สสส. สานพลังภาคีฯ ผลักดัน “ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ควบคู่สิ่งแวดล้อม-สุขภาพที่ยั่งยืน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. – บพข. สานพลังภาคี ผลักดันการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ต้นแบบการท่องเที่ยวสีเขียวของประเทศ พัฒนาการจัดการทรัพยากร-ระบบจัดซื้อจัดจ้าง-เมนูอาหารคาร์บอนต่ำ กระตุ้นการท่องเที่ยวคุณภาพ ควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 5 – 6 ก.ย. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานยกระดับบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพอุทยานแห่งชาติสีเขียวสู่ระดับสากล ณ อุทยานแห่งชาติแม่วาง และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า จากผลกระทบภาคการท่องเที่ยวในอดีตที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวมุ่งใส่ใจสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม วัฒนธรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Development) การท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Green and Health Tourism) จึงเป็นการท่องเที่ยวกระแสหลักในอนาคตของประเทศ สสส. ร่วมกับ บพข. สนับสนุนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามเส้นทางการท่องเที่ยวของกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มุ่งสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เน้นการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว และสร้างจิตสำนึกทางการท่องเที่ยว
“บทเรียนในการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นต้นแบบที่ดีในการนำไปพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล ซึ่งทาง สสส ได้เข้าไปมีส่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่ 2 ดอย 1 ผา ในจังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างแผนการท่องเที่ยวแบบบูรณาการระหว่างจังหวัดที่ติดกัน และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างเมืองหลัก เมืองรอง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลสามารถนำไปขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวต่อไปได้”
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า บพข. เล็งเห็นว่า การท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นกลไกสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การสนับสนุนให้การท่องเที่ยวสีเขียวเป็นตัวสร้างรายได้ใหม่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายที่สูงขึ้น และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญกับสุขภาพขณะท่องเที่ยวด้วย โดยมี สสส. เป็นภาคีสำคัญสร้างให้เกิดการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพอุทยานแห่งชาติสีเขียวสู่ระดับสากล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วางและอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีเป้าหมายยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติสีเขียวต้นแบบ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และพื้นที่เครือข่ายอุทยานแห่งชาติสีเขียวอีก 9 แห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ และอุทยานแห่งชาติเขาค้อ
ผศ.ดร.สุขทัย พงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ทั้งหมด 301,184 ไร่ มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ 269,539 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq/ปี) มีสถิตินักท่องเที่ยวที่มาเยือนในปีงบประมาณ 2565 ถึง 439,165 คน มีความต้องการพื้นที่ป่าไม้ที่ใช้ดูดซับก๊าซเรือนกระจก 6,037 tCO2eq หรือ 38,000 ไร่ ที่ผ่านมาหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีวิสัยทัศน์พัฒนาการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมชุมชนภายใต้สังคมคาร์บอนต่ำ เข้าร่วมประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ทำให้ทราบปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่แนวทางลดปริมาณการปลดปล่อย ด้วยการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่พัสดุเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์และทรัพยากรที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม (Environmental Labels) 17.24% การใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าตะกร้าเขียว 6.90% การคัดแยกขยะ รวมถึงในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าและร้านอาหารบริเวณอุทยาน ที่ได้มีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมประกอบอาหาร และการจัดทำเมนูอาหารคาร์บอนต่ำ (Sustainable Menu) ของแต่ละร้านค้าอีกด้วย