สสส.หนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัย ปรับทัศนคติสังคม มองเรื่องครอบครัว เป็นเรื่องของทุกคน

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจาก สสส.


สสส.หนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัย ปรับทัศนคติสังคม มองเรื่องครอบครัว เป็นเรื่องของทุกคน thaihealth


มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ โควิด -19 ระบาดซ้ำ “วันสงกรานต์” ประชาชน เสี่ยง ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 20  สสส. หนุน สร้างพื้นที่ปลอดภัย ปรับทัศนคติสังคม มอง “เรื่องครอบครัว เป็นเรื่องของทุกคน”


สสส.หนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัย ปรับทัศนคติสังคม มองเรื่องครอบครัว เป็นเรื่องของทุกคน thaihealth


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันครอบครัวปีนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 และมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบในชีวิต เกิดความเครียดสะสม จนกลายเป็นสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว สสส. พบว่า ครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีแนวโน้มเกิดความรุนแรงมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้พอใช้ โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานผลสำรวจความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ปี 2563 ว่า ประเทศไทยพบความรุนแรงในครอบครัวด้านจิตใจสูงสุดร้อยละ 41.2  รองลงมาคือ ทางร่างกาย ร้อยละ 4.3 และทางเพศ ร้อยละ 2.3  ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว รายงานว่าตั้งแต่ปี 2559 -2563 พบว่าความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือเฉลี่ย 4 ราย/วัน


“ที่ผ่านมา สสส. ทำงานเชิงรุก ปลุกพลังภาคีเครือข่าย สร้างคู่มือพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม วางกลไกช่วยเหลือด้านระบบคุ้มครองบุคคลในครอบครัว สู่การเกิดพื้นที่คุ้มครองทางสังคม (Social Protection Area) โดยมีเป้าหมายปรับวิธีคิด เปลี่ยนความเชื่อ สร้างบรรทัดฐาน และวิถีปฏิบัติของคนในชุมชนให้มองว่า เรื่องครอบครัว เป็นเรื่องของทุกคน วันครอบครัวปีนี้ ยังอยู่ในช่วงโควิด-19 จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนหันมาทำกิจกรรมที่บ้านกับครอบครัว สร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในวันหยุดยาว เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและหยุดวงจรระบาดโควิด-19 ไม่ให้เกิดซ้ำ จากกิจกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปด้วยกัน” นางภรณี กล่าว


สสส.หนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัย ปรับทัศนคติสังคม มองเรื่องครอบครัว เป็นเรื่องของทุกคน thaihealth


นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ พบความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวยากจนทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบในครอบครัว เช่น ขาดรายได้ ไม่มีงานทำ และเกิดความเครียดสะสม โดยปี 2563 มีประชาชนมาขอความช่วยเหลือเรื่องความรุนแรงในครอบครัวกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 20 แบ่งเป็น 1. ปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีหลังถูกคนในครอบครัวทำร้ายร่างกายด้วยตัวเอง และ 2. ร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือให้ทางมูลนิธิฯ พาไปแจ้งความดำเนินคดี


“อีกปัญหาความรุนแรงที่พบคือ คนในบ้านเลือกระบายความเครียดด้วยการไปปาร์ตี้ ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขอาจสร้างความร้าวฉานและความรุนแรงได้ วันครอบครัวปีนี้ เชิญชวนให้ทุกคนลด ละ เลิกอบายมุข ป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 และสร้างครอบครัวสุขภาวะดี ไร้ความรุนแรง” นายจะเด็จ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code