สังคมสูงวัย 4.0 นวัตกรรมหนุนคุณภาพชีวิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ความท้าทายของประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ และอนาคตอันไม่ไกลคืออัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในวัย 'ผู้สูงอายุ' สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงความจำเป็นที่ผู้สูงอายุจะต้องเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และภาคีเครือข่ายจัดเวทีเสวนาสาธารณะ "สังคมสูงวัย : ก้าวไปด้วยกัน" ครั้งที่ 2 : สังคมสูงวัยกับโลกดิจิทัล" เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2561 เชิญ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี เป็นองค์ปาฐก ในหัวข้อ "สังคมสูงวัยกับโลกดิจิทัล" เพื่อเตรียมพร้อมสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ เพิ่มทักษะให้ "ผู้สูงวัย" เข้าใจ เท่าทันโลกยุคดิจิตอล ใช้เทคโนโลยีเป็นและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ตกเป็นเหยื่อโดนหลอก ละเมิดสิทธิ
การเสวนาครั้งนี้ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิประทีป นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ดร.ณัฐพล นิมมารพัชรินทร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางกาญจนา พันธุเตชะ บล็อกเกอร์ด้านการท่องเที่ยว "Hipsterpaew" และ นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรและรายการโทรทัศน์ ร่วมเสวนาด้วย
การเสวนาเริ่มที่องค์ปาฐก ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ ให้มุมมองว่า ผู้สูงวัยในสังคมสมัยใหม่หรือโลกดิจิตอลจะตกอยู่ในสังคมทอดทิ้งกัน ทุกคนมีความเครียดสูง เครื่องจักรจะทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ขาดความเป็นชุมชน แต่ข้อดีคือ จะทำให้คนสนใจการเจริญสติมากขึ้น
สำหรับทางออกของปัญหาผู้สูงอายุในอนาคต ชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็ง มีความคิดริเริ่มนำนวัตกรรมมาใช้ให้สามารถดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดได้ และจะต้องพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มีความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital literacy) คือการมีทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการสื่อสาร การทำงาน และการอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมที่มีเครือข่ายคล้ายสมอง มีชีวิตและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นสังคมอุดมปัญญา ที่สำคัญคือต้องก้าวไปด้วยกันด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ที่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 มีผู้สูงอายุประมาณ 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรไทย ซึ่งคาดว่าไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า
และในปี 2562 เป็นครั้งแรกที่ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็ก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยนี้ เป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
"สังคมไทยเป็นสังคมดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่เสนอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4.2 ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตหรือโซเชี่ยลมีเดีย ผู้สูงอายุไทยในอนาคตจึงต้องรู้เท่าทัน ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต โซเชี่ยลมีเดีย และสมาร์ตโฟน รับรู้ข้อมูลข่าวสาร โปรแกรมการดูแลสุขภาพต่างๆ ทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ตกเป็นผู้เสียหาย โดนหลอกจากข่าวสารปลอม ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ การฉ้อโกงทรัพย์สิน โดยการเสวนาครั้งนี้นำเสนอตัวอย่างการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจ้างงานผู้สูงอายุ การรู้เท่าทันสื่อยุคใหม่ การเสริมสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุผ่านการรวมกลุ่มหรือกิจกรรมที่เหมาะสม" ผอ.ภรณีกล่าว
รศ.ดร.วิพรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยในอัตราที่เร็วมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งอีกประเด็นที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเหล่านี้กลายเป็นผู้สูงอายุ 4.0 ที่มีคุณภาพ นวัตกรรม เทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาต้องสอดคล้องกับบริบทและแนวโน้มของผู้สูงอายุได้ และต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น
ภายในงานมีการมอบรางวัลโครงการประกวด "นวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ" ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มุ่งเน้นให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ หรือรูปแบบที่หลากหลายในการดูแลส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรงหรือกลับดีขึ้นมาได้ โดยเล่าผ่านคลิปวิดีโอ "ไอเดียสุดเจ๋ง ที่ทำให้ผู้สูงอายุยิ้มได้" แบ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง และนวัตกรรมเพื่อป้องกันผู้สูงอายุที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือสร้างเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุ ซึ่งผลงานชนะเลิศได้แก่ ผลงานเรื่อง ล้อเลื่อนเคลื่อนชีวิต โดย น.ส.อัจฉรา เอียดหวัง นักศึกษากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งจะต่อยอดนวัตกรรมที่น่าสนใจเหล่านี้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อป พัฒนาศักยภาพการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และการใช้แอพพลิเคชั่นที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย