สอนเพศศึกษาให้เด็กชาติพันธุ์

       โรงเรียนบ้านร่องส้าน จ.พะเยา เป็นโรงเรียนนำร่องพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีกิจกรรม YC หรือ youth counsellor เพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งยังสอนเพศศึกษาในวิชาสุขศึกษา รวมถึงสอดแทรกในวิชาอื่นๆ อีกด้วย


/data/content/25706/cms/e_cdfgjmntu135.jpg


       พิชิต เตชะนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านร่องส้าน ผู้เห็นความสำคัญของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ต้องบูรณาการแบบองค์รวม เล่าถึงงานสอนเพศศึกษาในโรงเรียนว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากที่เขาเห็นว่าเพศศึกษามีอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนอยู่แล้ว แต่วิธีการสอนยังไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงเข้ารับการอบรมทำความเข้าใจเรื่องเพศศึกษารอบด้าน


      “ก็ได้วิธีการสอน ได้หลักสูตรมา อีกอย่างคือในชุมชนของเรามีหลายเผ่าพันธุ์ มีชุมชนม้ง มีคนอีสาน คนพื้นเมืองก็มาจากหลายจังหวัด คนม้งก็มาจากหลายที่ เลยหลากหลาย” พิชิต กล่าวและว่า ประเพณีของชุมชนม้งแตกต่างจากคนเมืองกับคนอีสานโดยสิ้นเชิง โดยชุมชนม้งค่อนข้างจะเปิดเผย เช่น หากหนุ่มสาวชอบพอกันก็อาจอยู่ด้วยกันก่อนได้


      อย่างไรก็ตาม พิชิต บอกว่า การสอนเพศศึกษาของโรงเรียนบ้านร่องส้านสอนตามหลักสูตรของโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ ที่ใช้เป็นหลักสูตรกลาง สอนให้กับเด็กนักเรียนทุกคน


     “ก็พยายามเอาเรื่องเพศเข้ามาสอนถึงผลดีผลเสีย ซึ่งเด็กเขาจะคิดได้มากขึ้น เพราะเขาจะไปเห็นประสบการณ์ตรงที่บ้าน ส่วนโรงเรียนจะประคับประคองให้เด็กข้ามปัญหาไปให้ได้”


  /data/content/25706/cms/e_agijlmnovwz1.jpg    พิชิต บอกว่า จุดประสงค์ของโรงเรียนคือต้องการให้เด็กเรียน โดยจะไม่คุยเรื่องประเพณี ซึ่งประเพณีก็คือประเพณีเขา แต่จะไม่ก้าวไปถึงตรงนั้นว่าประเพณีคุณไม่ดีนะ อย่างนี้ไม่ดี ทำอย่างนี้ผิด


      “ประเพณีมีมานานแล้ว เขาก็รู้ ซึ่งเราก็อยากให้เขาเรียนต่อ คือ เราพยายามฉุกคิดให้เด็กคิดถึงอย่างอื่น คิดถึงตัวอย่าง ประสบการณ์ พอบางทีเด็กเห็นว่าไม่ใช่นะ เขาก็จะปฏิเสธกันเอง”


      ผู้อำนวยการโรงเรียน ยังบอกอีกว่า เขามีแนวคิดขยายการสร้างความเข้าใจเรื่องเพศศึกษารอบด้านให้กับผู้ปกครอง โดยอย่างที่เขาเป็นครู ก็เพิ่งได้รู้ข้อมูลบางเรื่อง ส่วนผู้ปกครองที่ไม่รู้อะไรเลย ยิ่งปิดโอกาสไปเลย ยิ่งจะไม่รู้เลยว่า ถ้าลูกมีปัญหาจะไปสอนลูกอย่างไร แนะนำอย่างไร


      “พมจ. (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) จะมีงบประมาณให้จัดอบรม เลยเสนอไปว่ากลุ่มเด็กประมาณ ๕๐ คนและจะเอาพ่อแม่ไปด้วย เลยประสาน อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ขอที่จัดอบรม ก็ไม่มีปัญหา คือเราอยากให้ อบต.มีส่วนร่วม เพราะโรงเรียนฝ่ายเดียวยังแคบเกินไป ถ้าชุมชนด้วย อบต. หลายฝ่ายจะกว้างขึ้น และหลากหลาย”


     ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า การอบรมก็ตั้งใจว่าจะให้ผู้ปกครองได้รับรู้และสามารถช่วยแก้ปัญหาเยาวชนได้ในระดับหนึ่ง เพราะว่าจริงๆ เด็กอยู่กับผู้ปกครองค่อนข้างมาก ขณะที่อยู่กับครูไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งผู้ปกครองตัดสินใจปัญหาเด็กได้มากกว่าครู ซึ่งการสอนเพศศึกษาก็เพื่อต้องการให้เด็กดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้นและขยายผลไปถึงครอบครัว ชุมชน  


      อย่างไรก็ตาม โรงเรียนบ้านร่องส้าน ยังเป็นโรงเรียนนำร่องในการพัฒนาระบบดูแลนักเรียน มีกิจกรรมย่อย คือ YC – youth counsellorหรือแกนนำเยาวชนเพื่อนช่วยเพื่อน ที่สามารถให้คำปรึกษากับเพื่อนได้  


       “วิธีการคือให้เพื่อนไปคุย ไปพูด ว่ามีปัญหาอะไร เพราะครู เด็กก็ยังไม่อยากคุยโดยตรง ต้องเอาเพื่อนเป็นสื่ออีกที แล้วก็มาบอกครูแนะแนว แล้วครูทุกคนเป็นครูแนะแนว จะสามารถช่วยกันได้ ซึ่งระบบแนะแนวก็จะช่วยแบบนี้ คือจะให้เด็กรู้จักตัวเอง เพราะมันคลุมหมด ทั้งการเรียนการสอน พฤติกรรมเสี่ยง เรื่องเพศ ยา ลักขโมย” พิชิต กล่าวและว่า ที่โรงเรียนได้ไปนำเสนองานในเรื่องระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)    


        นอกจากนี้ โรงเรียนยังมีเครือข่ายผู้ปกครองแนะแนวอยู่ด้วย โดยวางเอาไว้ประจำหมู่บ้าน คือถ้าเขาเห็นนักเรียนหนีเรียน หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงก็จะโทรศัพท์มาแจ้งที่โรงเรียน หรือหากเป็นพฤติกรรมอื่นๆ ที่ร้ายแรง หรือเสี่ยงมากๆ ทางโรงเรียนก็จะเชิญผู้ใหญ่บ้านมาร่วมรับรู้ด้วย


     จากการสอนเพศศึกษามาเป็นเวลา ๑ ปีนี่เอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า สิ่งที่เขาเห็นผลที่เกิดขึ้น คือ เด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น คืออย่างน้อยช่วยเด็กได้คนหนึ่งก็ดีแล้ว เพราะบางทีเด็กอาจจะไม่พร้อม เช่น ไม่มีพ่อแม่ อาจอยู่กับปู่ย่า


      “ถ้าเขาสมบูรณ์ เขาคงไม่เลือกอย่างนี้ ก็พยายามช่วยเขา ไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว สภาพจิตใจ สภาพครอบครัว ถ้าเขาสมบูรณ์ เขาไม่ใฝ่หาอย่างอื่นหรอก ยกเว้นเขาจะไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะมีปัญหา โรงเรียนก็พยายามจะทำ”


      พิชิต บอกด้วยว่า ระบบดูแลนักเรียนจะเป็นระบบใหญ่ เพราะว่าเป็นโรงเรียนนำร่อง เขาจะจัดกระบวนการให้เป็นระบบมากขึ้น ที่จะสามารถดูแลเด็กทุกคน ตั้งแต่อนุบาล ๑ – ม.๓ อย่างทั่วถึง รวมถึงมีกิจกรรมประชุมผู้ปกครอง เครือข่าย การออกเยี่ยมบ้าน โดยที่ถ้าครูออกเยี่ยมบ้านนักเรียนได้ทั้งหมดเขาจะรู้ความเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร อยู่กับใคร รู้ถึงคุณภาพชีวิต ซึ่งจะพ้องกับพฤติกรรมที่โรงเรียน


     “นอกจากนี้ที่โรงเรียนกำลังเริ่มทำ กิจกรรมโฮมรูม เพราะอยากให้ครูใกล้ชิดเด็กมากขึ้น โดยครูจะถามเด็ก ไม่ได้แค่ดูเล็บ เรื่องเสื้อผ้า ทำไมมอมแมม ทำไมไม่มาโรงเรียน แต่ถามถึงพฤติกรรมและให้เด็กคิดวิเคราะห์ด้วย เช่น ดูภาพแล้วคิดถึงอะไร เป็นต้น” 


      พิชิต บอกถึงความคาดหวังของเขาว่า เขาต้องการให้โรงเรียนที่สนใจผลักดันการสอนเพศศึกษา ร่วมเป็นเครือข่าย จะได้ขยายผลออกไปอีก


      “เราก็ไม่ได้หวงอะไร สิ่งไหนดีก็จะพยายามกระจายเป็นเครือข่าย คือ ผนวกทุกเรื่องเข้าไปในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน” พิชิต สรุป   


 


 


      ที่มา: path2health foundation 

Shares:
QR Code :
QR Code