สสส.ร่วมมือผู้นำท้องถิ่น เดินหน้าโครงการ ครอบครัวปลอดบุหรี่

ที่มา : มติชนออนไลน์ 


สสส.ร่วมมือผู้นำท้องถิ่น เดินหน้าโครงการ ครอบครัวปลอดบุหรี่ thaihealth


เเฟ้มภาพ


การทำงานเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่ชุมชนเมืองนั้น นอกจากอาศัยกลไกภาครัฐแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนที่ท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านอัญชลี 2 ที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง จนนำมาสู่การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ในที่สุด


นายวุฒิชัย มะสี ประธานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ตำบลท่าทราย กล่าวถึงการดำเนินโครงการ "ครอบครัวปลอดบุหรี่" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ที่ผ่านมาเป็นการทำงานในรูปแบบของคณะทำงานที่ประกอบด้วยศูนย์พัฒนาครอบครัว ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ อสม. และจิตอาสาในชุมชน ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าประชาชนให้ความร่วมมือต่อโครงการนี้เป็นอย่างดี


ขณะที่ นายธนากร รัตนมณี ประธานชุมชนหมู่บ้านอัญชลี 2 กล่าวว่า ในหมู่บ้านมีสมาชิกกว่า 1,200 ครัวเรือน ซึ่งมี อสม. 44 คน ทำงานในเชิงรุกและมีความเข้มแข็ง ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญ และเข้าร่วมขับเคลื่อนเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลดีไปถึงภายในชุมชน ที่ช่วยลดปัญหาการทะเลาะกันภายในครอบครัวได้อีกด้วย และที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์โทษของการสูบบุหรี่และยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากเทศบาลนครนนทบุรี และ สสส. เป็นอย่างดี ทั้งการสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร องค์ความรู้ และสื่อต่าง ๆ


ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการชี้แจง อสม. ทุกเดือน ให้พยายามสอดส่องดูแลเรื่องของการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน หากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงก็จะหารือกับพ่อแม่ให้ช่วยกันดูแลเพื่อไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ โดยใช้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมระบุว่า จากการดำเนินโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ ทำให้มีคนลดหรือเลิกสูบบุหรี่ได้เป็นจำนวนมาก คนที่เลิกได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ตนเองมีกำลังใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะผลลัพธ์ที่กลับคืนมามีความคุ้มค่า ย้ำว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก อยากให้มีการเผยแพร่ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปด้วย และอยากให้ สสส. สนับสนุนเรื่องการจัดตั้งศูนย์ให้ปรึกษาในชุมชน เพื่อขยายผลเรื่องการช่วยเลิกบุหรี่ภายในชุมชนได้มากขึ้น


ด้าน นางประภาภรณ์ กัณฑะนาวงศ์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้านชุมชนอัญชลี 2 กล่าวว่า การทำงานเริ่มสำรวจข้อมูลว่าแต่ละซอยหรือแต่ละบ้านมีผู้สูบบุหรี่อยู่จำนวนเท่าไหร่ ในช่วงแรกถือว่าทำงานได้ค่อนข้างยากเพราะมีบางส่วนปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการ แต่เมื่อได้พูดคุยมากขึ้น มีความคุ้นเคยกัน ทางผู้สูบบุหรี่ก็มีความสนใจในการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น


จากการสอบถามข้อมูลของผู้สูบบุหรี่พบว่า คนที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่มาจากความเคยชิน ตามเพื่อน หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ หลายคนมีปัญหาภายในครอบครัวจึงใช้บุหรี่มาบรรเทาความเครียด แต่ก็มีความอยากเลิก ซึ่ง อสม. ก็ให้กำลังใจแก่คนที่ให้ข้อมูลและชี้ให้เห็นช่องทางว่า สสส. พร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ซึ่งจากการสำรวจผู้สูบบุหรี่พบกว่า กว่าร้อยละ 80 ให้ความยินดีในการเข้าร่วมโครงการ ทำให้ตนเองและ อสม. ทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ช่วยให้คนในชุมชนเลิกสูบบุหรี่ และกลายเป็นชุมชนต้นแบบในการให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ได้จริง พร้อมกันนี้ ยังรณรงค์แก่ชุมชน ให้ข้อมูลถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ หรือให้คำแนะนำในการเลิกสูบอย่างต่อเนื่องด้วย พร้อมกับให้ตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ เช่น ยาอมหญ้าดอกขาว ขณะเดียวกัน ผลของการทำงาน ทำให้คนที่เลิกบุหรี่ได้สุขภาพดีขึ้น ปัญหาครอบครัวลดลง และอารมณ์ดีขึ้นยิ้มแย้มแจ่มใส ส่งผลดีต่อทั้งตัวผู้เลิกแล้วกับครอบครัว


