“สังคมผู้สูงอายุ”…อนาคตของเมืองไทย
หนุนวางแผนประกันรายได้ เพื่อชีวิตที่ดียามชรา
ว่ากันว่า…ถ้าเดินไปบนถนนแล้วเจอ 10 คนใน 100 คนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป…หรือเจอคน 7 คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือ…เอาคนมายืนเป็นแถวกันตั้งแต่ 1 – 100 แล้วคนที่ 50 มีอายุเกิน 30 ปี…จะเรียกได้ว่าสังคมนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ…
หลายหน่วยงานพยากรณ์ไว้ว่า สังคมไทยวันนี้กำลังเดินเข้าสู่ความเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” โดยจำนวนประชากรสูงอายุจะมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ.2563 จะมีผู้สูงอายุเกือบ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 ของคนวัยทำงานหรือโดยภาพรวมระดับประเทศ ทุกๆ ครอบครัว ที่มีคนวัยทำงาน 3 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน
แต่ขณะจำนวนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้น คนวัยทำงานที่จะมาดูแลค้ำจุนผู้สูงอายุก็กำลังลดจำนวนลง เพราะครอบครัวคนไทยนับวันจะเล็กลง เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง มีการคุมกำเนิดมากขึ้นคนมีลูกน้อยลง ประกอบกับแนวโน้มหญิงที่ไม่แต่งงานมีมากถึง 33% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผู้สูงอายุในอนาคตจึงจำเป็นต้อง “พึ่งตนเอง” ในทุกด้าน
สังคมไทยควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรับสถานการณ์เช่นนี้…
อาจารย์วรรณ ชาญด้วยวิทย์ จากทีดีอาร์ไอ ได้สรุปการณ์เรื่องหลักประกันด้านรายได้สำหรับคนสูงอายุเอาไว้ว่าในปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยมีประชากรวัยทำงานประมาณ 44 ล้านคน มีเพียง 12 ล้านคนหรือไม่ถึงร้อยละ 30 ที่มีหลักประกันด้านรายได้เมื่อเกษียณอายุในระบบที่รัฐดูแลจัดให้ ผู้ที่ไม่มีหลักประกันรายได้ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านผู้ทำธุรกิจส่วนตัว อาชีพอิสระทั่วไป ค้าขายแรงงานภาคเกษตร
เมื่ออยู่ในวัยทำงานคนเหล่านี้มีความผันผวนของรายได้สูง คือ บางส่วนมีมากบางช่วงรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นผู้สูงอายุยากจน คือ ผู้ที่มีการศึกษาน้อย
แม้ว่ามาตรา 53 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยระบุว่า “บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรีและความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ” แต่ในความเป็นจริง รัฐก็ยังไม่สามารถดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุยากจนได้อย่างมีคุณภาพเท่าที่ควร
ระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบันจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุเกือบ 1.8 ล้านคน แต่การจัดสรรกลับขาดความเท่าเที่ยมกันในแต่ละจังหวัด เช่น ผู้สูงอายุในจังหวัดสงขลาได้รับเบี้ยยังชีพมีเพียงร้อยละ 10 จังหวัดนนทบุรีร้อยละ 11 จังหวัดบุรีรัมย์ร้อยละ 58 ขณะที่จังหวัดอำนาจเจริญมีผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพร้อยละ 78
แม้ว่าโดยภาพรวมคนในจังหวัดสงขลาจะร่ำรวยกว่าคนในจังหวัดอำนาจเจริญ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีอะไรรับรองได้ว่าคนแก่และจนในจังหวัดสงขลา จะมีโอกาสในการได้รับเบี้ยยังชีพดีกว่าคนแก่แต่ไม่จนในจังหวัดอำนาจเจริญ
การจัดสรรเงินระหว่างจังหวัดที่ไม่ทัดเทียมกันทำให้ผู้สูงอายุที่ยากจนในจังหวัดหนึ่งต้องเสียโอกาสให้แก่ผู้สูงอายุที่ฐานะดีกว่า แต่อยู่อีกจังหวัดหนึ่ง
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องมาฉุกคิด…ทำอย่างไรจะสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันให้คนไทยในด้านหลักประกันรายได้ยามแก่ชรา เพื่อให้ผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นจนเป็นคนหมู่มากในสังคมภายในสิบกว่าปีข้างหน้า มีคุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไทยที่จะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” ไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update 10-03-52