สสส.ร่วมสร้างชื่อ บ่มเพาะเด็กไทยให้ คิดได้ คิดเป็น
จากสถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เปรียบเทียบการใช้บริการอินเตอร์เนตบนสื่อสังคมออนไลน์ระหว่างปี 2556-2557 ระบุว่ามีการใช้งานผ่าน Facebook มาเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 93.7% รองลงมา Line86.9% Google+34% Instagram34.0% และ Twitter16.1% โดยเรื่องราวต่างๆที่ปรากฏบนสื่อออนไลน์เหล่านี้ก็มีการแชร์ต่อกันอย่างรวดเร็ว
แต่มีสิ่งที่น่ากังวลอยู่ตรงที่ว่าบางเรื่องจริงบางเรื่องลวงและเมื่อถูกส่งต่อออกไปแล้วก็ยากต่อการควบคุมซึ่ง หากผู้รับสารขาดความตระหนัก และหลงเชื่อข่าวสารผิดๆพื้นที่สื่อออนไลน์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นสื่ออันตรายโดยเฉพาะต่อเด็กเยาวชนจนเวลานี้เกิดกระแสเรียกร้องให้ “ชัวร์ก่อนแชร์” แบบนี้พอสรุปได้ว่า ข้อมูลจากสื่อเหล่านี้สร้างคนให้ฉลาดก็ได้และสร้างคนให้โง่เขลาก็ได้เช่นเดียวกัน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดีจึงได้ร่วมกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านภาคีเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์จึงได้จัด “มหกรรมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ตอนเด็กบันดาลใจ คิดได้คิดเป็น” เมื่อวันที่ 22-24พ.ค. ที่ผ่านมา ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์มักกะสัน โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน สสส. เป็นประธานเปิดงาน
โดยมีเป้าหมายหลักคือเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนของเราได้มีสื่อสร้างสรรค์ที่ดีและมีพื้นที่สร้างสรรค์ในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม
ในงานวันนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตพัฒนาทุกช่วงวัยทั้งสนับสนุนให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์และการเปิดพื้นที่สาธารณะให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และครั้งนี้รัฐบาลก็ยินดีรับข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศนโยบาย “1ชุมชน1พื้นที่สร้างสรรค์” โดยจะสานต่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติการบูรณาการหลักสูตรและการเรียนรู้สื่อสร้างสรรค์เท่าทันสื่อในทุกระดับการศึกษาทั้งในและนอกระบบขึ้นเป็นต้นซึ่งที่ผ่านมา สสส. เองก็ได้มีการผลักดันให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์แล้วกว่า 107 แห่ง ใน 38 จังหวัด โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ชุมชนต่างๆ จนเกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นด้วยว่าการพัฒนาสังคมสุขภาวะนั้นจะต้องเริ่มที่เด็ก และเยาวชนแล้วเชื่อมโยงจากเด็กไปสู่ครอบครัวครอบครัวไปสู่ชุมชน ก็จะทำให้เกิดพลเมืองในสังคมสุขภาวะ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสื่อมีอยู่หลากหลาย โดยเฉพาะสื่อภายนอก ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์วิทยุโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นช่องทางเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันพัฒนาให้เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก และเยาวชนต่อไป
ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมให้ทราบว่าสสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เป้าหมายสำคัญของการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานด้านสื่อ และพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับพ่อ-แม่ผู้ปกครอง เยาวชน ครูอาจารย์ ชุมชนท้องถิ่น ได้นำไอเดียต่างๆ ไปกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจเกิดกระบวนการสร้างสรรค์ที่จะไปต่อยอดพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในพื้นที่และชุมชนตนเอง
ด้วยเจตนาที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นกับเด็กไทยดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าสสส.และภาคีร่วมกันปักหมุดทำงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์การพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัวมาอย่างต่อเนื่องตลอด 14 ปี ด้วยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ดี เป็นเครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมพลังให้เด็กเยาวชนและครอบครัวจนเห็นผลเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง อาทิ การผลักดันพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จนมีผลบังคับใช้,การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบ,เกิดพื้นที่ทางปัญญา,แผนปฏิบัติการร่วมทั้งประเทศฯลฯ
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวทิ้งท้ายด้วยความประทับใจว่า “เพราะเราต้องการสร้างพลเมืองที่รู้เท่าทันสื่อเท่าทันโลกศตวรรษที่21เข้าใจตนเองและผู้อื่นเราหวังสร้างความเป็นพลเมืองในการใช้สื่ออย่างมีความรับผิดชอบที่สำคัญเราเชื่อว่าเด็กเป็นแรงบันดาลใจที่จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ผู้ใหญ่ในสังคมได้ในที่สุด”
ที่มา: เว็บไซต์แนวหน้า