สสส.หนุนกระบวนการชุมชน `ตำบลชมภู` ร่วมดูแลพัฒนาผู้พิการเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน

ที่มา : เว็บไซด์แนวหน้า


ภาพประกอบจาก สสส.


สสส.หนุนกระบวนการชุมชน 'ตำบลชมภู' ร่วมดูแลพัฒนาผู้พิการเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


"เราใช้ความพิการของเราเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร และกระตุ้นให้คนในสังคม ให้คนในชุมชนของเราให้หันมาดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะคนพิการเองก็มีศักยภาพในการช่วยเหลือคนอื่นได้ อย่างน้อยที่สุดก็คือการ เป็นกำลังใจให้กับผู้ดูแลคนป่วยและผู้พิการ"


เป็นคำกล่าวของ พ่ออินสม อุตสุภาประธานศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภูในระหว่างการจัดกิจกรรม "เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ- ผู้พิการในระยะพึ่งพิง" พื้นที่ บ้านพญาชมพู และบ้านต้นกวาว ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่


โดยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นหนึ่ง ในหลายๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย"หัวใจ" ของคณะทำงานที่ต้องการเห็นความ เปลี่ยนแปลงในชุมชนของพวกเขาบนเป้าหมาย "การไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ที่เกิดขึ้น ภายใต้โครงการ "พัฒนาศักยภาพนักสร้างเสริม สุขภาวะคนพิการในชุมชนภาคเหนือ 5 จังหวัด" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนัก สร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


พ่อหลวงอนันต์ แสงบุญ หนึ่งในคณะทำงานโครงการ เล่าว่า วันนี้เป็นการจัดกิจกรรมเยี่ยมผู้สูงอายุและผู้พิการในระยะพึ่งพิงและประคับประคอง ซึ่งเป็นผู้พิการ ติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน โดยใช้กลุ่มผู้พิการเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างคน 2 กลุ่มได้มาเจอกัน คือ คนที่มีศักยภาพในชุมชนกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และสร้างเป้าหมายร่วมกันคือการสร้างสังคมหรือชุมชนของเราให้เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน


"ในสังคมปัจจุบันเราจะเห็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพังหรือถูกผลัก ไปไว้ในมุมเล็กๆ ของบ้านที่ไม่อยากให้ใครเห็น บ้างก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม เราจึง อยากให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการในระยะนี้มีสิ่ง ยึดเหนี่ยวในวาระสุดท้าย และการที่เราใช้คน ในชุมชนเข้าไปร่วมดูแลก็เพื่อกระตุ้นให้คน ในครอบครัวและในชุมชนเห็นความสำคัญ ในเรื่องเหล่านี้ โดยใช้มิตรภาพ ความจริงใจและ กระบวนการของชุมชนเข้าไปเสริมการทำงานภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่าง วัด รพ.สต. โรงพยาบาล เทศบาล คนในชุมชน ผู้พิการ เข้าไปทลายกำแพงและข้ออ้างของความเป็นสังคมเมือง โดยทำงาน บนเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง"


โดยเครื่องมือสำคัญนอกจากจะมี "กระบวนการของชุมชน" ที่ประสานกันอย่างกลมกลืนกับกระบวนการด้านสาธารณสุขต่างๆ ของภาครัฐ โดยมีเทศบาลตำบลชมภูให้การสนับสนุนแล้ว ยังน้อมนำ "พลังศรัทธา"ในพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการ "เปิดประตูบ้าน" ที่นำโดย พระอาจารย์ มหาอภิวัฒน์ กนตสีโล เจ้าอาวาสวัดทุ่งขี้เสือเพื่อเข้าไป "เปิดใจ" ให้ผู้ป่วยคลายความทุกข์ กังวลต่างๆ


สสส.หนุนกระบวนการชุมชน 'ตำบลชมภู' ร่วมดูแลพัฒนาผู้พิการเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


ทั้งกรณีของ คุณยายบัวเทพ อายุ 75 ปี ผู้พิการที่สูญเสียขาและมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ คุณตาดี อายุ 93 ปี ผู้ป่วยติดเตียง แกนนำ ซึ่งเป็นทั้งผู้พิการและคนปกติ เมื่อคณะทำงาน ไปถึงบ้านก็จะแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ตามความถนัด บ้างก็ไปปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดบ้านดูแลลูกน้ำยุงลาย บ้างก็ซ่อมแซมบ้านเรือนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อีกส่วนหนึ่งเข้าไปเพื่อตรวจวัดความดันสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ด้านพระสงฆ์ ก็ชวนคนป่วยและญาติร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระ เพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วย รวมถึงการให้ คำแนะนำต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นเท่าที่จะทำได้ของแต่ละครอบครัว


หลังจากนั้นทางคณะทำงานก็จะนัดหมายพร้อมชักชวนผู้ดูแล-ญาติ-แกนนำ มาร่วมทำกิจกรรม "ไพ่แห่งชีวิต" ซึ่งเป็นเครื่องมือ ที่ทำให้เรื่องของ "ความตาย" ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันได้โดยง่าย ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละคน เพื่อสร้างการเรียนรู้ การเตรียมตัว และการปล่อยวาง เพื่อให้ผู้ป่วยได้คลี่คลาย "ปม" บางอย่างในหัวใจ และพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบและมีความสุข


สสส.หนุนกระบวนการชุมชน 'ตำบลชมภู' ร่วมดูแลพัฒนาผู้พิการเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


