สสส. – ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจาก สสส.


สสส. - ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล thaihealth


แฟ้มภาพ


สสส. – ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล โชว์กระบวนการอาสาสมัครให้คำปรึกษา 3 ขั้น ช่วยญาติ-ผู้ต้องหาเกิน 3,500 คดี ลดทำผิดซ้ำ 99% หนุนสนง.ศาลยุติธรรมกำหนดเป็นนโยบาย แก้ปัญหาคนล้นคุกอย่างยั่งยืน ต่างชาติเสนอไทยทำต่อไป


วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ที่ศาลอาญาธนบุรี จัดกิจกรรมศึกษาดูงานคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลอาญาธนบุรี จัดโดย ศาลอาญาธนบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และภาคีเครือข่าย โดยมีคณะสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่จากองค์กรการให้บริการทางสุขภาพและการติดสารเสพติด (The Substance Abuse and Mental Health Services Administration) ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วย


สสส. - ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล thaihealth


นายจาตุรงค์ สรนุวัตร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาบุรี กล่าวว่า ศาลอาญาธนบุรีเป็นศาลแรกที่มีการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล จวบจนปัจจุบันนับเป็นเวลา 10 ปี เฉพาะศาลอาญาธนบุรีมีผู้เข้ารับคำปรึกษารวมทั้งสิ้นประมาณ 10,000 คน ซึ่งเมื่อผ่านการรับคำปรึกษาแล้ว พบว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยกลับมากระทำผิดซ้ำเพียงร้อยละ 0.2 ปัจจุบันมีศาลดำเนินการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมเช่นเดียวกันอีก 8 ศาล โดยมีศาลอาญาธนบุรีเป็นพี่เลี้ยง ได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดปทุมธานี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลจังหวัดลำพูน และศาลจังหวัดเกาะสมุย


สสส. - ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล thaihealth


นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า คลินิกจิตสังคมในระบบศาล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 โดยดำริจากนายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญู อธิบดีผู้พิพากษาศาลในขณะนั้น ตระหนักถึงความกดดันที่ผู้ต้องหาต้องเผชิญในช่วงพิจารณาคดี ทางศาลจึงจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาลดความเครียด จากอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรม เพื่อสร้างแรงจูงใจเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางบวก โดยสสส.ได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้านวิชาการและด้านต่างๆ ร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และภาคีเครือข่าย กระทั่งเป็นแนวทางให้อีกหลายศาลปฏิบัติตาม ทั้งนี้พบว่า ผลการดำเนินงานปี 2561 เฉพาะของศาลนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลอาญาจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดปทุมธานี และศาลจังหวัดตลิ่งชัน สามารถให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและจำเลยทั้งสิ้น 3,544 คดี โดยขณะอยู่ในระหว่างเงื่อนไขของศาล สามารถลดการกระทำความผิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 99


สสส. - ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล thaihealth


ด้าน พญ.ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติจิตเวช ที่ปรึกษาสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถาบันกัลยาณ์ฯ ได้ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการอบรมอาสาสมัครคลินิกจิตสังคมในระบบศาลทั้ง 4 หลักสูตร ได้แก่ การให้คำปรึกษาเบื้องต้น การจัดการภาวะเสพติด การให้คำปรึกษาครอบครัว และการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม โดยอาสาสมัครเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานแล้ว มีความพร้อมทั้งด้านสุขภาพ เวลา สติปัญญา และมีความเมตตากรุณาช่วยเหลือผู้ที่ขาดโอกาสในสังคม โดยมีบทบาทหลักในการเป็นผู้เอื้ออำนวยและกระตุ้น (Facilitator) ให้ผู้ต้องหารู้จักสำรวจหาแรงจูงใจในการก่อคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีครอบครองเพื่อเสพ เมื่อทราบเหตุปัจจัยที่ทำให้กระทำความผิดแล้วก็จะช่วยกันค้นหาวิธีจัดการแก้ไข นอกจากนี้ผู้ให้คำปรึกษายังมีบทบาทเป็นผู้แนะแนวทางดำเนินชีวิต (Life Coach) โดยการถามกระตุ้นให้คิดถึงเป้าหมายชีวิต การกำหนดเส้นทางชีวิต ให้คำแนะนำในการศึกษา การมีอาชีพ สวัสดิการและแหล่งช่วยเหลือทางสังคม และให้กำลังใจเป็นระยะ รวมทั้งยังมีบทบาทเป็นผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต (Psycho-Educator) เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าถึงบริการสุขภาพ กรณีที่ผู้ให้คำปรึกษาเห็นว่ามีปัญหาสุขภาพเกินขีดความสามารถของคลินิกจิตสังคมแล้ว


สสส. - ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล thaihealth


ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิชาการเชิงระบบเพื่อให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาลแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า ศาลอาญาธนบุรีมีความโดดเด่นตรงที่ผู้พิพากษาเป็นผู้ให้คำปรึกษาเองตั้งแต่ต้น กระทั่งชุมชนรอบๆศาลรับรู้ถึงการมีคลินิกจิตสังคมและทยอยเข้ามาใช้บริการ และเป็นต้นแบบให้อีกหลายๆศาล เช่นที่จ.เชียงใหม่ มีการบูรณาการระหว่างศาลกับองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อส่งต่อการดูแลผู้ต้องหาที่พ้นโทษให้ได้ฝึกอาชีพ หรือแม้กระทั่งการอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องหาเดินทางมารายงานตัวตามนัด อย่างไรก็ตาม คลินิกจิตสังคมในระบบศาลถูกขยายนำไปปฏิบัติใช้จริงเพียงไม่กี่ศาลเท่านั้น แต่ในอนาคตหากสำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดเป็นนโยบาย มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน พร้อมกับบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างอาชีพหลังพ้นโทษ เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถแก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้อย่างยั่งยืน


สสส. - ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล thaihealth


ด้าน นายเคนเนท โรเบิร์ทสัน ที่ปรึกษาจากสำนักงานกิจการยาเสพติดและการใช้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ (Bureau of International Narcotics and Law Enforcement Affairs) กล่าวว่า คลินิกจิตสังคมในระบบศาลในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเมื่อปี 2523 สหรัฐฯได้เริ่มทำโครงการในลักษณะนี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหานักโทษยาเสพติดล้นคุก ซึ่งปัจจุบันมีระบบนี้อยู่ภายในศาลกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ โดยพบว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการกักขัง โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่การลดจำนวนผู้เสพ แต่ยังรวมถึงการลดผู้กระทำผิดซ้ำ ตนจึงขอสนับสนุนให้ประเทศไทยขยายโครงการดีๆแบบนี้ต่อไป 


 


สสส. - ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล thaihealth


 


สสส. - ศาลอาญาธนบุรี เปิดบ้านเยี่ยมชมคลินิกจิตสังคมในระบบศาล thaihealth


 

Shares:
QR Code :
QR Code