สอนลูกผ่านนิทานเปิดโลกทัศน์ของเด็กๆ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
"การอ่าน ทำให้คนเป็นคน โดยสมบูรณ์" เซอร์ ฟรานซิส เบคอน
มหัศจรรย์ของการอ่าน ให้มากกว่าที่คิด คุณพ่อแม่สามารถฝึกลูกให้เป็น นักอ่านได้ทุกเพศทุกวัย เริ่มตั้งแต่ ขวบวัยแรกของชีวิตทีเดียว
"อยากให้ลูกเป็นอย่างไร สอนให้สนุก ได้ผ่านนิทาน" เอ๋-วิภาวี ฉกาจทรงศักดิ์ นักเขียนหนังสือเด็ก ยกหนึ่งตัวอย่างข้อดีของการเล่านิทานให้ฟัง พร้อมเอ่ย ต่อว่าพ่อแม่ บางคนไม่รู้ว่า สอนเรื่อง การแบ่งปัน ในเด็กวัย 2 ขวบ มันทรมานใจเด็กมาก
"พอลูกไม่แบ่ง แล้วไปตำหนิเขา โดยไม่เข้าใจว่ามันเป็นวัยของเขา เขาก็ไม่แฮปปี้ หนังสือสอนพฤติกรรมจึงต้องสนุก แต่ไม่ใช่การสอนแบบตรงไปตรงมา อยากให้ลูกเป็นเด็กดี มันก็จะออกมาเป็นนิทาน เพราะถ้าบอกให้เป็นเด็กดีตรงๆ เลย เด็กก็จะเบื่อ"
นอกจากนี้การที่ได้ให้เด็กออกมา ทำกิจกรรมนอกบ้านบ้างยังช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้จักสังคมได้กว้างขึ้น เพราะการที่เขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้กุมอำนาจเหมือนอยู่ที่บ้าน เพราะการเป็นลูกคนเดียว หลานคนเดียว และเทคโนโลยีที่ไปไหนก็โดนถ่ายรูปตลอดเวลาทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองสำคัญมาก ส่วนหนึ่งมันดี แต่ก็มีส่วนไม่ดี การที่ได้ออกมาข้างนอก แล้วเจอสถานการณ์ ที่ต้องแบ่งโต๊ะ แบ่งสีกับเพื่อน หรือ มาเจอของเพื่อนสวยกว่า จะช่วยให้เด็กรู้จักจัดการกับอารมณ์และความรู้สึก ของตัวเอง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหน ที่ยังไม่รู้ว่าควรจะเริ่มต้นอ่านนิทานกับ ลูกในรูปแบบไหนดี กิจกรรม "ปิดเทอม สร้างสรรค์ ชวนอ่านสร้างสุข" ซึ่ง จัดโดยกลุ่มบ้านนักเขียนหนังสือเด็ก ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานครแห่งที่ 1 (จตุจักร) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 มีนาคม – 30 เมษายน เพื่อเป็นกิจกรรมดีๆ รองรับเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองในช่วงปิดเทอม
โบ-พัดชา ดิษยนันทน์ นักวาดหนังสือเด็ก อีกหนึ่งสมาชิกในกลุ่ม "บ้านนักเขียนหนังสือเด็ก" ที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักเขียนและนักวาดหนังสือเด็กเล่าว่า ในงานจะมีการจัดนิทรรศการบ้านนักเขียนหนังสือเด็ก ซึ่งเป็นการจำลองรูปแบบโต๊ะทำงานของนักเขียนหนังสือเด็ก รวมทั้งเปิดเผยการพัฒนาต้นฉบับที่ดี ก่อนจะเป็นนิทานสนุกๆ ให้เด็กๆ ได้อ่าน และที่สำคัญคือให้เด็กๆ ได้ลงมือวาดการ์ตูน ตัดภาพ ระบายสี และเล่านิทานให้เพื่อนๆ ฟังรวมถึงกิจกรรมทำกรอบรูปสามมิติ ด้วยการวาด การตัด แปะ ให้เด็กๆ รู้ถึงมิติของภาพ ระยะไกล ใกล้ ฉากหลัง ซึ่งเด็กเล็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไปก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ พ่อแม่ก็สามารถช่วยได้ กลายเป็นกิจกรรมในครอบครัวสานสัมพันธ์กัน
