สสส.หนุนชุมชนรวมพลังฟื้นฟูแหล่งน้ำ

ปลุกสำนึกปชช.รักษ์ลำห้วยคะคาง-ห้วยยาง

สสส.หนุนชุมชนรวมพลังฟื้นฟูแหล่งน้ำ

 

          สสส. หนุนชุมชนบ้านวังน้ำเย็น จ.มหาสารคาม รวมกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพลำห้วยคะคาง-ห้วยยาง หลังประสบวิกฤติน้ำเน่าเสีย บูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่ายร่วมดูแลรักษาแหล่งน้ำของชุมชน

 

          ลำห้วยคะคาง-ห้วยยางเป็นแหล่งน้ำสำคัญทางการเกษตรที่หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนที่อาศัยอยู่ริมลำน้ำทั้งสองสายมาอย่างยาวนาน แต่จากการขยายตัวของชุมชนส่งผลให้มีการปล่อยน้ำเสียจำนวนมากไหลลงสู่ลำห้วย ทำให้น้ำเริ่มเน่าเสียมาตั้งแต่ปี 2539 และรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติในปี 2550 น้ำในลำห้วยทั้งสองสายส่งกลิ่นเหม็น ปลาลอยตาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้

 

          ชาวบ้านในหมู่บ้านวังน้ำเย็น ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจัดทำ โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ลำห้วยคะคางและห้วยยางเพื่อคุณภาพชีวิตเพื่อรณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงตระหนักถึงถึงพิษภัยและผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ และร่วมกันฟื้นฟูคุณภาพของลำห้วยทั้งสองสาย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

 

          นายสุทัศน์ ลาจ้อย หัวหน้าโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ลำห้วยคะคางฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2537-2538 เป็นต้นมา เริ่มมีปัญหาน้ำเน่าเสียและรุนแรงขึ้นทุกปี ชาวบ้านจึงรวมตัวเป็นกลุ่มอนุรักษ์ และหาหนทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามศักยภาพที่ตนเองมี

 

          เราได้รณรงค์ให้ชาวบ้านมีความรักและหวงแหนและรู้สึกว่าทรัพยากรธรรมชาติแม่น้ำลำห้วยเป็นสมบัติของชุมชนที่ทุกคนต้องช่วยรักษาไว้อย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตและใช้น้ำหมักชีวภาพในการบำบัดน้ำเน่าเสีย โดยจะนำไปราดลงในลำห้วยเดือนละ 1-2 ครั้ง นอกจากนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังได้ประสานงานกับสถาบันการศึกษาในชุมชนให้เข้ามาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง และทำหนังสือขอความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดน้ำเสีย ทำให้ปัจจุบันเทศบาลได้หยุดปล่อยน้ำเสียและมีการสร้างบ่อบำบัดก่อนปล่อยลงลำห้วยแล้วนายสุทัศน์ กล่าว

 

          หลังจากดำเนินงานขับเคลื่อนโครงกางอนุรักษ์ฯ มา 2 ปี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านวังน้ำเย็นและหมู่บ้านใกล้เคียงก็คือชาวบ้านมีความตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์แหล่งน้ำและธรรมชาติมากขึ้น เกิดความร่วมแรงร่วมใจในการแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแทนที่จะต้องทนใช้ชีวิตอยู่กับสภาพน้ำเน่าเสียไปวันๆ

 

          และด้วยการรวมตัวทำงานอย่างจริงจังและเข้มแข็งของชาวบ้านทำให้ทาง องค์กรบริหารส่วนตำบลเกิ้ง ได้นำเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติบรรจุเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานพัฒนาตำบล นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการประสานงานกับภาคีที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการชลประทานมหาสารคาม ในการปล่อยน้ำดีไล่น้ำเสียในช่วงที่เกิดปัญหา และ ทางเทศบาลเมืองมหาสารคาม ก็ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญจัดทำบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ และทำงานเชื่อมโยงกันโดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ลำห้วยคะคาง-ห้วยยางให้กลับมาใสสะอาดเหมือนในอดีต

 

          เรามีเป้าหมายที่จะขยายผลการดำเนินงานออกไปไม่เฉพาะแค่ในตำบลเกิ้งของเราเท่านั้น แต่จะขยายผลของโครงการออกไปสู่ตำบลโคกก่อซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และตำบลท่าตูมซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำก่อนที่จะไหลลงแม่น้ำชี โดยจะดึงจะทั้งสองพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลลำห้วยทั้งสองสายนี้ให้เป็นกระบวนการเดียวกัน ขยายเป็นเครือข่ายอนุรักษ์ตลอดทั้งลำน้ำ และขับเคลื่อนไปยังองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมดูแล เพราะเราเป็นเพียงกลุ่มชาวบ้านที่ไม่มีศักยภาพอะไร แต่ทุกคนก็หาทางแก้ไขด้วยกำลังที่มี เพื่ออนาคตของลูกหลานของเราในวันข้างหน้าที่จะต้องพึ่งพาลำน้ำทั้งสองสายนี้นายสุทัศน์ กล่าว

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

update: 07-07-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

 

Shares:
QR Code :
QR Code