สอนและฝึกทักษะเพื่อให้เด็กปลอดภัยจากการจมน้ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
อุบัติเหตุจากการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กเล็ก ยังคงเป็นข่าวให้เห็นอยู่เสมอๆ ในสื่อมวลชน นั่นหมายถึงว่า ภัยจากน้ำซึ่งมีอยู่ทั่วไปในดินแดนราบลุ่มยังคงเป็นภัยที่น่าจับตามองของผู้ใหญ่ ในการที่จะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่ยังมีอยู่อีกมากมาย ซึ่งไม่สามารถว่ายน้ำเป็น
นางสาวชฎาพร สุขสิริวรรณ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อ สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก เปิดเผยให้ทราบว่า จากรายงานของศูนย์ฯ พบว่า เด็กวัยเรียนระดับประถมอายุ 5-9 ปี มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 12.6 คน ต่อ 100,000 คน การเสียชีวิต ช่วง 11 ปี ตั้งแต่ 2546-2556 ได้ ลดลงจาก 646 คน ในปี 2545 เหลือ 533 คน ในปี 2556 หรือลดลงเพียง 12% เห็นได้ว่าแนวโน้มการเสียชีวิตลดลงอย่างเชื่องช้า สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากความไม่รู้ต่อความเสี่ยงของแหล่งน้ำ และไม่มีทักษะช่วยตนเองและผู้อื่นเมื่อตกน้ำ
ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้เกิดโครงการสอนและฝึกทักษะชีวิต เพื่อให้เด็กๆ รอดปลอดภัยจากการจมน้ำ ขึ้นในหลายๆ โรงเรียน โดยได้รับทุนสนับสนุนภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดีและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดังเช่นโรงเรียนบ้านแก่งหว้าแก่งไฮ ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กกลุ่มนี้ได้เร็วที่สุด โดยเน้นย้ำให้เด็กได้เรียนรู้ "ทักษะชีวิต" 5 ประการ คือ ต้องรู้จักสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ, ฝึกและสามารถลอยตัวในน้ำได้นานอย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอการช่วยเหลือ, ฝึกให้สามารถเคลื่อนตัวในน้ำ เพื่อเข้าเกาะขอบฝั่งได้อย่างน้อย 15 เมตร, ฝึกให้ช่วยเหลือคนตกน้ำด้วยการ "ตะโกน-โยน-ยื่น" รวมทั้งรู้จักเตรียมอุปกรณ์พร้อมในการช่วยเหลือ และฝึกให้รู้ความสำคัญของชูชีพ สร้างนิสัยใส่ชูชีพก่อนทุกครั้งเมื่อมีกิจกรรมหรือเดินทางทางน้ำ
นายสุวัฒน์ สายยืด ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก่งหว้าแก่งไฮ เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนให้ความสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุ และปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน จึงขอรับการสนับสนุนการฝึกทักษะความปลอดภัยทางน้ำสำหรับเด็กเล็ก จาก รพ.รามาธิบดี โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าร่วมโครงการ "ว่ายน้ำเพื่อชีวิต" ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับชั้น ป.4-5 แม้ว่าทางโรงเรียนไม่มีสระว่ายน้ำ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าของแพแก่งไฮในการนำเด็กไปฝึกที่อ่างเก็บน้ำ โดยช่วงแรกต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และสร้างความมั่นใจว่ามีการเรียนการสอนและฝึกซ้อมอย่างปลอดภัย โดยเจ้าของแพมาช่วยดูแลอย่าง ใกล้ชิด มีเสื้อชูชีพพร้อมอุปกรณ์ให้เด็กทุกคน นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมนอกสถานที่ พาเด็กไปยังที่ต่างๆ ทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สระว่ายน้ำของเอกชนในอำเภอ รวมถึงสวนสยามที่กรุงเทพฯ ด้วย เพื่อให้เรียนรู้ว่าสถานที่แบบไหนมีโอกาสเกิดอันตรายอย่างไรได้บ้าง ต้องระวังเรื่องอะไร สอนอย่างมีเหตุผล และให้มีประสบการณ์ตรง ส่วนในโรงเรียนตรงไหนที่เป็นจุดเสี่ยงก็ติดป้ายเตือนไว้ ครูให้ความรู้สอดแทรกในวิชาต่างๆ และมีระบบเฝ้าระวัง ให้ครูเวรคอยตรวจตราดูแล เราทำอย่างเต็มที่เท่าที่มีศักยภาพ อยากให้เด็กมีทักษะในการดูแลตัวเอง
นางสาวจีรวรรณ์ ปันผา ครูผู้สอนและฝึกทักษะชีวิต ให้รายละเอียดว่า โครงการนี้สอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติราว 3 เดือน โดยมีครูประจำชั้นกับครูพี่เลี้ยงร่วมด้วย ครู 1 คน ดูแลเด็ก 4 คน สำหรับเด็กที่มีพัฒนาการช้าก็จะมีวิทยากรภายนอกกับผู้ปกครองและผู้นำชุมชนมาช่วย เริ่มจากให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ สิ่งแวดล้อม จุดเสี่ยง และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ มีการสาธิตและแสดงบทบาทสมมุติ โดยครูสอนอย่างใกล้ชิดด้วยความเข้าใจในทัศนคติและธรรมชาติของเด็กทุกคน ให้เด็กได้สะท้อนความคิดความรู้สึก เพื่อหาเทคนิคที่จะช่วยให้สนุกกับการเรียนรู้ และไม่ตื่นกลัวการลงน้ำ
นับได้ว่า รร.บ้านแก่งหว้าแก่งไฮ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าชื่นชมในความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย แม้จะไม่มีสระว่ายน้ำในโรงเรียน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างทักษะความปลอดภัยทางน้ำให้เป็นภูมิคุ้มกันลูกหลานให้รอดชีวิตจากการจมน้ำและสามารถช่วยผู้อื่นได้ ขอเพียงขอให้มีผู้ใหญ่ที่มองเห็นและ มีจิตสำนึกถึงในความห่วงใยที่จะดูแลเด็กๆ เท่านั้น ทุกอย่างย่อมก้าวไปพบกับความสำเร็จแน่นอน