"อยากให้เด็กๆ มีความรู้ด้านศิลปะ มีสมาธิกับการทำงานศิลปะ เพราะในนิทาน 1 เล่มประกอบด้วยหลายอย่าง ทั้งความงาม ของภาพ เนื้อเรื่อง การเดินเรื่อง ทุกอย่างมันสอดคล้องกันหมด และการที่เราให้เด็กทำกิจกรรมที่เสริมสร้างสมาธิแบบนั้น มันมีผลต่อการพัฒนาสมอง ทำให้เส้นประสาทแตกแขนงมากขึ้น ทำให้พื้นฐานในการใช้ชีวิต ในอนาคตต่อไป"
กชพรรณ ศุขมา คุณแม่ของน้องดานูบ ด.ช.คีตภัท จรกรรณ วัย 7 ขวบ เล่าว่า หนังสือที่มักจะให้ลูกอ่านคือ ประวัติพระพุทธเจ้าฉบับการ์ตูน เพราะอยากจะให้ลูกค่อยๆ ซึมซับ สิ่งดีๆ อย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายามมากเกินไป โดยสามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่ศีล 5 ซึ่งเป็นศีลขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทีเดียว
"เราอยากให้เขาเห็นว่า พระพุทธเจ้าคือฮีโร่ ที่จะช่วยให้เค้าพ้นทุกข์ได้ เลยหาหนังสือที่ทำให้เค้าค่อยๆ ซึมซับ เรื่องราวของพระองค์ท่านแบบง่ายๆ นั่นก็คือ ประวัติพระพุทธเจ้าฉบับการ์ตูน เพื่อให้เค้าได้รู้ว่า กว่าจะมาเป็นพระพุทธเจ้าท่านทรงผ่านกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย แต่ก็สำเร็จด้วยความเสียสละ ความอดทน รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละต่อส่วนรวม ไม่ได้เอาแต่ประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป เมื่อเค้าอยากเป็นเด็กดีก็จะเชื่อฟังเรามากขึ้น คิดว่าน่าจะส่งผลถึงการประพฤติตัวต่อสังคมได้ดีในอนาคตระยะยาว และถ้าเราคาดหวังว่าสังคมในภาพรวมจะดีได้ อย่างน้อยๆ ก็เริ่มจากตัวเราเอง ครอบครัว เราเอง หรือลูกของเราเองก่อน"
ด้านพัดชาเสริมว่า แท้จริงแล้วกิจกรรมนี้ ผลดีๆ ของมันไม่ได้เกิดกับเด็กเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อผู้ปกครอง อีกด้วย
"บางครั้งแม่ก็ไม่รู้ว่าลูกตัวเองมีศักยภาพแค่ไหน พอเค้าเห็นว่าลูกตัวเอง ระบายสีได้ดี ตัดแปะกระดาษได้ดีตั้งแต่วัย 2 ขวบ หรือ ยังไม่เต็ม 3 ขวบดีก็เล่านิทานได้ เขาจะทึ่งมาก ลูกทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ เดี๋ยวจะซื้ออุปกรณ์ในการวาดรูปไว้ให้เลย นอกจากนี้เรามี โต๊ะนักเขียน มีงานต้นฉบับมาให้ดูด้วย เพื่อให้เด็กๆ และผู้ปกครองรู้ว่า มันสามารถ ขยายต่อเป็นอาชีพได้ เด็กๆ ก็จะขยายความฝันของตัวเองได้ พ่อแม่ยังได้รู้จักศักยภาพของลูกมากขึ้น หัวใจสำคัญคือ อยากให้พัฒนาไปพร้อมกับลูกให้มากที่สุด"