สสส. ร่วมมือภาคีเครือข่าย รวมพลังสื่อสารสร้างสรรค์เมืองผ่าน “อาหาร” ในงาน “Young Food Fest : BetweeNext จาน ต่อ จาน”
ที่มา : เทศกาล Young Food Fest : BetweeNext จาน ต่อ จาน
เด็ก-เยาวชนทั่วไทย รวมพลังสื่อสารสร้างสรรค์เมืองผ่าน “อาหาร” ในงาน “Young Food Fest : BetweeNext จาน ต่อ จาน” เทศกาลอาหารแนวใหม่ที่ใช้อาหารเป็นเครื่องมือสะท้อนพลังเยาวชน
มากกว่าอาหารคือพลังงานขับเคลื่อนสังคม เพราะอาหารหนึ่งจานที่เรารับประทานในทุกมื้อสามารถกำหนดชีวิตของเราและกำหนดชีวิตของเมืองได้ แต่ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมกำลังเผชิญกับวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับอาหารรอบด้าน นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพที่มาจากการกินของเราในทุกมื้อ เทศกาล Young Food Fest : BetweeNext จาน ต่อ จาน จึงเป็นการรวมตัวของกลุ่มเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสื่อสารปัญหา และเสนอแนวทางเปลี่ยนแปลงต่อระบบอาหารของไทยอย่างมีพลัง เท่าทันสื่อเท่าทันสังคม ภายใต้แนวคิด “จาน ต่อ จาน” ที่เด็กเยาวชนสามารถเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จากจานเล็กๆ ของเราสู่จานของเพื่อน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ภายใต้โครงการ Young Food สนับสนุนโดย สสส. โดยความร่วมมือของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ที่เชื่อมั่นในพลังของเด็กเยาวชนในการเป็นผู้ริเริ่มสื่อสารอย่างรู้เท่าทัน มีวิจารณญาณ มีสิทธิ์มีเสียงไม่ต่างจากผู้ใหญ่ในสังคม และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ผู้เป็นสะพานเชื่อมร้อยคนรุ่นใหม่ที่อุดมด้วยพลังงานและความมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมผ่านการกลับไปพัฒนาในถิ่นที่อยู่
เทศกาล Young Food Fest มุ่งหมายให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเรียนรู้การทำงานกับชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การร่วมคิดร่วมออกแบบ การลงมือปฏิบัติจริง การเก็บข้อมูลจนไปถึงการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โดยจานอาหารหนึ่งจานของพวกเขาสามารถสะท้อนเชื่อมโยงมิติต่างๆ ทางสังคมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมิติทางวิถีวัฒนธรรม ความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เยาวชนกว่า 12 พื้นที่ปฏิบัติการจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดเรื่องราว และแบ่งปันข้อเสนอที่พวกเขารวบรวมข้อมูลผ่านกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า ความหมายของจานต่อจาน หมายถึงทั้งเรื่องความมั่นคงของอาหาร ชุมชนอาหาร ชุมของคนรุ่นใหม่และคนหลากหลายวัย จานในปัจจุบันจะสามารถต่อยอดไปถึงจานต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืนและไม่สิ้นสุด จะต้องอาศัยพลังของการเชื่อมโยงซึ่งมีเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นผู้เชื่อมโยงผ่านพลังการสื่อสาร จึงจะทำให้จานหนึ่งใบสามารถส่งต่อไปสู่จานใบอื่นๆ ที่มีความหลากหลายและหมายถึงอนาคตของชุมชนสังคมและอนาคตของโลก เทศกาลครั้งนี้ผ่านการออกแบบมาอย่างรอบคอบ มีการเตรียมการมาอย่างยาวนานในหลายฝ่ายหลายพื้นที่เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากเทศกาลอาหารทั่วไป เพราะงานนี้มีเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการคิดออกแบบและปฏิบัติการสื่อสารด้วยตัวของพวกเขาเอง ให้เห็นบทบาทว่าไม่ใช่เป็นเพียงผู้บริโภคที่ห่างไกลจากระบบอาหาร แต่สามารถบริโภคได้อย่างเท่าทันและสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกจานได้
“งานนี้จึงเป็นการตั้งคำถามต่อพลังการสื่อสารและการเชื่อมโยง เชื่อมร้อยจากตัวเราสู่ผู้อื่น สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน รวมถึงมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมในฐานะผู้ร่วมจัดงานนี้จึงอยากเห็นภาพพลังของคนรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งและลุกขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านพลังที่อยู่ในมือและจานของเราทุกคน อยากให้ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเป็นพลังคลื่นลูกถัดไป” น.ส.เข็มพร กล่าว
ด้าน นายนราธิป ใจเด็จ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กล่าวว่า งาน Young Food Fest ไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลอาหารของคนรุ่นใหม่ แต่คือเวทีสำคัญที่สังคมไทยควรหันมาฟังเสียงของเยาวชนอย่างจริงจัง เราไม่ได้พูดถึงอาหารแค่ในฐานะของกิน แต่ในฐานะของสิทธิ ความยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำ และพลังของการเปลี่ยนแปลง อาหารคือประตูสู่การเรียนรู้ การเข้าใจโลก และการออกแบบชีวิตใหม่ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องเติบโตท่ามกลางวิกฤตหลายด้าน Young Food Fest คือเวทีที่เด็กและเยาวชนได้ร่วมออกแบบอนาคต ผ่านรสชาติของการเรียนรู้ การสนทนา และการลงมือทำ เป็นเทศกาลที่คนรุ่นใหม่ ชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชนจะได้มีพื้นที่เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนร่วมกันแสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างระบบอาหารที่เป็นธรรม ปลอดภัย และมีความหมายกับทุกคนได้จริง
“มอส. ภูมิใจที่ได้ร่วมขับเคลื่อนเวทีนี้กับ สสย. และเครือข่ายในฐานะองค์กรที่เชื่อในพลังของพลเมืองเยาวชนและรุ่นใหม่ และศรัทธาในศักยภาพของการเปลี่ยนแปลงจากรากฐาน เราหวังว่าสังคมจะมองเห็น ไม่ใช่แค่สิ่งที่เด็กทำ แต่อยากชวนให้ฟังในสิ่งที่เขากำลังบอก และในฐานะองค์กรที่สร้างนิเวศน์การเรียนรู้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในทุกคำถาม ความฝัน หรือจานอาหารที่เขานำเสนอ คือบทสนทนาสำคัญว่าพรุ่งนี้เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร” นายนราธิป กล่าว
นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวถึงจุดสำคัญของเทศกาลฯ ว่า เป็นเทศกาลอาหารที่แตกต่างจากเทศกาลอาหารทั่วไป เป็นเทศกาลอาหารแนวใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยเด็กเยาวชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อจะสื่อสารเรื่องราวของอาหารจากหลากหลายพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น ทั่วประเทศ ที่เชื่อมโยงกับมิติต่าง ๆ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม ความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ให้เกิดความตระหนักและการมีส่วนร่วมต่อการดูแลรักษาระบบอาหารที่มั่นคง ปลอดภัย สำหรับทุกคน”