สสส.- ไทยโรดส์ ห่วงใยคนเดินทางกลับบ้านวันหยุดยาว
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส.- ไทยโรดส์ ห่วงใยคนเดินทางกลับบ้านวันหยุดยาว เตือนขับจี้-ปาด เสี่ยงอุบัติเหตุชนท้าย สถิติบนทางหลวงพบชนท้ายตายสูง ชูโมเดลต้นแบบถนนพระราม 2 ทำเครื่องหมายเว้นระยะรถคันหน้า 47 เมตร ผลลัพธ์ดีเกินคาด อุบัติเหตุลดเกินครึ่ง
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีความเป็นห่วงประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาว หนึ่งในพฤติกรรมประมาทที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุคือการขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด และการขับจี้ท้ายรถคันหน้ามากเกินไป เมื่อเบรกกระทันหันคันที่ตามมาจึงไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จากการสำรวจพบว่า อุบัติเหตุชนท้ายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (2555-2560) และเป็นที่น่ากังวลมากขึ้นเมื่อสภาพถนนในช่วงหน้าฝน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ สสส. ซึ่งมีภารกิจในการร่วมลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้เหลือไม่เกิน 10 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2563 ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายศึกษางานวิจัยการลดอุบัติเหตุชนท้ายในประเทศพัฒนาแล้ว และพบว่าการมีเครื่องหมาย Transverse Bar ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้จริง ส่วนมาตรการลดอุบัติเหตุอื่นๆ สสส. ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อจัดเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นประโยชน์ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์หามาตรการเพื่อความปลอดภัยทางถนนต่อไป
นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า ทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) หรือถนนพระรามที่ 2 เป็นหนึ่งในทางหลวงที่เกิดอุบัติเหตุชนท้ายบ่อยครั้ง มูลนิธิไทยโรดส์ สนับสนุนโดย สสส. จึงร่วมมือกับ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการศึกษาหาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างรถที่ขับตามกันเพื่อให้สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องหมายสีขาวบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” บนถนนพระรามที่ 2 กม.23-28 ซึ่งเป็นช่วงระยะทางที่เกิดอุบัติเหตุชนท้ายรุนแรงเป็นประจำ โดยได้รับความร่วมมือจากแขวงทางหลวงสมุทรสาคร ภายหลังจากการติดตั้งเครื่องหมายพบว่า อุบัติเหตุชนท้ายในปี 2555-2560 ลดลงจากเฉลี่ย 10 ครั้ง/ปี เหลือเพียง 3 ครั้ง ในปี 2561 จึงสรุปได้ว่าเครื่องหมายบนพื้นทาง (ถนน) มีผลต่อการควบคุมระยะห่างของรถถึงร้อยละ 99 อย่างไรก็ตาม การทำเครื่องหมายเป็นเพียงมาตรการที่เห็นผลในระยะสั้นเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย
รศ.ดร.อำพล การุณสุนทวงษ์ ผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ก่อนการติดตั้งเครื่องหมาย Transverse Bar บนผิวถนน ทางทีมวิจัยได้วิเคราะห์กระแสการจราจรถนนพระรามที่ 2 จากการเก็บข้อมูล 24 ชม. พบว่าความเร็วรถเฉลี่ยที่พบคือ 97 กม./ชม. จึงคำนวณระยะห่างที่ปลอดภัยได้ 47 เมตร เมื่อหักลบความยาวของรถคันหน้า 5 เมตร ระยะสายตามองเห็น 4.5 เมตร และความกว้างของเครื่องหมาย 0.6 เมตร จึงได้ระยะห่างระหว่างเครื่องหมายแต่ละแถบเป็นระยะ 37 เมตร พร้อมกันนี้ยังติดตั้งป้ายเตือน 2 แบบ คือ 1)ให้เว้นระยะ 50 เมตรจากคันหน้า และ 2)เว้นระยะ 2 แถบจากคันหน้า เพื่อช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้ทราบถึงระยะห่างที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ระยะห่างดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับถนนทุกเส้น เนื่องจากกระแสการจราจรต่างกัน ความเร็วรถเฉลี่ยต่างกัน ขณะที่ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ขับขี่พบว่า ร้อยละ 85 มีความรู้สึกปลอดภัยจากการเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าในระดับมาก-มากที่สุด แต่ความท้าทายยังอยู่ที่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-25 ปี ที่มีสัดส่วนปฏิบัติตามเป็นประจำน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่น