นางมัลลิกา ตะติยาพรพันธ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมนี้นอกจากการ ไปเยี่ยมบ้านแล้วยังเป็นเรื่องของการเตรียมตัวที่จะตายดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะคุยกับครอบครัว และผู้ป่วยโดยตรง เราจึงต้องใช้เครื่องมือ ไพ่แห่งชีวิต ที่จะแจกไพ่ให้กับทุกคนที่เล่นเกม ไพ่แต่ละใบก็จะมีคำถามมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยและความตาย อาทิ หากคุณ ล้มป่วยติดเตียง คุณอยากให้ใครมาดูแลคุณ หรือ ถ้าคุณต้องตายวันพรุ่งนี้จะจัดการทรัพย์สินของคุณ อย่างไร ใครที่หยิบได้ไพ่ใบไหนก็ตอบคำถามนั้น


"การได้ฟังคำตอบต่างๆ จะทำให้ญาติและ ผู้ป่วยได้รับมุมมองแนวคิดในการเตรียมพร้อม ที่จะจากไปจากคนอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญก็คือการได้เรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านั้น และทำให้ผู้ป่วยสามารถที่จะอยู่กับความกลัวต่างๆ ให้น้อยที่สุด และปล่อยวางทุกอย่าง นอกจากนี้การที่มีพระสงฆ์นำไปเยี่ยมบ้านก็จะช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถออกไปวัดได้รำลึกถึงบุญกุศลที่เคยทำ ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้ผู้ป่วยพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ"


นางสุพรรณ ยาประเสริฐ จาก รพ.สต. บ้านท่าต้นกวาว บอกว่าการทำงานในลักษณะนี้ มีข้อดีกว่าระบบการทำงานแบบเดิมคือ ทำให้เกิดแนวทางการและการประสานการช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วยหรือผู้พิการจากทุกหน่วยงานได้ตรงจุด และเห็นผลเป็นรูปธรรม สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากคนอื่นๆ ในชุมชน และทำให้ภาระงานของ รพ.สต.ลดลง ซึ่งการที่มีพระไปเยี่ยมด้วยก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะ ผู้ป่วยติดเตียงหลายคนไม่ได้มีโอกาสได้ไปวัดเลย การที่พระมาหาถึงบ้านก็จะสามารถช่วยในเรื่องของจิตใจได้เป็นอย่างดี


ด้าน นายอนันต์ ชัยมงคล และ นางวิทมล ปันทะนัน ที่ทั้งคู่ถึงแม้จะเป็นผู้พิการแต่ก็มาเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนอย่างสม่ำเสมอกล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า อยากให้สังคมได้เห็นว่าคนพิการก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกับคนปกติ ถึงตัวจะพิการแต่หัวใจไม่ได้พิการ เราสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ตามศักยภาพที่เรามี สิ่งสำคัญคือทำแล้วมีความสุขที่ได้เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น


นางวิทมล ปันทะนัน กล่าวว่า "การที่คนพิการออกไปเยี่ยมนอกจาก จะสร้างกำลังใจให้ตัวเราเองจากการได้ไปเห็นคนที่เขาลำบากกว่าเราแล้ว อีกมุมหนึ่งคนป่วย และญาติก็จะได้มีกำลังใจ เพราะว่าเขาได้เห็นคนพิการที่ลำบากกว่าเรา เขายังมาช่วยเหลือ มาดูแลเราได้เลยทำไมเราจะดูแลญาติเรา ไม่ได้" 


นายอนันต์ ชัยมงคล กล่าวว่า "ผมได้ไปอบรมเรื่องการดูแล care giving ก็จะเข้าไปเช็ดตัวทำแผลต่างๆ ให้ผู้ป่วย ก็จะไปช่วยสอนให้ญาติดูแลผู้ป่วยได้ถูกต้อง เพราะตัวเองก็มีญาติที่ติดเตียงจึง เข้าใจหัวอกผู้ดูแล ซึ่งการรวมกลุ่มแบบนี้ทำให้ ชุมชนของเรามีความรักมีความสามัคคีเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่กันมากขึ้นกว่าเดิม" 


นางกัลยาณี อุปราสิทธิ์หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขเทศบาลตำบลชมภู กล่าวว่า ทางเทศบาลตำบลชมภูให้การสนับสนุน ทางศูนย์บริการคนพิการฯ ในทุกเรื่องๆ เพราะ ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลกลุ่มคน ผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชนมาโดยตลอด จนได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานต่างๆ มาอย่างมากมาย ซึ่งการทำงานร่วมกับชุมชน และศูนย์บริการคนพิการ ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจ ของทางเทศบาลฯในการร่วมกับสมาชิก ในชุมชนแห่งนี้ขับเคลื่อนนโยบายตำบลชมภูน่าอยู่มุ่งสูงเมืองสีเขียว 


สสส.หนุนกระบวนการชุมชน 'ตำบลชมภู' ร่วมดูแลพัฒนาผู้พิการเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


ความร่วมแรงร่วมใจที่มีจุดเริ่มต้น จาก "พลัง" ที่ต้องการพิสูจน์ตนเองของ "ผู้พิการ" ในตำบลชมภู ได้กลายเป็นเครื่องมือ สำคัญในการประสานความร่วมมือและการ สนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่ และจากหน่วยงานภายนอก จนเกิดเป็น "พลังชุมชน" และ "กระบวนการชุมชน"ที่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านร่างกาย สามารถทลายกำแพง รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ในสังคมลงได้ และยังทำให้สมาชิกทุกคนมีจุดมุ่งหมายร่วมที่สำคัญคือ…การสร้างชุมชนและสังคมแห่งนี้ให้น่าอยู่ เป็นชุมชนที่เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และ ก้าวไปสู่การเป็นชุมชนตำบลชมภูที่ไม่ทอดทิ้ง ใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

 

Shares:
QR Code :
QR Code