สสส. เปิดบ้านโชว์กระบวนการป้องกันโรค NCDs
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. เปิดบ้านโชว์กระบวนการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ผ่านการลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยเสริม เหล้า บุหรี่ อาหาร กิจกรรมทางกาย ด้วยทุกภาคส่วนสังคม ต่างชาติชื่นชมยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เตรียมนำกลับไปปรับใช้ สร้างจุดเปลี่ยนพัฒนาประเทศ
วันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ อาคารศูนย์เรียนสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมศึกษาดูงาน เรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังผ่านมุมมองเศรษฐกิจการเมือง” ภายใต้การประชุมวิชาการรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 (PMAC 2019) ซึ่ง อาคารศูนย์เรียนสุขภาวะ สสส. เป็นจัดเป็นหนึ่งในหกเส้นทางศึกษาดูงาน โดยเป็นเส้นทางที่มีผู้นำจากภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารภาคเอกชน ผู้แทนจากภาคประชาสังคมจาก 34 ประเทศทั่วโลกสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 40 คน
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า การเปิดบ้าน สสส. ครั้งนี้ ก็เพื่อนำเสนอบทเรียนความสำเร็จของไทยสู่สากลในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ อาทิ ลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเพิ่มปัจจัยเสริม อาทิ ส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาวะและการเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยงานเพื่อป้องกันโรค NCDs ของ สสส. มีความสอดคล้องหลักการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ตามกฎบัตรออตตาวา ผลจากการผลักดันงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะที่ผ่านมา ช่วยให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อ โดยมีการดำเนินการทั้งเชิงนโยบาย องค์ความรู้ การรณรงค์สร้างความตระหนัก และการจัดการสิ่งแวดล้อม ผลการติดตามความก้าวหน้าขององค์การอนามัยโลกในปี 2560 (World NCD Progress Monitor 2017) พบว่า ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนและเป็นอันดับ 3 ของโลกร่วมกับฟินแลนด์และนอร์เวย์
“สสส. ประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลังในการเชื่อมโยงภาคีทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค NCDs นั่นคือใช้พลังปัญญาผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นในการวิเคราะห์และแก้ไขปัจจัยเสี่ยงของโรค NCDs ใช้พลังสังคมด้วยการสื่อสารรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมวัฒนธรรม ขยายแนวคิดความรอบรู้เรื่องการป้องกันโรค NCDs ให้เหมาะสมตามกลุ่มวัย และการใช้พลังนโยบายผ่านการประสานผลักดันนโยบายและกฏหมายที่เอื้อต่อการลดความเสี่ยงของโรค อาทิ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560” ดร.สุปรีดา กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในอดีตคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพมากมาย หนึ่งในนั้นคือความเจ็บป่วยที่มาจากการสูบบุหรี่ ต่อมาในปี 2529 จึงเกิดการรวมตัวเครือข่ายโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิหมอชาวบ้าน โดยมีภารกิจส่งเสริมให้คนไทยห่างไกลจากบุหรี่เรื่อยมา และในปี 2544 ได้เกิดปรากฎการณ์สำคัญในการก่อตั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อทำหน้าที่ผลักดัน กระตุ้น ประสาน และสนับสนุน ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการควบคุมยาสูบ จากผลสำรวจล่าสุด ปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแนวโน้มการสูบบุหรี่คนไทยลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ร้อยละ 19.1 หรือ 10.7 ล้านคน ลดลงจาก 2 ปีก่อนคือปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 19.9