สสส. สานพลังภาคี เตือนภัย “4 หลุมดำ” มอมเมาเด็กไทย มุ่งป้องเยาวชนจากเหล้า-พนัน-บุหรี่ไฟฟ้า-ยาเสพติด
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เตือนภัย “4 หลุมดำ” บุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา-เหล้ากระป๋อง 20 บาท-พนันสล็อต 5 บาท-กัญชาพันลำ มอมเมาเด็กไทยเป็นเหยื่อหน้าใหม่ หลอกให้เสพติดตั้งแต่เล็กไปจนโต เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาตินี้ สสส. เร่งสานพลังภาคี เดินหน้าปกป้องเยาวชน ห่วงนโยบายเปิดเสรีสิ่งมอมเมา อบายมุข ตกเด็กไทยเข้าหลุมพราง
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ 16 ก.ย. 2567 ที่ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “4 หลุมดำ ที่เด็กเยาวชนไทยอาจจะตกหลุม (พราง)” เมื่อสังคมมีหลุมดำ พรางไว้ให้เด็กตก เราจะสร้างทางรอด เพื่อให้เป็นทางออก ที่ปลอดภัยได้อย่างไร
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในเด็กและเยาวชนนับเป็นสิ่งกัดกร่อนต้นทุนทางชีวิตที่ไม่สามารถประเมินความสูญเสียได้ ทั้งบุหรี่ แอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด และพนัน ถือเป็นหลุมดำที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุดถึง 26.1% ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs) 14.6% คิดเป็น 2,817,347 ปีของการสูญเสียทั้งหมด รองลงมาคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ แม้การดื่มสุราในเยาวชนมีแนวโน้มลงลงจาก 29.5% ในปี 2558 ลดเหลือ 20.9% หรือ 1.9 ล้านคน ในปี 2564 แต่ยังพบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมาจากการดื่มแล้วขับในช่วงเทศกาลสูงถึง 33.06% ทำให้ผู้ขับขี่และผู้ที่อยู่ในยานพาหนะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 25.09% ขณะที่การพนัน ในปี 2566 มีคนรุ่นใหม่อายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่สูงถึง 700,000 คน ที่ติดการพนันมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า และใช้สารเสพติดสูงกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า การเล่นพนันมีผลต่อสมองของเด็ก ยิ่งเล่นยิ่งติดจนขาดความยับยั้งชั่งใจ ส่งผลให้กลายเป็นคนลักขโมยเพราะต้องการเงินไปเล่นพนัน อีกทั้งกลยุทธ์ส่งเสริมการขายผ่านสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็วทำให้เด็กและเยาวชนถูกหลอกหลวงได้ง่ายขึ้น
“เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 ก.ย. นี้ สสส. มีความมุ่งมั่นในจุดยืนสร้างเสริมสุขภาวะในเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลอบายมุขทั้ง 4 ด้าน โดยเร่งสานพลังภาคีเครือข่ายทำงานเชิงรุก ทั้งขับเคลื่อนนโยบาย พัฒนาวิชาการ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และมุ่งทำงานเชิงพื้นที่ ตามยุทธศาสตร์ สานสามพลัง 1.สร้างสร้างเป้าหมายร่วมกัน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความรอบรู้ทางสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด พนันออนไลน์ 2.พัฒนานวัตกรรมและชุดการเรียนรู้ให้เท่าทัน ทั้งในโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น 3.วางแผนกลยุทธ์การสื่อสารเชิงรุกทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง 4.เชื่อมร้อยการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในการป้องกันนักสูบ/นักดื่ม/นักพนันหน้าใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างเกราะป้องกันเยาวชนให้เติบโตอย่างปลอดภัย ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ตกเป็นเหยื่อ 4 หลุมดำอีกต่อไป ช่วยสร้างให้เกิดสังคมปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของเด็กและเยาวชน” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กไทยต้องเผชิญกับภัยและความเสี่ยงใหม่ที่น่ากลัว 4 หลุมพราง คือ 1.บุหรี่ไฟฟ้า ในรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา หรือ toy pod เป็นบุหรี่ไฟฟ้าประเภทใช้แล้วทิ้งที่มีรูปลักษณ์เหมือนอาร์ตทอย ตุ๊กตา กล่องน้ำน้ำผลไม้ และเครื่องเขียน จนแยกไม่ออกจากของเล่นจริง มีสีสันสดใส กลิ่นหอมหวาน ทำให้เด็กอาจเข้าใจผิดได้ว่าไม่อันตรายและเลือกมาสูบ 2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบเหล้ากระป๋องหรือค็อกเทลกระป๋องราคาถูกแค่ 20 บาท วางขายในร้านแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ซึ่งมีแอลกอฮอล์สูงถึง 4-5% 3.กัญชา ผ่านช่องทางออนไลน์มีการขายและส่งเสริมการขาย ‘กัญชาพันลำ’ หรือกัญชามวนสำเร็จรูป พร้อมขายและพร้อมส่งเป็นจำนวนมากหลายร้าน ส่งทั้งทาง Grab และขนส่งเอกชน 4.การพนัน เว็บพนันหันมามุ่งเป้าเด็ก โฆษณาเงินเดิมพันหรือขั้นต่ำในการเริ่มเล่นที่ 5-10 บาท ใช้กลยุทธ์การตลาดการ์ตูนสร้างรูปแบบพนันสล็อตให้เหมือนการเล่นเกมการ์ตูนเพื่อดึงดูดใจเด็ก ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน ต้องระมัดระวังสอดส่องดูแลเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ 4 หลุมพราง ที่ทั้งทำร้ายทำลายชีวิตของเด็กไทย
