สสส.และภาคีเครือข่าย รณรงค์วันยาต้านจุลชีพโลก
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส.ร่วมกับ สธ. ผนึกกำลัง 22 หน่วยงาน ภาครัฐ-สมาคมและองค์กรวิชาชีพ-ภาคประชาสังคม-องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ปลุกกระแสเชื้อดื้อยาในสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก เผยคนไทยตระหนักรู้ 82% แพทย์จ่ายยาเหมาะสม ลดปัญหาเชื้อดื้อยา
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิส คอนเวนชั่น นนทบุรี โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา และดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย
ร่วมเปิดงานสัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก ปี 2563 (Thailand’s World Antimicrobial Awareness Week 2020) จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข และ 22 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ สมาคมและองค์กรวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
นายอนุทิน กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ได้ร่วมกับผู้นำจากทั่วโลกรับรองปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ปี 2559 ในฐานะเป็นประธานกลุ่มประเทศ G-77 และผู้นำประเทศไทย เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นวิกฤตร่วมกันของทุกประเทศ มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง 700,000 คนต่อปี ซึ่งประเทศไทย 38,000 คนต่อปี
จากการติดตามในฐานะประธานกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ตระหนักเรื่องเชื้อดื้อยามากขึ้น มีอัตราการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน (ร้อยละ 20) ในกลุ่มโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น หวัด และโรคท้องร่วงเฉียบพลัน ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้นประมาณ 600 แห่ง
และจากการสำรวจของสานักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 ในคนไทยอายุมากกว่า 15 ปี 54 ล้านคน พบว่า มีความรู้และเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยา และยาต้านจุลชีพในระดับที่ดีพอ ประมาณ 13 ล้านคน ประเด็นสำคัญคือการทำให้ประชาชนอีกกว่า 41 ล้านคนมีความรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในทุกภาคส่วนได้
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันดำเนินงานภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม และสนับสนุนกิจกรรมงาน World Antimicrobial Awareness Week ซึ่งประเทศไทยได้รับความร่วมมือจาก WHO FAO OIE USAID Fleming fund/UK Aid สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยามาโดยตลอด
การจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งชุดกิจกรรมย่อยแบ่งเป็น 3 แพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในคนและสัตว์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ผลักดันให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศ ซึ่งนอกจากร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ “Antibiotic Awareness Day” ขึ้นในตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ยังคงดำเนินการขับเคลื่อนงานตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 จัดทำสปอตโฆษณารณรงค์ผ่านช่องทางสื่อกระแสหลัก จนทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้และความเข้าใจสูงถึงร้อยละ 82
รวมถึงสนับสนุนแผนงานการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศไทยภายใต้กรอบองค์การอนามัยโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2560–2564 และมุ่งพัฒนากลไกเฝ้าระวังและจัดการความรู้ปัญหาเชื้อดื้อยา เพื่อให้ประชาชน มีสุขภาพที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
สำหรับการจัดกิจกรรมมีต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ตั้งแต่วันนี้ ถึง 24 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกันทุกประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ สัตวแพทย์ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป