สสส. ร่วมต่อยอด ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’


แม้การท่องเที่ยวจะสร้างความสุขให้แก่คนเรามากมาย แต่ก็มีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งจากการใช้พลังงานในการขนส่ง การอุปโภคบริโภคหรือจากกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งถูกมองเป็นหนึ่งในตัวการให้เกิดภาวะโลกร้อน


ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่หวังให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด หรือไม่ก็ให้การท่องเที่ยวนั้นเป็นไปเพื่อส่งเสริมการรักษาโลกใบนี้เอาไว้ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน


ในส่วนของการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นคำใหม่ของใครหลายคนนั้น มีสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับองค์กรที่มีภูมิหลังด้านการพัฒนาคนและองค์กรชุมชนด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนมากว่า 12 ปี เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง การเสริมสร้างสุขภาพทั้ง 4 ด้าน คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม


ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้ามาสนับสนุนสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน จัดทำโครงการสานพลังเยาวชน เสริมสร้างสุขภาวะชุมชน ร่วมลดโลกร้อน ซึ่งดำเนินการในชุมชน 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการเปิดพื้นที่ให้แก่เยาวชนได้แสดงศักยภาพและบทบาทในการเป็นแกนนำรุ่นต่อไปของชุมชน และเพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ทางวิชาการเรื่องโลกร้อน กิจกรรมในวิถีชีวิตที่ช่วยลดการใช้พลังงาน กิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน และการเสริมสร้างสุขภาพ มาบูรณาการร่วมกันในการทำงาน


หลังจากดำเนินการมาได้สักระยะหนึ่ง โครงการสานพลังเยาวชน เสริมสร้างสุขภาวะชุมชน ร่วมลดโลกร้อน ก็ได้จัดงานเพื่อนำเสนอผลงานในชื่อ “มหกรรมเยาวชนลดโลกร้อน” ณ พุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้รูปแบบการจัดงาน 7 แบบ คือ


1. ขยะลดโลกร้อน


2. สื่อสร้างสรรค์ลดโลกร้อน


3. สมุนไพร อาหารต้านโลกร้อน


4. ดูแลน้ำ ดูแลป่า เยียวยาโลก


5. โลกร้อนกับวิถีชีวิตพอเพียง


6. โลกร้อนกับพลังงานทางเลือก


7. ท่องเที่ยวลดโลกร้อน โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการออกซุ้ม กิจกรรมสาธิต และเกม


อีกหนึ่งกิจกรรมในงานนี้ คือ การเสวนาพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงานของตัวแทนเยาวชนในชุมชนต่างๆ ในหัวข้อ “ความฝัน ความงาม ความจริง ของการทำงานเยาวชน”


เริ่มจาก “กิ๊ก” รัตนา ยินดี จากกลุ่มเด็กรักป่า จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดค่าย การแสดงละครเวที การวาดภาพ โดยปัจจุบันได้เน้นพัฒนาศักยภาพในการทำหนังสั้นเพื่อโลก (ร้อน) เธอเล่าให้ฟังว่าจากการทำงานทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ได้รู้ว่าหากไม่ทำงานเป็นทีมก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ อีกทั้งยังได้เรียนรู้การใช้จินตนาการ


“เชื่อหรือไม่ว่า หนังสั้นที่พวกเราทำ มีเด็ก ป.4 อายุเพียง 10 ขวบ เป็นคนเขียนบทและร่วมแสดง และเมื่อพวกเราได้รับบทมาแล้ว ก็จะมาช่วยกันใช้จินตนาการตีความกันว่า จะหานักแสดงอย่างไร หาโลเกชั่นแบบไหน เพื่อให้ตรงกับบทที่น้องเขาเขียนมาให้มากที่สุด”


“กานต์” กานต์ชนก นะนอง อีกหนึ่งเยาวชนจากชุมชนบ้านแม่ละนา จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยใหญ่ ที่ต้องการปรับปรุงหมู่บ้านของพวกเขาให้ดีขึ้น ทั้งจัดการการท่องเที่ยวที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เช่น การพัฒนาแหล่งต้นน้ำ การเพาะพันธุ์ป่า การจัดการขยะในชุมชน บอกเล่าว่า โครงการนี้ทำให้เด็กได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ จากเดิมที่เมื่อมีโครงการมาก็จะมีแต่ผู้ใหญ่เป็นคนทำ แต่ตอนนี้เด็กมีโอกาสได้คิดเอง ได้ทำเอง มีโอกาสได้ทำงานอย่างเต็มที่ ได้ตัดสินใจทำกันเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษา ทำให้เกิดความสามัคคี นอกจากนี้งานที่ทำยังสะท้อนไปที่ชุมชนอย่างเห็นได้ชัดว่าเป็นอย่างไร


นอกจาก 2 ชุมชนนี้แล้ว ยังมีอีกหลายชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ และมีเรื่องราวดีๆ น่าสนใจอีกมากมาย ที่มุ่งหวังให้พลังเยาวชนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของคนในชุมชนและผู้ที่เข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนของพวกเขาและเธอ รวมทั้งเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ลดปัจจัยในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ http://www.cbt-i.orgเว็บไซต์ของสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน


หลังจากนี้ โครงการนี้ยังจะจัดกิจกรรมในพื้นที่อีกหลายแห่ง และจะมีการจัดสัมมนาใหญ่ระดับประเทศอีกครั้ง เพื่อให้เยาวชนได้นำเสนอผลงานและเรื่องราวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวกับสุขภาวะชุมชนและการลดโลกร้อน รวมทั้งจะมีการขยายผลการทำงานไปอีก 50 ชุมชนทั่วประเทศในเร็วๆ นี้


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code