สอนสามเณร ‘รู้ทันสื่อ’

ที่มา : เว็บไซต์ cclickthailand.com


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ cclickthailand.com


สอนสามเณร 'รู้ทันสื่อ' thaihealth


ใช้หลักพุทธสร้างทักษะ 'สามเณร' เท่าทันโลกออนไลน์นอกจากเรื่องดีของสื่อใหม่ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายและรวดเร็วแล้ว อีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าสื่อเหล่านี้ต่างส่งผลต่อวิธีคิด ค่านิยม และอาจเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อการดำเนิน หากชีวิตหากรู้ไม่เท่าทัน


หนังสือ "รู้เท่าทันสื่อ ICT" ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ระบุตอนหนึ่งว่า "ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ" มีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ นั่นเพราะทักษะที่ว่านี้หมายถึงความสามารถในการเข้าใจเนื้อหาที่สื่อเสนอ รู้จักแสวงหาข้อมูลหลายแหล่ง วิเคราะห์ วิจารณ์ แยกแยะ คัดกรอง และสามารถใช้ประโยชน์ในแบบฉบับของตนเองได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่คลุกคลีอยู่กับมัน เติบโตใน โลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร เด็กและเยาวชนกลุ่มที่ว่าครอบคลุมถึงกลุ่มสามเณรในโรงเรียนปริยัติธรรม ซึ่งมีโอกาสเรียนรู้ทางโลก และทางธรรมในหลักสูตรการเรียนไปพร้อมๆ กัน


ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งทำวิจัยเรื่อง"ค่านิยมและพฤติกรรมต้นแบบการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามแนวพุทธจิตวิทยาของสามเณร" ซึ่งสำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อของกลุ่มสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญกว่า 14 โรงเรียนในภาคเหนือ กล่าวว่า แม้จะเป็นสามเณร แต่เยาวชนกลุ่มนี้ยังมีพฤติกรรมการใช้สื่อไม่ต่าง จากเยาวชนอื่นๆ ประสบปัญหาคล้ายๆกัน อาทิ ใช้เวลากับโซเชี่ยลมีเดียมากไป ไม่สามารถแบ่งเวลาให้กับการเรียนได้สมดุล บางรายมีปัญหาเรื่องการคัดเลือกเนื้อหา


"ถึงจะเป็นสามเณร แต่เขายังเป็นเด็ก เป็นเยาวชนที่ยังไม่มีทักษะการใช้สื่อเท่าใดนัก สามเณรบางรูปยอมรับว่า เล่นเกมออนไลน์หลังเลิกเรียนจนดึกดื่น หรือบางรูปใช้เวลาเสพเนื้อหาที่มีลักษณะรุนแรง ลามกอนาจารจากคลิปวีดิโอ หรือในโซเชียลที่ส่งๆ ต่อกันมาในโทรศัพท์" เมื่อปัจจัยเสี่ยงมาพร้อมกับ คุณประโยชน์ของสื่อใหม่ โครงการนี้จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่การ ลด ละ เลิก การเสพสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย แต่มีเป้าหมายเพื่อให้สามเณร "เท่าทัน" การใช้สื่อ และเทคโนโลยี สามารถเลือก และใช้ประโยชน์ ด้านดีได้อย่างเหมาะสม


ไม่ว่าจะเป็นในสถานะของการเป็นเยาวชนที่ต้องเรียนรู้ให้ทันกับโลก สมัยใหม่ และในบทบาทของการเป็นสามเณรซึ่งมีสิกขาบถกำกับอยู่ เราแบ่งการวิจัย เป็น 3 ระยะ ได้แก่


1.การวิเคราะห์สำรวจสภาพปัญหา และพฤติกรรมใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสามเณร สร้างทักษะการคิดว่าอะไรคือการใช้สื่อที่เกิดประโยชน์ ข้อมูลชุดไหนจะสร้างความรู้ สร้างการพัฒนาให้กับเราบ้าง และเมื่อเขาได้วิเคราะห์ ตัวเองก็จะพบว่า สามเณรกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ซึ่งมีอายุราว 13-15 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 1-3 ชั่วโมงต่อวัน เขาก็ต้องพิจารณาแล้วว่าการสูญเสียเวลาไปจำนวนเท่านี้ได้ประโยชน์สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตหรือไม่"


