สสส. สานพลังคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เจาะข้อมูลภัยคุกคามทางออนไลน์ พบคนไทย 36 ล้านคน ถูกลวง ค่าความเสียหายเกือบ 50,000 ล้านบาท
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส.-คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เจาะข้อมูลภัยคุกคามทางออนไลน์ พบ ปี 66 คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ มูลค่าความเสียหายราว 50,000 ล้านบาท แนะหน่วยงานร่วมออกแบบสังคมปลอดภัย รับมือภัยคุกคามออนไลน์
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 ที่ รร.แมนดาริน สามย่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายจัดการประชุมวิชาการภัยคุกคามทางออนไลน์ สถานการณ์ ผลกระทบ และแนวทางรับมือ
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากงานวิจัยโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2566 พบว่า ประชากรไทยกว่า 36 ล้านคน เคยถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ กว่า 50% ตกเป็นผู้เสียหาย ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก หากวิเคราะห์โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 4 ช่วงวัย ทำให้เห็นความเสี่ยง และผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น กลุ่ม Gen Z แม้จะรู้วิธีการป้องกันความเสี่ยงจากภัยออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่น แต่มีอัตราการตกเป็นผู้เสียหายสูงกว่าคนกลุ่มอื่น
“สังคมมองภาพผู้เสียหายว่า โลภ หลง และไม่ระวัง ถือเป็นการซ้ำเติม ผู้เสียหายมักโทษตัวเอง กลัวถูกคนใกล้ชิดตำหนิ กล่าวโทษ ทำให้ไม่กล้าบอกครอบครัว หรือคนรอบข้าง กลายเป็นความเครียด หวาดกลัว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม โลกออนไลน์มีทั้งคุณประโยชน์และโทษ เช่น อาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ สสส. จึงได้ริเริ่ม ผลักดัน สานพลังการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมแก้ไขปัญหา โดยสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัย การออกแบบวิธีการรับมือกับภัยคุกคามออนไลน์ สร้างความรู้เท่าทันสถานการณ์ และส่งเสริมการปราบปรามที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี” นายวิเชษฐ์ กล่าว
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ของประชากรไทยอายุ 15-79 ปี ระหว่างวันที่ 21 ก.ค.- 31 ส.ค. 2566 รวม 6,973 ตัวอย่าง จาก 24 จังหวัด พบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคนถูกหลอกลวงออนไลน์ในรอบปี 2566 ในจำนวนนี้เกินครึ่งหรือประมาณ 18.37 ล้านคน ตกเป็นผู้เสียหาย โดยคน gen Y เป็นกลุ่มถูกหลอกที่มีจำนวนผู้เสียหายมากที่สุดและมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ประเภทการหลอกลวงที่พบจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายมากที่สุดอยู่ในกลุ่มซื้อสินค้าออนไลน์และหลอกให้ลงทุน ลำดับถัดมาคือ หลอกรับสมัครงาน/ให้ทำงานออนไลน์/ทำภารกิจออนไลน์ หลอกว่ามีพัสดุตกค้าง หลอกเป็นคนรู้จักโดยปลอมหรือแฮคบัญชีหรือหลอกว่าคนรู้จักกำลังมีปัญหา หลอกให้กู้/แอปเงินกู้ผิดกฎหมาย หลอกเรียกเก็บเงิน/อ้างว่าค้างจ่ายค่าบริการต่างๆ หลอกให้รักออนไลน์ ด้านอัตราการตกเป็นผู้เสียหาย คือในคนถูกหลอก 100 คน หลอกสำเร็จ-ตกเป็นผู้เสียหายกี่คน พบว่า การหลอกลวงทำงานต่างประเทศโดยให้โอนเงินค่าประกันหรือค่าดำเนินการพบอัตราการตกเป็นผู้เสียหายมากที่สุด 35.6% มีมูลค่าความเสียหายต่อคนมากที่สุด 31,714 บาท
ปี 2566 ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่าประมาณ 49,845 ล้านบาท เฉลี่ย 2,660.94 บาท/คน นอกจากนั้นผู้เสียหายยังได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมา ทั้งปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง กลัวถูกคนใกล้ชิดกล่าวโทษจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาขาดความเชื่อมั่นต่อการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ เช่น ไม่กล้ารับเบอร์แปลก/เบอร์ที่ไม่รู้จัก/ไม่มีในรายชื่อ เลี่ยงการใช้แอปพลิเคชันที่มีการให้กรอกข้อมูลส่วนตัว กังวลในการซื้อสินค้าออนไลน์/ซื้อสินค้าออนไลน์น้อยลง และอื่นๆ ที่สำคัญคือปัญหาสุขภาพจิต ตั้งแต่การโทษตัวเองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 61.3% หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กลายเป็นคนที่หวาดกลัวต่อการดำรงชีวิต 43.9% รู้สึกสิ้นหวังและไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไป 22.6% พบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อช่วยเยียวยาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 13.5%