สอนสนุกเข้าถึง ‘จิตใจ’ เด็กครูยุคดิจิทัลต้องใช้เทคโนโลยี

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


สอนสนุกเข้าถึง 'จิตใจ' เด็กครูยุคดิจิทัลต้องใช้เทคโนโลยี thaihealth


"ยูเอ็น" ระบุว่าประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจังหวัดละ 7 หมื่นคน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษายังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำที่เกิดระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท เฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนจำนวนบุคลากรครูของโรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัด


ปัจจุบันประเทศไทยมีคุณครูในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ตอนปลายกว่า 5.4 แสนคน แต่มีนักเรียนมากถึง 11 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้คุณครู 1 คน ต้องสอนเฉลี่ยถึง 10-15 คาบเรียนใน 1 สัปดาห์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณครูในต่างจังหวัดที่มีจำนวนครูน้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจำเป็นจะต้อง สอนในจำนวนคาบเรียนที่มากขึ้นอีกด้วย


Inskru แบ่งปันวิธีการสอน


ด้วยเหตุนี้ สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร จึงร่วม กับ ชลิพา ดุลยากร ก่อตั้ง "Inskru" Online Platform เพื่อคุณครูโดยเฉพาะขึ้นมา โดยเป็น 1 ใน 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกจากกรรมการในโครงการ "ดีแทคพลิกไทย" ได้รับ เงินทุนเบื้องต้น 1 แสนบาทในการพัฒนาออนไลน์แพลตฟอร์ม  "Inskru" มาช่วยเติมเต็มด้านไอเดียต่างๆ เพื่อให้คุณครูไปปรับใช้ในการสอนของตนเอง


โดยไอเดียมาจากผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกัน ทั้งแบ่งปันแผนการสอน สื่อการสอน แบบฝึกหัด และเทคนิคการสอนต่างๆ เปิด มุมมองการสอนและขยายไอเดียดีๆ สู่ห้องเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กไทย กว่า 10 ล้านคน ได้รับการศึกษาที่มี คุณภาพอย่างเท่าเทียม มีฟังก์ชันกรองข้อมูลสามารถแยกตามรายวิชา ระดับชั้น ค้นหาไอเดียง่าย


ปัจจุบันมีคุณครูอยู่ในระบบกว่า 200 คน จากทั่วประเทศ มีคอนเทนท์ของทีมงานและครูมากกว่า 150 คอนเทนท์ พร้อมมียอดการติดตามบนเฟซบุ๊กแฟนเพจกว่า 1.6 หมื่นคน ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือคณิตศาสตร์ เพราะวิชานี้มีผู้มาแชร์เทคนิคการสอนมาก


ขณะที่ พัชริยา ปานสิงห์ หรือครูอีฟ ครูในโครงการ Teach for Thailand รุ่นที่ 4 โรงเรียนพระบางวิทยา จ.นครสวรรค์ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ได้นำไอเดียใน Inskru คือการทำวงจรชีวิตมาเสริมในวิชาของตัวเองไปใช้ในการสอนนักเรียนชั้น ม.ต้น เพื่อให้นักเรียนทราบว่าเรียนไปทำไม นอกจากจะทำให้เด็กๆ สนุกไปด้วยแล้ว คุณครูก็ได้เข้าถึงเด็กๆ ได้มากขึ้นด้วย โดยนำเสนอไอเดียของเด็กๆ เช่น คนดังที่สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เด็กๆ ได้นำไปเป็นแบบอย่าง


สมพร วิชัยประเสริฐ ครูชำนาญการพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบ้านสวนอุดมวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 กล่าวว่า การเรียน การสอนในยุคปัจจุบันครูต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กลงมือปฏิบัติ เรียนรู้จากของจริง ซึ่งครูต้องเป็นคนคิดกิจกรรม แบ่งกลุ่มให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมกันคิดออกแบบทั้งด้านการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์


รวมถึงบูรณาการการเรียนรู้เข้ากับเทคโนโลยี โซเชียลสมัยใหม่ เพราะขณะนี้ มีองค์ความรู้ให้เด็กได้เรียนรู้เยอะมาก ครูต้อง ทำให้ห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่แห่งการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสถานการณ์ให้เด็กได้ทำงาน แก้ปัญหา เชื่อมโยงเข้ากับบทเรียนและการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน


