สังคมไทยควรใช้เทคโนโลยีสู้ข่าวลวงต้านเกลียดชัง?
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพโดย สสส.
ในเวทีที่ 2 เป็นการเสวนาเรื่อง "สังคมควรใช้เทคโนโลยีสู้กับข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดยุคดิจิทัลอย่างไร" มีตัวแทนสื่อมวลชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน องค์กร Centre for Humanitarian Dialogue (hd) สถาบัน Change Fusion ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum #2 เรื่อง "แพลทฟอร์มสื่อดิจิทัลกับการรับมือข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดในโลกออนไลน์"
สุชัย เจริญมุขยนันท มูลนิธิสื่อสร้างสุข ทีวีชุมชนอุบลราชธานี ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลในสังคมออนไลน์ คือข้อมูลที่มีความเสี่ยงจะเป็นเรื่องหลอกลวงได้ง่าย เพราะธรรมชาติของมนุษย์จะไม่โพสต์หรือแสดงความเห็นทุกอย่างจริง ๆ ลงไป และเทคโนโลยีทำให้การตัดต่อเป็นเรื่องง่ายมาก จึงเชื่อได้ยาก ตรวจสอบยาก คนต่างจังหวัด ก็มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะคิดว่ารัฐบาลจะต้องดูแล ไม่ปล่อยให้เกิดข่าวลวงขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้น จึงเห็นความจำเป็นต้องมีหน่วยงานตรวจสอบข่าวลวงดังกล่าว
เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น จังหวัดภูเก็ต เห็นสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่า คนปัจจุบันมีความเสี่ยงจะเชื่อข่าวสารข้อมูลที่ถูกแชร์กันได้ง่ายโดยขาดการตรวจสอบอย่างรอบด้านและไม่รัดกุมเพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพและความงาม ดังนั้นสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญที่จะกระจายข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนรับรู้ สำหรับต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ก็มีบทบาทสำคัญในชุมชน ดังนั้นหากได้ฝึกทักษะการสื่อสารและการใช้สื่อได้ก็น่าจะช่วยส่งข่าวสารให้คนทั่วไปได้ทั่วถึง
สถาพร อารักษ์วทนะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากว่า มีคนถูกหลอกลวงจากข่าวลวง เกือบ 45% เป็นข่าวสารด้านสุขภาพ แต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากการซื้อยาลดความอ้วนออนไลน์มากิน มีการขายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานและผิดกฎหมายอย.จำนวนมาก จนถึงปัจจุบันนี้โดยหน่วยงานรัฐยังไม่ได้เข้าไปจัดการนอกจากสื่อออนไลน์ ก็ปรากฏในสื่อกระแสหลักเป็นข้อความโฆษณาแฝงด้วย เนื้อหามีทั้งการเชื่อมโยงแบบผิด ๆ การให้ข้อมูลปลอมบางส่วน หรือปลอมทั้งหมดเพื่อหลอกขายของไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก่อนลำดับแรก ๆ คือกองบก.สื่อออนไลน์ควรต้องมีเครื่องมือ หรือสร้างมาตรการจัดการข่าวลวงได้ทันที ไม่ต้องรอภาครัฐสั่งการ เมื่อพบแล้วต้องไม่ให้ปรากฏบนออนไลน์หรือในแพลทฟอร์มของตนเองอีกจึงจะได้ผล
วิชาญ อุ่นอก สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เห็นว่า ประเด็นที่เป็นข่าวลวง ถูกบิดเบือนมากในสื่อต่างจังหวัดคือข่าวสารในกลุ่มสุขภาพ การเมือง (คนเลือกจะเชื่อในข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อตัวเอง) และศาสนา ปัญหาสำคัญขณะนี้คือไม่มีแหล่งจะตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสารที่ได้รับ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ดังนั้นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยจัดการข่าวลวงคือต้องมีปฏิบัติการทำจริงในพื้นที่ สร้างเครือข่ายในสังคมในต่างจังหวัด เพื่อเฝ้าระวัง และควรเชื่อมโยงไปถึงสถาบันการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถม ควรต้องมีหลักสูตรเพื่อสร้างการเท่าทันในมิติต่าง ๆ
วงเสวนาเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเพื่อจัดการข่าวลวง ข่าวปลอม ด้านมืดของสื่อออนไลน์ ซึ่งเจ้าของแพลทฟอล์มเหล่านี้ยังไม่มีการกำกับที่เข้มงวดจริงจังเหมือนในต่างประเทศ จึงเห็นความสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดกลไกดังกล่าว อีกทั้งจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เท่าทันและช่วยกันเฝ้าระวัง
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในองค์กรร่วมจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า ปัญหาสื่อปัจจุบันคือการจัดการกับ "ข่าวลวง" กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง หลังจากที่ สสส.ได้มีความร่วมมือกับ 8 องค์กรสื่อ วิชาการและภาคสังคม เพื่อหาวิธีรับมือ และยังได้จัดเสวนาเพื่อเรียนรู้จากกรณีศึกษาของต่างประเทศอาทิไต้หวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบกลไกและเครื่องมือที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย