สสส. สานพลังภาคี ขับเคลื่อน “ชุมชนล้อมรักษ์” สร้างพื้นที่ปลอดภัยไร้นักเสพหน้าใหม่

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    สสส. เดินหน้าสานพลังภาคี ขับเคลื่อน “ชุมชนล้อมรักษ์” พื้นที่อีสานตอนบนด้วยกลไก พชอ. ชูโครงการต้นแบบพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงในเด็ก 10-15 ปี ต.นาพู่ จ.อุดรธานี สร้างพื้นที่ปลอดภัยไร้นักเสพหน้าใหม่ ด้านอดีตผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้สารเสพติด เผยผลกระทบเสพยาหนัก หูแว่ว หลอน เดินเท้าข้ามจังหวัด ปีนขึ้นหลังคา ชุมชนยื่นมือช่วยดูแลพาเข้าสู่การบำบัด

                    วันที่ 2 ก.ค. 2567 ที่โรงแรม พูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (เขตสุขภาพที่ 7-8) โดยใช้ กลไก พชอ. กระจายอำนาจส่วนกลางสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และเพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน

                    โดย นายพิทยา จินาวัฒน์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สสส. จัดเวทีสานพลังชุมชนล้อมรักษ์ครบทั้ง 6 พื้นที่ภูมิภาค มีการระดมความคิดเห็นจากหลากหลายภาคีเครือข่าย ภาคประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ นำประสบการณ์ของแต่ละชุมชนมาแลกเปลี่ยนกระบวนการทำงานป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งกันและกัน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นการป้องกันแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมคือทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ชุมชนของตนเองปลอดจากยาเสพติด สสส. ได้สนับสนุนและเป็นจุดผสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน สานพลังการขับเคลื่อนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคมและประเทศให้ปลอดจากยาเสพติด พร้อมหนุนเสริมกระบวนการทำงานชุมชนล้อมรักษ์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การทำงานด้านป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ลบภาพที่ชุมชนเคยหวาดกลัวยาเสพติด กลับกลายมาเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมีหลักการเดียวกันนั่นคือใช้ชุมชนเป็นรากฐานที่มั่นคง

                    นายณรงค์ จีนอ่ำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานของ พชอ. เพื่อเป็นกลไกบูรณาการระบบสุขภาพในระดับพื้นที่อำเภอ ให้สามารถนำภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันพัฒนาโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในประเด็นปัญหายาเสพติดได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในปี 2566 ได้ดำเนินงานโครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอครอบคลุมทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตหรือแก้ไขปัญหาสุขภาวะในระดับอำเภอ 3,432 โครงการ ดูแลกลุ่มเปราะบาง 14,991,833 คน แบ่งเป็น 1.การป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 2.การดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้และผู้เปราะบาง 3.การลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน 4.การส่งเสริมอาหารปลอดภัยและเกษตรปลอดสารเคมี 5.การลดและป้องกันยาเสพติด 6.การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม 7.การดูแลคุณภาพชีวิตแม่และเด็ก

                    นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งเสพติดในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศครั้งนี้ มีความสำคัญเปรียบเสมือนเมื่อมีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำที่ดี จะทำให้การบูรณาการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเชื่อมกับกลไก พชอ.และ CBTx เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและภาคีเครือข่าย แก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการในทุกมิติ รวมทั้งสื่อสารสังคมเพื่อให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของกระบวนการชุมชนแก้ไขปัญหายาเสพติด และคนทำงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การให้โอกาสผู้ติดยาเสพติด ทั้งนี้ เวทีสานพลังทั้ง 6 พื้นที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่นโยบายการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน ต้องมีการสร้างเครือข่ายเพื่อให้มีร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการกลับไปเสพซ้ำหรือป่วยซ้ำ ซึ่งแนวทางนี้ตอบโจทย์การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลจากกระบวนการนี้

                    นายอภิสิทธิ์ สุขวงศ์ กำนัน ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี และประธานโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดในเด็ก 10-15 ปี ของตำบล กล่าวว่า ต.นาพู่ มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดพอสมควร ปัญหาต่อมาคือทำให้มีผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดตามมาด้วย จึงทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังการปราบปรามไปพร้อมกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการ ทำควบคู่กันไปทั้ง 2 มิติ โดยเริ่มต้นจากการสแกนหาผู้เสพหรือผู้ใช้ยาเสพติดให้เข้าสู่ระบบการบำบัดที่โรงพยาบาล เมื่อดีขึ้นจะนำกลับมาให้ครอบครัว ชุมชนช่วยกันดูแล ในขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ต.นาพู่ ห้วงวัย 10-15 ปี ซึ่งถือเป็นวัยที่มีการอยากรู้อยากลองมาอยู่ร่วมกันและทำกิจกรรม เน้นการสอดแทรกให้ความรู้พิษภัยยาเสพติดและปัจจัยเสี่ยงต้นทางที่อาจนำไปสู่วังวนเหล่านี้ทั้ง บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เหล้า โดยมีครอบครัว ชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยกัน เพื่อสานสัมพันธ์และสร้างความเหนียวแน่นในการสร้างเครือข่ายเยาวชนขึ้นมาเป็นผู้นำในชุมชนต่อไปรุ่นสู่รุ่น

                    นายสุพจน์ ดีมา อายุ 44 ปี ผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด หมู่ 10 ต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนเข้าสู่วังวนของยาเสพติด เริ่มจากติดสุรา และถูกเพื่อนชักชวนให้ใช้ยาเสพติด จนเสพยาหนักกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช เกิดอาการหูแว่วตลอดเวลา บางทีก็เดินเท้าออกจากบ้านไปตามถนนในหมู่บ้าน เดินตามทางรถไฟ หนักสุดถึงขั้นเดินจากอุดรธานีไปเกือบถึงหนองคาย หรือแม้กระทั่งปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้านและลงมาไม่ได้ เพราะได้ยินตลอดว่ามีคนคอยสั่งให้ทำ จนคนในชุมชนหวาดระแวง ครอบครัวไม่สบายใจ จนมี อสม. คนในชุมชนช่วยกันนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดที่โรงพยาบาล รักษาจนอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ครอบครัวกลับมามีความสุข คนในชุมชนไม่ต้องหวาดระแวง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีทั้ง รพ.สต. อบต. อสม. คนในชุมชนให้โอกาสผมเข้ารับการบำบัดและได้กลับตัว สร้างคุณค่า กลับมาใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติสุข

Shares:
QR Code :
QR Code