สสส. เปิดผลงานปี 59

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


สสส.ติดอันดับคะแนนสูง ประเมินโปร่งใส thaihealth

แฟ้มภาพ


สสส. เปิดผลงานปี 59 สนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพ 2,401 โครงการ มีผู้รับทุนหน้าใหม่เกือบ 3,000 ราย/องค์กร ชูผลงานเด่น 4 ด้าน พัฒนาขยายพื้นที่สุขภาวะเกือบหมื่นแห่งทั่วไทย ผจก. สสส. ย้ำยึดมั่นหลักบริหาร มืออาชีพ-โปร่งใส-ตรวจสอบได้ และ “สานพลังทุกภาคส่วนเพื่อผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง” ปักธง ปี 2560 เร่งเดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพ 3 ด้าน พัฒนานักสร้างสุขภาพเชิงสถาบัน – จัดการปัญหาเหล้าบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงด้วยมาตรการทางสังคมเสริมกฏหมาย-ขยายพื้นที่และองค์กรสุขภาวะผ่านเขตสุขภาพ


เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลง “ผลการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ ปี 2559 และก้าวต่อไปของ สสส.” ในโอกาสครบรอบการบริหารงาน 1 ปี ว่า สสส. ได้ดำเนินงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเชื่อมประสานและบูรณาการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในประเด็นสุขภาพต่างๆ ของประชาชนทุกช่วงวัยร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น โดยในปีงบประมาณ 2559 สนับสนุนโครงการสร้างเสริมสุขภาพทั้งสิ้น 2,401 โครงการ มีผู้รับทุนรายใหม่ 2,859 ราย/องค์กร


สสส. ยังคงให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยสนับสนุนและผลักดันนโยบาย กฎหมาย และมาตรการสำคัญด้านการสร้างเสริมสุขภาพทั้งระดับชาติและท้องถิ่นกว่า 40 นโยบาย อาทิ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. … ที่รัฐบาลเสนอผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ออกเป็นกฎหมาย ซึ่งผลสำรวจล่าสุดปี 2558 มีผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน โดยเป็นเยาวชนและวัยรุ่น อายุ 15-24 ปี มากถึง 28% กฎหมายนี้จะช่วยควบคุมการเข้าถึงบุหรี่ของเด็กและเยาวชนได้, คำสั่ง คสช. เรื่อง มาตรการการแก้ปัญหาดื่มไม่ขับ ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ซึ่งสถิติการดื่มของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ในปี 2558  อยู่ที่ 6.95 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี ลดลงจากปี 2544 อยู่ที่ 7.39 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์/คน/ปี และ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เด็กและเยาวชนจะได้รับสิทธิประโยชน์การเข้าถึงการเรียนเพศศึกษาและรับสวัสดิการทางสังคมและบริการอนามัยเจริญพันธุ์อย่างทั่วถึง ซึ่ง สสส. จะร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายและนโยบายเหล่านี้กับภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดผลทางปฎิบัติต่อไป


สสส.ติดอันดับคะแนนสูง ประเมินโปร่งใส thaihealth


ดร.สุปรีดา กล่าวว่า โดยในปี 2559 สสส. มีผลการดำเนินงานสำคัญๆ  คือ 1. ความสำเร็จของบทบาทประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 เกิดปฎิญญากรุงเทพขึ้นเป็นหลักการดำเนินงานกิจกรรมทางกายในประชาคมโลก และในการนำเข้ารายงานต่อคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ส่วนงานราชการจัดกิจกรรมทางกายเป็นประจำทุกวันพุธ ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านกิจกรรมทางกายของโลก ทั้งนี้ สสส. ยังร่วมร่างแผนปฏิบัติการการมีกิจกรรมทางกาย เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 71 ในปี 2561 2. ขยายฐานผู้รับผลประโยชน์เข้าถึงองค์ความรู้การสร้างเสริมสุขภาพผ่านศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.  และขยายศูนย์ฯ ภูมิภาคอีก 4 แห่ง มีประชาชนมาใช้บริการทุกช่องทางเกือบ 4 ล้านคนหรือครั้ง เพิ่มจากปีที่แล้วเกือบ 150% 


