สสส.เยือนเวียงจันทน์ปูแนวทางอาเซียน ‘สังคมแห่งสุขภาวะ’
เพราะผลสำเร็จจากการทำงานตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการสร้างเสริมสุขภาพให้กับสังคมไทย จนได้รับเกียรติเป็นต้นแบบแห่งการสร้างเสริมสุขภาพแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมอาเซียนด้วยการขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยล่าสุด คณะทำงานของ สสส. ได้เดินทางไปยังกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
การประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง สสส. ประเทศไทย และ สปป.ลาว ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อพัฒนาความร่วมมือการจัดกิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกัน โดยมีเครือข่ายต่างๆ ของ สสส. ประเทศไทย ร่วมเข้าแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ เครือข่ายนักรณรงค์เพื่อการควบคุมยาสูบแห่งเอเชียอาคเนย์ (SEATCA) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิเมาไม่ขับ และชมรมคนห่วงหัว ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นต้น ขณะที่ สปป.ลาว ก็มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านการรณรงค์เรื่องเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ เข้าร่วม
ในฐานะที่ไทยได้เดินหน้างานด้านนี้มาแล้วถึง 10 ปี จึงทำหน้าที่ในการถ่ายทอดประสบการณ์และเป็นพี่เลี้ยงในการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ซึ่ง สปป.ลาว จะนำไปพัฒนากฎหมายที่กำลังผลักดัน อย่างร่างพระราชบัญญัติควบคุมยาสูบ และการเตรียมตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจากภาษียาสูบประมาณ 2%คาดว่าจะสามารถก่อตั้งกองทุนได้ในปี ค.ศ. 2012 นี้ และในอนาคตกำลังเตรียมการออกพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีผลบังคับใช้ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ ในไม่ช้า
สถานการณ์ด้านสุขภาพของ สปป. ลาว ถือว่าใกล้เคียงกับประเทศไทย ในช่วงที่เริ่มก้าวเข้าสู่การพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ประชาชนที่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ โรคระบาด มีแนวโน้มการเจ็บป่วยเปลี่ยนไปเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ทั้งโรคหัวใจ มะเร็ง เส้นเลือดหัวใจและสมอง การตายจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
ดร.บุนกว้าง พิชิต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สปป. ลาว อธิบายว่า ขณะนี้ลาวกำลังมีการพัฒนากฎหมายเพื่อให้คุ้มครองประชาชน รวมถึงการรณรงค์เพื่อให้ความรู้อย่างทั่วถึง สิ่งที่ประเทศลาวต้องการ จึงเป็นเรื่ององค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ทำงานของประเทศไทยเพื่อนำมาปรับใช้ รวมทั้งการขอใช้สื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ซึ่งเห็นว่าประเทศไทยทำได้ผลเป็นอย่างมากมาใช้ในการกระตุ้นเตือนประชาชนอีกทางด้วย
การรณรงค์ใน สปป. ลาว เริ่มทำอย่างจริงจังแล้ว เช่น การงดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เช่น สนามบิน วัด พิพิธภัณฑ์ จะมีป้ายรณรงค์อย่างเด่นชัด นอกจากนี้ยังรณรงค์ให้ประชาชนสวมหมวกกันน็อก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ นายนาว บุตตา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สปป. ลาว เพิ่มเติมว่า ในอนาคตลาวกำลังจะมีการพิมพ์ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงพิษภัยที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการควบคุมเรื่องเหล้า หรือ บุหรี่ ก็พบว่ามีแรงต่อต้านจากธุรกิจที่ต้องเสียผลประโยชน์ไป จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันโฆษณาเหล้า บุหรี่ มีอยู่ทั่วไปและมีเป็นจำนวนมาก แต่หลายฝ่ายก็เห็นดีด้วยในส่วนของการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งในการร่างกฎหมาย ก็ได้รวมข้อกำหนดเพื่อควบคุมการโฆษณาไว้ด้วย
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. เชื่อว่า การสร้างความร่วมมือ และการตระหนักของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะขนาดไทยเดินหน้างานด้านนี้มาร่วม 10ปี แต่อุบัติการณ์บางด้านก็ยังเป็นปัญหา เช่น พฤติกรรมเมาแล้วขับที่คนส่วนหนึ่งยังฝ่าฝืนจนทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ ซึ่งการรณรงค์ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการส่งสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่ประเทศไทยใช้ได้ผลให้แก่หน่วยงานของ สปป. ลาว เพื่อนำไปใช้ด้วย
“เชื่อว่าหลังจากการประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ จะมีการประสานความร่วมมือเพื่อทำงานร่วมกันในระยะยาว โดยไทยจะทำหน้าที่พี่เลี้ยงในการช่วยวางรากฐานสร้างระบบ การบริหารกองทุนให้เกิดขึ้น รวมทั้งนำองค์ความรู้ที่มีการถอดบทเรียนและสร้างเป็นคู่มือในเรื่องต่างๆ ของไทยมาเป็นตัวอย่าง เพื่อการปรับใช้ให้เข้ากับสภาพสังคมของ สปป.ลาวต่อไป”
นอกจากนี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยังได้เชิญชวนให้ สปป. ลาว เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ สสส. โลก เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนข้อมูล ประสบการณ์ทำงานในการควบคุมโรคติดต่อ ไม่ติดต่อ เพื่อให้เกิดการทำงานที่เข้มแข็งต่อไป และอีกไม่นานการขยายความร่วมมือออกไปอย่างที่ สสส. กำลังดำเนินการอยู่นั้น จะทำให้ในที่สุดการสร้างเสริมสุขภาพก็จะเข้มแข็งทั้งอาเซียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์