2.คือ การฝึกอบรมการรู้ เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยา ซึ่งเราคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนำร่อง ให้สามเณรคิดตามหลักโยนิโสมนสิการ ฝึกให้แยกแยะ คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม มองเห็นคุณ และโทษของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อมีสถานะเป็นสามเณรแล้ว อะไรคือสิ่งที่เหมาะสม อะไรคือเป้าหมาย และความแตกต่างระหว่างการเป็นสามเณรกับเป็นเยาวชน


3. คือการฝึกทำโครงงาน (Project based Learning) ซึ่งเป็นชุดกิจกรรมการฝึกพัฒนาค่านิยม และพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เน้นฝึกทักษะแก้ปัญหา ด้านการคิดสร้างสรรค์ เป็นการเรียนรู้แห่งอนาคตในศตวรรษที่ 21 ที่ใช้สื่อต่อยอดในสิ่งที่ ตัวเองสนใจ


"แรกๆ เขาก็ยังใหม่ แต่เมื่อได้คิดทบทวน และหัดวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย เขาก็เริ่มรู้ว่าตัวเองควรต้องทำอะไร ในเวลาไหน และรู้ว่าจะใช้สื่อ ใช้เทคโนโลยีซึ่งตัวเองข้องเกี่ยวอยู่ในเกิดประโยชน์อย่างไร"ผู้จัดการโครงการอธิบาย


ตลอดกว่า 1 ปีที่สำรวจ ผลวิจัยพบว่า สามเณรสามารถทำโครงงานในหัวข้อที่ตัวเองสนใจได้ดีได้สำรวจปัญหา และพฤติกรรมของตัวเองและชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม และพฤติกรรมต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เหมาะสม ดีกว่าก่อนได้เข้าโครงการอบรม อาทิ มีเหตุผลในการคิดมากขึ้น มีการควบคุมตนเอง มีค่านิยมพฤติกรรม การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยาเพิ่มสูงขึ้น


พร้อมกันนี้ยังมีการนำเสนอผลงานโครงการ Smart Novices ซึ่งเปิดโอกาสให้นำเสนอความคิดในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงนิทรรศการ ซึ่งสามเณรก็ได้ นำเสนอโครงการซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้สื่อ ไม่ว่าจะเป็นโครงงานไม่เหลียวไม่แล ไม่แคร์บุหรี่, โครงงานธนาคารขยะรีไซเคิล, โครงงานการใช้โทรศัพท์ให้ถูกที่ถูกเวลา, โครงงานการปรับภูมิทัศน์ในบริเวณโรงเรียนวัดพระธาตุแช่แห้ง และโครงงานพุทธศิลป์ ซึ่งใช้สังคมออนไลน์เผยแพร่งานศิลปะของตนเอง "ผลจากการฝึกฝนเขาสามารถควบคุมตนเองได้ รู้กาละเทศะใช้โทรศัพท์ให้ถูกที่ ถูกเวลา รู้จักหาความรู้ ที่สามารถหนุนเสริมตัวเองได้ เช่น ถ้าชอบศิลปะก็หาข้อมูลทางศิลปะ ใช้เฟซบุ๊คในการเผยแพร่ผลงาน สร้างชุมชนของ ตัวเองขึ้นมา เริ่มใช้สื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าความสนุกสนานอย่างเดียว"


ถึงจะเป็นสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่เมื่อจบออกไปเขาสามารถเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้นได้ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป หรือไม่ก็ศึกษาต่อในสายอาชีพที่ตัวเองถนัดเพื่อสร้างอาชีพได้ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อในวันนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง "แม้จะเป็นสามเณร แต่เยาวชนกลุ่มนี้ยังมีพฤติกรรมการใช้สื่อไม่ต่างจากเยาวชนอื่นๆ"

Shares:
QR Code :
QR Code