเพื่อเกื้อหนุนองค์กรให้สอดคล้องกับการเติบโตที่รวดเร็วยังคงเป็นเรื่องหนักใจของคนทำงานอยู่เช่นกัน รศ.ดร.อิศรา กล่าวแบบเปิดใจว่า
“เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการทำงานจาก สสส. ตั้งแต่เฟสแรกและในเฟส 2 สสส.เห็นความสำเร็จของเราจึงเพิ่มงบประมาณให้ ซึ่งทำให้เราทำงานสะดวกขึ้น ส่วนในเฟสต่อๆ มาถ้าให้พูดตามตรงก็ค่อนข้างลำบาก เพราะสสม.โตเร็วมากโตขึ้นทุกวัน ภาระงานของสสม.มีมากขึ้น แต่เราพยายามใช้คนทำงานเท่าเดิมและบริหารคนให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น พวกเราค่อนข้างจะกังวลใจว่าในปีต่อไปหรือในอนาคตผู้ใหญ่จะเห็นถึงความจำเป็นเหล่านี้หรือไม่ วันนี้เรายังคงทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ สสส. และสังคมยอมรับเราจะเห็นได้ว่าผลงานของเราเป็นที่ยอมรับตลอด 9 ปีที่ผ่านมา จากเดิมไม่มีใครรู้จักแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ไม่มีใครรู้จักมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย แต่วันนี้เราเป็นที่รู้จักแล้วและเราได้ผลักดันสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากมาย”
ท้ายสุดนี้ ต้องขอเอาใจช่วยสสม.ให้อยู่เคียงข้างกับพี่น้องมุสลิมตลอดไปเพราะเชื่อมั่นว่าก้าวต่อไปที่มั่นคงของสสม.จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับสังคมมุสลิมอีกมาก แม้ในวันนี้ สสม.จะมีฐานะทางกฎหมายเป็นมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทยแล้วก็ตาม แต่ สสม.ยังต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพื่อจะได้ทำงานพัฒนาสังคมมุสลิมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกายจิตใจ การศึกษา และเศรษฐกิจชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