สสส.หนุนคนตกงาน สร้างจิตอาสาเพื่อชุมชน
ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสุขภาพเมืองกรุงเก่า
ตัวเลขคนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีแรงฉุดรั้ง ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดจึงทำให้คนเคยทำงาน กลายสภาพเป็นคนไร้งานนักศึกษาที่มีความใฝ่ฝันมากมายกับชีวิตหลังจบการศึกษา แต่กลับพบว่าความฝันนั้นต้องถูกถูกไว้ชั่วคราว เมื่อรู้ว่าตลาดแรงงานไม่เปิด
ธุรกิจหลายแห่งทยอยปิดตัว เพราะไร้ออร์เดอร์สั่งงานซึ่งพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มากที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยมีโรงงานอุตสาหกรรมหนัก – เบาตั้งอยู่ถึง 3,471 แห่ง เมื่อไม่มีลูกค้า แรงงานที่เป็นคนพื้นที่และที่มาจากต่างถิ่นต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านถึง 1.3 แสนคน แม้จะได้รับเงินทดแทนส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่มากพอที่จะยังชีพเพื่อรอให้เศรษฐกิจตื่นฟื้น
เมื่อสภาพเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้…สภาพจิตของคนรองานจึงหดหู่ลงทุกวัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดึงพลังของคนที่ตกงาน – รองานกว่า 1 พันคน มาเป็นทีมงานสำรวจสุขภาพก่อนที่จิตใจของผู้คนเหล่านั้นจะตกหล่มความซึมเศร้า
นพ.กำจร ตติยกวี ประธานคณะกรรมการบริหารแผน สสส. เผยว่า พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจ ทั้งนี้เราทราบกันดีว่าหลายพื้นที่ยังมีข้อมูลเรื่องสุขภาพไม่สมบูรณ์นัก ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โครงการอาสาสมัครสร้างเสริมสุขภาพรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ (ออส.) จึงเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิดการจ้างงานเพื่อสร้างสุขภาพ ซึ่งพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นพื้นที่นำร่อง ด้วยการสร้าง อสส. กว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นคนพื้นที่ใน 16 อำเภอจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลระหว่างสิงหาคม-ตุลาคม เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลสำหรับพัฒนางานสาธารณสุขต่อไป
“สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับ อสส. ทั้ง 1,000 คน นั่นคือ การรู้จักรักชีวิตของตัวเองและรู้วิธีการห่างไกลโรค เพราะนอกจาก อสส.จะไปสอบถามข้อมูลเรื่องสุขภาพจากชาวบ้านแล้วยังต้องทำหน้าที่เป็นทูตสุขภาพและแนะนำการมีสุขภาพที่ดีต่อเพื่อนบ้านด้วย มั่นใจว่าเวลา 3 เดือนที่ร่วมเป็น อสส.เขาจะรักสุขภาพมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วเขาเหล่านี้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานก็จะกลายเป็นแกนนำรักสุขภาพในสถานประกอบการได้ ถ้าเป็นไปได้เราอาจจะขยาย อสส.ให้กระจายไปยังพื้นที่อื่นด้วย นพ.กำจร กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม”
เหตุที่ นพ.กำจร เชื่อมั่นว่าบุคคลทั้ง 1,000 คน จะรักสุขภาพและเข้าใจเรื่องสุขภาพนั้นเป็นเพราะว่าก่อนจะได้เป็น อสส. เต็มตัว ทุกคนล้วนได้รับการขับเคี่ยวข้อมูลการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยเข้าอบรมถึง 2 วัน 2 คืน
นอกจากได้รับข้อมูลระหว่างอบรมแล้ว ยังมีการจัดทดสอบย่อยเรื่องสุขภาพเป็นระยะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมจดจำได้แม่นยำว่า แต่ละวันต้องดื่มน้ำกี่แก้วถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือควรรับประทานอาหารประเภทใดจึงจะไม่เป็นการก่อมะเร็ง
โดยเทคนิคการเก็บข้อมูลสุขภาพนี้ นายรัตนะ เลิศดี นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ชำนาญการ ประจำสำนักงานสาธารณสุข จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าว่า เรามีข้อมูลจากสถานการณ์สุขภาพทั่วประเทศว่า โรคที่ยังคร่าชีวิตของประชาชนเป็นอันดับต้นๆ มี 3 โรค คือ โรคหัวใจ – หลอดเลือด โรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ
“การเก็บข้อมูลผ่าน อสส. จึงมีแบบสอบถามเพื่อให้ทราบถึง 3 อ.ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ คือ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย ทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะบ่งบอกว่ากลุ่มคนที่ อสส.ไปสำรวจนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือไม่ หากสุ่มเสี่ยง อสส. ก็สามารถแนะนำในลักษณะบอกต่อเรื่องสุขภาพได้ บางรายที่เป็นโรคอ้วนอาจจะแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี หรือบางคนที่กินเค็มก็แนะนำให้ลดการบริโภคเกลือ เป็นต้น” รัตนะ กล่าว
ประกอบกับช่วงนี้มีโรคอุบัติใหม่เป็นเชื้อไข้หวัด 2009 ดังนั้น อสส. ก็จะสามารถให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านเพื่อให้เขาเข้าใจและรู้วิธีการปฏิบัตตัวกับโรคอย่างไม่ใช่การตื่นตระหนกกับกระแส
การสำรวจครั้งนี้ “รัตนะ” ประมาณการว่า แต่ละสัปดาห์ อสส. 1 คน น่าจะสำรวจพฤติกรรมสุขภาพได้ 25 ชุดสุขภาพ ดังนั้นภายในเวลา 3 เดือนจึงคาดว่าจะมีข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพประชาชนมากกว่า 2 – 3 แสนคน หากได้ข้อมูลเรื่องสุขภาพแล้วเราจะทราบว่าคนอยุธยาสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าหรือรับประทานอาหารสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากน้อยแค่ไหน ก็จะช่วยต่อการประมวลผลเพื่อรองรับต่อสถานการณ์โรคและหาวิธีป้องกันการเกิดโรคได้อย่างทันท่วงที
ก่อนจะเดินจากไปเพื่อพูดคุยกับกลุ่ม อสส. เขากล่าวตบท้ายด้วยแววตามุ่งมั่นว่า อย่างน้อยต่อจากนี้ 10 – 20 ปี เราก็ยังพอมีเวลาสำหรับการหาวิธีให้ชาวบ้านห่างไกลจากโรคมะเร็งหรือโรคอื่นๆ ได้ แม้จะช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำ
หากใครเห็นคนใส่หมวกขาว ถือแบบสำรวจ เดินไปพูดคุยก็อย่าคิดว่าเป็นคนอื่นคนไกล เพราะเขาเป็นลูกหลานของคนอยุธยานั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update 18-08-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่