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ขณะนี้เด็กและเยาวชนไทยได้รับการมอมเมาเพื่อให้หลงไปเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ผลสำรวจ Global Youth Tobacco Survey (GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา พบเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 17.6% โดยเฉพาะเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 15% มากกว่าการสูบบุหรี่มวนหลายเท่าตัว มีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าตามตลาดนัด และสื่อออนไลน์ที่เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในเยาวชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญปราบปรามการลักลอบนำเข้าและการขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายให้หมดไปจากสังคมไทย เพื่อปกป้องเด็กไทยรุ่นใหม่ให้ปลอดภัยจากสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้า
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบเยาวชนอายุ 15-19 ปี เป็นนักดื่มหน้าใหม่ถึง 9.6% ในจำนวนนี้ 24.3% เป็นนักดื่มประจำ ที่อาจมีแนวโน้มดื่มจนติดตั้งแต่อายุยังน้อย แม้มีกฎหมายห้ามขายแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่ไม่สามารถปกป้องการเข้าถึงของเด็กได้ โดยเด็กมีโอกาสดื่มในงานวันเกิด งานเลี้ยง งานประเพณีในชุมชน และมีกลุ่มเพื่อน เพื่อนรุ่นพี่ เป็นปัจจัยสำคัญ รวมทั้งหาซื้อได้ง่าย มีราคาถูก สะท้อนว่า ปัจจัยแวดล้อมมีผลต่อการดื่มของเด็กมากกว่าเรื่องความรู้ วิจารณญาณส่วนบุคคล โดยเฉพาะอิทธิพลจากการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างค่านิยมการดื่มเป็นเรื่องปกติผ่านสื่อออนไลน์ เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เด็กตกอยู่ในหลุมดำของภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น
นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น ผู้จัดการมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์ผู้ใช้เสพยาเสพติดในไทย โดยสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุขปี 2567 พบผู้ใช้สารเสพติดถึง 1.9 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน ขณะนี้มีเยาวชนที่กระทำความผิดในคดียาเสพติดในระบบยุติธรรม 12,602 คน จุดเริ่มต้นของการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เริ่มจากสูบบุหรี่ วงแอลกอฮอล์ และทดลองใช้พืชเสพติดทั้งใบกระท่อมและกัญชา โดยกัญชากลายเป็นสารเสพติดที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด คนไทย 1 ใน 5 คน เคยใช้กัญชา ส่วนใหญ่เพื่อนันทนาการ ส่งผลให้เยาวชนอาจยกระดับพฤติกรรมไปสู่การใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย และมีเสี่ยงที่เข้าสู่วงจรผลประโยชน์ของธุรกิจสีเทาและยาเสพติด
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ขณะนี้ประมาณการว่ามีคนไทยติดการพนันเกิน 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ราว 10% เป็นเด็กและเยาวชน เมื่อติดพนันแล้วเลิกยาก ธุรกิจการพนันพยายามทะลุทะลวงเข้าหาเด็กอายุน้อยลง พบอายุน้อยสุดที่เริ่มเล่นพนันอยู่ที่ 6 ขวบ ซึ่งยังเป็นเด็กวัยอนุบาล สาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวของเว็บพนันออนไลน์ ด้วยกลยุทธ์ ‘ล่อ ลวง พราง’ ล่อด้วยเงินรางวัลเป็นช่องทางหารายได้ วางกับดักไปทุกแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ ลวงว่าได้ง่ายจ่ายจริง ใช้สารพัดวิธี ทั้งการใช้คำพูด ใช้ตัวบุคคลที่คุ้นเคย เช่น เพื่อนวัยเดียวกัน คนใกล้ตัวเด็ก รวมทั้งอินฟลูเอ็นเซอร์ในโซเชียลมีเดีย ร่วมกันให้ข่าวลวงแก่เด็ก และพยายามพรางตัวว่าไม่ใช่การพนัน แต่อ้างเป็นรูปแบบเกมอินเทอร์เน็ต การชวนลงทุน รวมทั้งพรางตัวไม่ให้ AI ตรวจจับได้ ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มการพนันในสังคมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะกลายเป็นการเปิดหลุมดำบนดินที่เพิ่มพื้นที่เสี่ยงแก่เด็กและเยาวชน