สสส. หนุน มะขามป้อม สร้าง “ละครสะท้อนปัญญา”
หวังดึงเยาวชนสร้างละครเวทีสร้างสรรค์สังคมไทย
“ละคร”…ศาสตร์แห่งศิลปะ ศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลต่อความรู้สึกของมนุษย์ ศาสตร์ที่หล่อหลอมสะท้อนปัญญาให้นักแสดง ผ่านการแสดงออกทั้งทางร่างกาย น้ำเสียง และจิตวิญญาณ ส่งผ่านความรู้สึกจากตัวแสดงสู่ผู้ชม ก่อให้เกิดการคิด วิเคราะห์ แยกแยะผิดถูก รวมถึงการรับรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่นักแสดงส่งออกไป….
“ละครสะท้อนปัญญา” จึงเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นว่า “ละครเวที” จะสามารถเปลี่ยนความคิดเยาวชน ให้มีความคิด ความอ่าน หรือที่เรียกว่า “สุขภาวะทางปัญญา” ได้ด้วยความเชื่อที่ว่า ศักยภาพของกระบวนการละครสามารถสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาให้แก่เยาวชน รวมทั้งคนในสังคมได้
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นาย
“การทำละครสะท้อนชีวิต หรือการชมละครชี้นำสังคม ที่ผ่านมา ยังคงจบลงที่โรงละคร มองการละครเพียงรูปแบบของความบันเทิง ไม่ค่อยมีใครนำ “กระบวนการละคร” มาปรับใช้ในการเรียนรู้โลกเท่าใดนักเท่าที่มีก็ยังจำกัดเฉพาะกลุ่มนักวิชาการละครเพียงไม่กี่รายเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วพลังของละครไปได้มากกว่าความสนุกสนาน ความเศร้า และเสียงหัวเราะ นั่นคือ ขั้นตอนการเรียนรู้ก่อนที่จะมาแสดงบนเวทีไม่ใช่ที่เห็นสำเร็จแล้วบนเวทีการแสดง” นายพฤหัส เล่าให้ฟังอย่างเชื่อมั่น
หัวหน้าโครงการ เล่าต่อว่า กระบวนการละครสอนสั่งนักแสดงตั้งแต่การร่างบทละคร การสนทนาเพื่อทำความเข้าใจมิติของตัวละคร การแบ่งงานกันทำ ตลอดจนขั้นตอนการทำงานที่ต้องประสานงานเป็นทีม เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ปันความคิด ความรับผิดชอบ และฝึกกระบวนการอย่างเชื่อมโยงและเป็นระบบ รู้จักใช้วิจารณญาณและเลือกทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์หรือเงื่อนไขต่างๆ ที่สมมติขึ้น ที่เหลือคือความผ่อนคลายเรียนรู้ด้วยความสนุกสนานและหัวใจที่เบิกบาน ด้วยมิตรภาพ
นายประดิษฐ์ ประสาททอง ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ โครงการละครสะท้อนปัญญา บอกว่า คนสมัยนี้เสพติดสื่อสมัยใหม่มากเกินไป พอพูดถึงละครก็จะนึกเพียงละครโทรทัศน์ โดยมองข้ามละครเวทีไป เราอาจตามข่าว พึ่งข้อมูลจากสื่อสมัยใหม่มากเกินไปจนหลายครั้งก็แยกไม่ออกระหว่างการคิดไปเองกับข้อเท็จจริงแถมยังพาลแสดงออกไปโดยขาดสติ ขาดการคิดทบทวนด้วยปัญญา ไม่ถามเสียงภายในของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร ทำอย่างนี้ไปทำไมมองไม่เห็นผลต่อเนื่องที่จะตามมา
“หากพูดให้ทันสมัยหน่อยก็เหมือนมะขามป้อมขอออกรบอีกด้านแต่ไม่ใช่แนวหน้านะครับ เราขอเป็นกองหลังทำงานเชิงลึกดีกว่าเริ่มจากความถนัดของเราก่อน คือใช้ประสบการณ์ความรู้ และทักษะของตัวเองให้เป็นประโยชน์ที่สุด ประกาศสงครามความคิดด้วยโครงการละครสะท้อนปัญญา ซึ่งตอนนี้เริ่มประกาศชักชวนเยาวชนระดับอุดมศึกษามาร่วมทำละครและอบรมกระบวนการละครต่างๆ กับเรา ฝึกให้พวกเขารู้จักคิดอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญที่สุดต้องไม่ลืมที่จะนำหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์มาร่วมอบรมและออกสนามรบด้วย” ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ กล่าวพร้อมประกาศเจตนารมณ์ ว่า ต้องการสร้างละครรุ่นใหม่ที่มีหัวใจ ไม่ใช่มีแต่สมอง !!!
