สสส. สานพลังภาคี ขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะกลุ่มภาคประชาสังคม พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ลดแอลกอฮอล์ บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า เอื้อสุขภาพดี
ที่มา: งานประชุมเชิงปฏิบัติการ “ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม”
อึ้ง ! ประชากรโลกเสียชีวิตจากการป่วยโรค NCDs อันดับ 1 สาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยง สูบบุหรี่จัด-ดื่มแอลกอฮอล์หนัก-ออกกำลังกายน้อย-เน้นรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม สสส. สานพลังภาคี ขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะกลุ่มภาคประชาสังคม พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ลดแอลกอฮอล์ บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า ช่วยคนวัยทำงานมีสุขภาพดี
ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคม” พร้อม Kick off การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุข ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมด้านสุขภาพให้บุคลากร นำไปสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดี 4 มิติ ได้แก่ กาย จิตใจ ปัญญา สังคม ตามแนวทางความสุข 8 ประการ (Happy 8) แนวทางการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. พร้อมทั้งร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ภาคประชาสังคมยุคใหม่ใส่ใจสุขภาวะ ผนึกกำลัง “ลด แอลกอฮอล์ บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า ภาคประชาสังคมและภาครัฐ มุ่งร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ชุมชน และสังคม ตามเจตนารมณ์ของแต่ละองค์กรโดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งบทบาทเหล่านี้มีความสำคัญในการสร้างสรรค์พลังแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย การทำงานของภาคประชาสังคมที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับสถานการณ์และปัญหาที่ซับซ้อนในประเด็นการทำงานที่หลากหลาย เช่น ทรัพยากรในการทำงานไม่เพียงพอ พื้นที่ทำงานที่ห่างไกล เกิดช่องว่างระหว่างรุ่น (Generation Gap) รวมถึงเงื่อนไขด้านแหล่งทุน
“องค์กรภาคประชาสังคมจะต้องหาเงินงบประมาณดำเนินการเพื่อความอยู่รอดขององค์กร อีกทั้งยังขาดแรงจูงใจในการทำงานอย่างมืออาชีพ เช่น ไม่ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมในขณะที่ทำงานเพื่อส่วนรวม จึงส่งผลต่อแรงกดดันและพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามมา ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม การดูแลสุขภาพ ปัญหาความเครียด อันส่งผลต่อสุขภาพจิต การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้คนทำงานในกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กลุ่มภาคประชาสังคมจะร่วมเรียนรู้ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาวะองค์กร “ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม” ด้านสุขภาพให้กับคนทำงานให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีขึ้น” ดร.วิจารย์ กล่าว
นางภิญญา จำรูญศาสน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคม มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 42 กำหนดหน้าที่ภาครัฐให้ส่งเสริมความเข้มแข็งกับองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อเป็นพลังทางสังคมที่มีส่วนร่วมและบทบาทการเป็นหุ้นส่วนในการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนสังคม สร้างความเป็นธรรม และการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม นำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แต่ปัจจุบันยังขาดกฎหมายที่สนับสนุน ส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรภาคประชาสังคม และขาดกลไกการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคส่วนอื่น
“กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคม ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะ กลุ่มภาคประชาสังคมอันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงาน ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ ให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะอย่างต่อเนื่องยั่งยืน” นางภิญญา กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยใช้แนวคิด Healthy Workplace Framework ขององค์การอนามัยโลก พัฒนาคนในองค์กรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการขยายผลแนวทางสุขภาวะองค์กร ร่วมสร้างเสริมสุขภาพปรับมุมมองระบบการดูแลสุขภาพเป็นการ “สร้างเสริม” เพื่อลด “ซ่อมสร้าง” เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดียิ่งขึ้น จากสถานการณ์ด้านสุขภาพปัจจุบัน พบว่า สาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลกและไทยเกิดจากโรค NCDs และผลกระทบจากปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ อันดับ 1 เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ กิจกรรมทางกาย การบริโภคอาหาร การดื่มสุรา สสส. จึงเดินหน้าสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรตามแนวคิด Happy Workplace แนวทาง Happy 8 และเป้าหมายสร้างเสริมสุขภาพ (7+1) สสส.นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนทำงาน และผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