ดังนั้น การที่จะจัดกิจกรรมจำลองสถานการณ์ในชั้นเรียน จัดทำโครงการต่างๆ ให้เด็กเป็นคนคิด ลงมือปฏิบัติ และพร้อมที่จะแข่งขันในการสอบต่างๆ ได้ด้วย


อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เด็กมีศักยภาพ มีองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเองได้นั้น ครูต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จึงอยากให้ครูทุกคนเรียนรู้องค์ความรู้จากบทเรียน ควบคู่ไปกับความรู้ด้านไอซีที และมีความกล้าที่จะไปอบรม เรียนรู้ ครูต้องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงรับสิ่งใหม่ๆ ไม่ยึดติด และรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวครูเอง การจัดการเรียนการสอน และนำองค์ความรู้ถ่ายทอดไปยังเด็ก


ครูกล้าสอนปลุกความเป็นครู


สำหรับครูรุ่นใหม่ยังสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่อยู่ในโซเชียล มีเดียจำนวนมาก เป็นต้นว่าเว็บไซต์ "ครูกล้าสอน" ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้งบสนับสนุนทีม New Spirit สถาบันขวัญแผ่นดิน บริษัท สวนเงินมีมา เพื่อปลุกจิตวิญญาณ ฟื้นพลังของความเป็นครูที่กำลังรู้สึกเหนื่อยหนักกับงานสอน หรือกำลังตั้งคำถามกับคุณค่าความหมายของการเป็นครู เรียนรู้ และทบทวนชีวิตความเป็นครูด้วยการยอมรับตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อาจจะไม่สมบูรณ์พร้อม นำไปสู่การทำให้ครูยอมรับผู้เรียนมากขึ้น รับฟังด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน นำไปสู่การสร้างสรรค์บทเรียนที่สามารถเข้าถึงผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น ที่ครูสามารถเข้าไปเรียนรู้และนำมาใช้ประโยชน์ในการสอนนักเรียนได้


'ก่อการครู' รวมพลังสอน


รวมทั้งเพจ "ก่อการครู" โครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาด้วยชุมชนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเติมไฟให้การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง โดยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาให้แก่ครู ให้ครูอยู่ในพื้นที่นั้นอย่างมีความสุข


อธิษฐาน์ คงทรัพย์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ก่อตั้งขบวนการ "ก่อการครู" เล่าว่า ได้ร่วมกับเพื่อนพ้องที่มีฝีมือด้านการ ศึกษา ภายใต้ "โมดูล 1 ครูคือมนุษย์" ครูที่อยู่ในห้องเรียน ที่อยู่กับเด็ก ช่วยกันก่อการครู ให้พวกเขาสำรวจความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เปิดพื้นที่ ว่าในฐานะที่ครูเป็นมนุษย์คนหนึ่ง กลับมาเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์อันนั้นในตัวเองได้ไหม โดยให้เขากลับมาสำรวจตัวเอง และสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นครูเพิ่มขึ้นได้ โดยมีเพจขบวนการ "ก่อการครู" เป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกัน และเปิดรับสมัครครูรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม


'Teachdent Share' ความตั้งใจของความเป็นครู


เพจเฟซบุ๊ก Teachdent Share  เกิดจากความตั้งใจของ "ความเป็นครู" ที่อยากจะทำประโยชน์เพื่อลูกศิษย์และเพื่อนครูด้วยกันเอง ก่อให้เกิดการรวมตัวของครูและนักเรียน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือแบ่งปันสิ่งดีๆ ออกไปทั่วโลก ผ่านแนวคิดที่ว่า "การแบ่งปันทำให้โลกน่าอยู่" (Passion, Ideas, Inspiration) เพื่อช่วยพัฒนาการศึกษา ของประเทศไทยให้ดีและสนุกยิ่งขึ้น อาทิ สื่อการเรียนการสอน (ฟรี), ห้องสมุดและกองทุนหนังสือ, ห้องนักอยากเขียน, ห้องคลังความรู้ และห้องคำคม มีเทคนิคการสอนต่างๆ มาแบ่งปัน อาทิ สอนโปรแกรมพื้นฐาน สอนใช้เว็บไซต์ และสอนทำสื่อการเรียนการสอน พร้อมคลิปวีดิโอเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ

Shares:
QR Code :
QR Code