ด้าน นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า ละครสะท้อนปัญญา ทำให้เยาวชนมีความคิดริเริ่มที่จะแสดงออก เพราะเยาวชนเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ อยากรู้ อยากเล่น อยากลอง เวลาที่เยาวชนรับรู้สื่อสิ่งใดเข้าไปก็จะซึมซับได้ง่าย และในปัจจุบันก็มีละครสะท้อนปัญญาให้เสพไม่มากนัก เชื่อว่า ละครเวที จะเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้เยาวชนสามารถเลือกรับสื่อที่ดูแล้วเกิดกระบวนการคิดตาม
“สสส. มองว่า ละครในสังคมไทยมีบทบาท และมีความหมายมากต่อความคิด จิตใจของเยาวชน หากมีละครสะท้อนปัญญาที่สะกิดให้เรารู้สึกตามไปว่าสิ่งนี้ดีหรือสิ่งนี้ไม่ดี เยาวชนดูแล้วสามารถใช้ปัญญาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ จะทำให้ปัญหาสังคมต่างๆที่เกิดจากเยาวชนก็จะหมดไปได้ และจะช่วยผลักดันให้สังคมเดินไปได้ด้วยดี วันนี้เราจะช่วยกันสร้างพื้นที่ด้านบวกให้กับเยาวชนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เชื่อว่าพลังของเยาวชนจะกระจายออกไปเพื่อจรรโลงให้สังคมดีขึ้นต่อไป” นพ.บัญชา กล่าวด้วยความเชื่อมั่น
“น้องเต้า” หรือ นายกิตติพันธ์ กันจินะ ผู้ประสานงานโครงการกล้าเลือก กล้ารับผิดชอบเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์แห่งประเทศไทย เล่าว่า ตนเป็นกลุ่มเยาวชนที่นำละครเวทีมาช่วยเหลือสังคม จากที่เคยทำกิจกรรมรณรงค์ให้คนในชุมชนมีความรู้เรื่องยาเสพติดให้โทษ โดยการบอกกล่าว กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ละครเวที แสดงถึงโทษของยาเสพติด ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากชาวชุมชนเป็นอย่างมาก
“ละครเวที เป็นสื่อชุมชนดั้งเดิม เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กัน เป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความคิด ไม่ใช่สอนว่าผู้ชมจะต้องคิดอย่างไร ขอเพียงละครที่เราสร้างขึ้นได้เข้าไปสะกิดใจผู้ชมแม้เพียงเล็กน้อย เท่านี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว” น้องเต้า กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
ทั้งนี้ กลุ่มละครมะขามป้อม และ สสส. ได้เพิ่มพื้นที่บวกให้กับเยาวชนโดยการเปิดเวทีให้แก่เยาวชนในระดับอุดมศึกษาใน โครงการ “ละครสะท้อนปัญญา” หวังเปลี่ยนโลกด้วยหัวใจของคนรุ่นใหม่ โดยเยาวชนที่สนใจหาเพื่อนร่วมกลุ่มไม่น้อยกว่า 5 คน ส่งประวัติโดยย่อ และร่างเค้าโครงเรื่อง ความยาวไม่เกิน 2หน้า a4 หรือไม่เกิน 45 นาที ประกอบด้วยชื่อเรื่อง ประเภทตัวละคร แก่นเรื่อง โครงเรื่องย่อ พร้อมคำอธิบายสั้นๆให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างโครงเรื่องกับแนวคิด ส่งใบสมัครก่อน 15 ตุลาคม ดูระเบียบการสมัครได้ที่ www.makhampom.net
“ละคร”…ไม่เพียงแต่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่คนดูเท่านั้น แต่ยังสะท้อนแง่มุม ความคิด สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นเสมือนกระจกที่ช่วยสะท้อนปัญญา เพื่อชี้ทางสว่างแก่ผู้ชมและสังคม…
“ละครสะท้อนปัญญา”…จะช่วยเปลี่ยนโลกนี้ให้สวยงามได้ด้วยปัญญาของเยาวชนไทย…
ดาวน์โหลดรายละเอียดโครงการละครสะท้อนปัญญา คลิกที่นี่
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 22-09-51