สุดท้ายนี้อยากให้กำลังใจแก่ อสม. ว่า ให้ยิ้มสู้เข้าไว้ คิดว่าเราเป็นคนที่ปรารถนาดี นำสิ่งดี ๆ มาให้ สุดท้ายแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นผู้เชื้อเชิญให้เราเข้าไปหาเอง เพื่อนำมาสู่การเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด


ขณะที่นายสมคิด แซ่เลี้ยง บุคคลตัวอย่างเลิกบุหรี่ได้ กล่าวว่า ตนเองสูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 15 ปี และอาศัยในหมู่บ้านอัญชลี 2 มากกว่า 20 ปี ตอนเข้าร่วมโครงการนี้ในครั้งแรกไม่ได้มีความสนใจจะเลิก แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการครั้งที่สอง และได้รับยาอมช่วยเลิกบุหรี่ ทำให้ค่อย ๆ เลิกได้ในที่สุด และเลิกได้ต่อเนื่องมาประมาณ 1 ปีแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือใจ ต้องหนักแน่นพอในการเลิกบุหรี่ พร้อมระบุว่า เมื่อเลิกสูบได้ก็ดีใจที่สามารถประหยัดเงินได้ ร่างกายมีสุขภาพที่ดีขึ้น เดินขึ้นบันไดกว่า 30-40 ขั้นได้ การหายใจดีกว่าเดิม ไม่มีกลิ่นตัวและกลิ่นปาก ไม่ต้องระแวงคนรอบข้าง พร้อมระบุว่า โครงการนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้มีคนในชุมชนเลิกบุหรี่ได้จริง จึงอยากให้มีโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากไว้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่คือ อยากให้ทบทวนดี ๆ ว่า "สูบบุหรี่ไปทำไม เพื่ออะไร" เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลไม่ดีต่อสุขภาพ


ด้านนายสัจจะ แย้มประเสริฐ บุคคลตัวอย่างเลิกบุหรี่ได้ เล่าว่า ตัวเองมีสภาพร่างกายที่เริ่มเสื่อมถอยจากการสูบบุหรี่ มีปัญหาเหนื่อยง่าย จึงเข้าร่วมโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ จนนำมาสู่การเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง ใช้หลักธรรมคำสอนมาสู่การเลิกได้ หากิจกรรมใหม่ ๆ มาทดแทนเมื่อมีความอยากสูบบุหรี่ ใช้สติจับให้เร็ว อย่าปล่อยไปตามอารมณ์ สุดท้ายก็ลดละเลิกได้ไปเอง โดยในช่วงแรกที่เลิกบุหรี่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ลิ้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เหมือนมียางเหนียว ๆ ก็จะดื่มน้ำ พร้อมย้ำว่า สติคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งโครงการนี้ได้มีเจ้าหน้าที่คอยติดตามและให้คำแนะนำเพื่อเลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่อง หลังจากเลิกบุหรี่แล้วพบว่าประหยัดเงินได้มาก นำไปซื้ออาหารที่มีประโยชน์ต่อตนเองได้มากขึ้น จากเดิมที่เคยสูบวันละซอง สามารถประหยัดได้เดือนละประมาณ 3,600 บาท และภายใน 1 ปี สามารถประหยัดเงินได้กว่า 43,000 บาท

Shares:
QR Code :
QR Code