สสส.ติดอันดับคะแนนสูง ประเมินโปร่งใส thaihealth


จากการสำรวจความพึงพอใจ ผู้ใช้บริการมีแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 83.2% และสามารถนำความรู้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน 81%  3. พัฒนาและขยายพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาเด็กปฐมวัยขยายผลมากกว่า 700 แห่ง ครอบคลุมเด็กเล็กเกือบ 4 แสนคน พัฒนาหลักสูตรลูกเสือเพิ่มทักษะชีวิตในโรงเรียนสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส 118 แห่ง เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 2,615 แห่ง สนับสนุนการจัดการชุมชนน่าอยู่ผ่านกลไกสภาผู้นำชุมชน 2,700 หมู่บ้าน องค์กรสุขภาวะ 6,611 องค์กร พื้นที่สุขภาวะกิจกรรมทางกาย 741 แห่ง จังหวัดต้นแบบปลอดบุหรี่ 32 จังหวัด และ 1 พื้นที่พิเศษ พื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย 4,400 แห่ง งานบุญประเพณีปลอดเหล้า 167 งาน งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2559 มีประชาชนเข้าร่วม 12 ล้านคน งดตลอด 3 เดือน 5.8 ล้านคน ประหยัดค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 13,459 ล้านบาท


4. สร้างความเท่าเทียมทางสุขภาพ สนับสนุนและพัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการทำงานในชุมชน โดยประสานความร่วมมือภาคประชาสังคมและท้องถิ่นกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการ สร้างความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของชุมชนและสังคม ให้ความรู้ฝึกทักษะอาชีพแก่คนพิการ ส่งผลให้เกิดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการเพิ่ม 16,000 คนและภาคเอกชนร่วมจ้างเพิ่มไปแล้วกว่าแปดพันตำแหน่ง สร้างรายได้ให้แก่คนพิการเพิ่มในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท


สสส.ติดอันดับคะแนนสูง ประเมินโปร่งใส thaihealth


 “การบริหาร สสส. ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ท้าทาย แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรค ปัญหาต่างๆ ผ่านบทพิสูจน์การทำงานมากมาย​ ทุกฝ่ายในองค์กรร่วมกันปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้มีความเป็นมืออาชีพในด้านการทำงานสร้างเสริมสุขภาพมากยิ่งขึ้น เน้นการพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการกองทุน การกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับผลการประเมินผลและสมรรถนะงานจากคณะกรรมการประเมินผล 4.56 คะแนน จาก 5 คะแนนเต็ม สูงกว่าปี 2558 เกือบทุกด้าน การประเมินผลธรรมาภิบาล ได้ร้อยละ 87.8  ขณะที่การประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐโดย ปปท. ที่ประเมินองค์กรรัฐกว่าสองร้อยองค์กรนั้น สสส. ได้ร้อยละ 81.41 ซึ่งได้รับเกียรติบัตรองค์กร ที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานระดับสูงมาก ผมในนามของ สสส. รวมทั้งภาคีเครือข่ายนักสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศ ขอยึดมั่นในหลักการทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่จะ สานพลังทุกภาคส่วนเพื่อผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้ทุกผลประโยชน์คืนสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ภายใต้เป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่บุคคล ชุมชน และสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว


สสส.ติดอันดับคะแนนสูง ประเมินโปร่งใส thaihealth


ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การทำงานของ สสส. ในปี 2560   ที่ได้รับการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนที่มีรองนายกรัฐมนตรี พล ร อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัยเป็นประธาน จำนวน 15 แผน มีตัวอย่างจุดเน้นสำคัญ เช่น คือ 1. ยกระดับ สสส. ให้เป็นสถาบันการเรียนรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) ศูนย์กลางการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ โดยใช้บทเรียนและประสบการณ์การทำงานของ สสส. กว่า 10 ปี พัฒนาเป็นองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพทั้งในนักสร้างเสริมสุขภาพชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งขณะนี้ได้วางรากฐานและเริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าจะสำเร็จในเชิงสถาบันเต็มรูปแบบภายใน 3 ปีจากนี้


2. จัดการปัญหาบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่สำคัญด้วยมาตรการทางสังคมเสริมกฏหมาย โดยเฉพาะการสนับสนุน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. … ให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกัน โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ของ อสม. และเครือข่ายหมออนามัย เฝ้าระวัง ให้ความรู้และรณรงค์ในประชาชนในพื้นที่ ลด ละ เลิก บุหรี่ และสุรา โดยมีโครงการสำคัญคือ “3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” และ 3. ยังคงพัฒนาและขยายพื้นที่สุขภาวะทั่วประเทศที่ยังเดินหน้าสืบเนื่องต่อไป ทั้งเพิ่มจำนวนและเชิงคุณภาพที่ยกระดับจากการจัดการความรู้และศูนย์เรียนรู้ต่างๆ โดยรับโจทย์ของภาคและท้องถิ่นผ่านกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชนมากขึ้น


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code