สสส.ร่วมกับ ศจย. เครือข่ายต้านบุหรี่ จัดประชุมวิชาการยาสูบแห่งชาติครั้งที่ 9
หวังจุดประกายให้สังคมตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่
ศจย. ร่วมกับ สสส. ผนึกเครือข่ายต้านยาสูบ จัดประชุมวิชาการครั้งใหญ่ 9-10 ส.ค. นี้ ชู “เพศกับบุหรี่ จุดเน้นการตลาดในผู้หญิง” ระดมสมองแก้ปัญหา เตือนภัยหญิงไทย ตกเป็นเหยื่ออมควัน เผยรณรงค์ได้ผล คนไทยสูบบุหรี่ลดลงกว่า 4 ล้านคน
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน คิดเป็น 20.7% โดยในจำนวนนี้เป็นผู้สูบบุหรี่ประจำ 9.55 ล้านคน คิดเป็น 18.12% โดยเพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าเพศหญิง ช่วงอายุที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด คือ อายุ 25–40 ปี คิดเป็น 37.19% รองลงมาคือ 41–59 ปี คิดเป็น 35.85% ช่วงอายุ 15-24 ปี คิดเป็น 15.32% และอายุ 60 ขึ้นไป คิดเป็น 11.64% ตามลำดับ ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส มีการศึกษาน้อย อยู่ในชนบท และยากจน
ดร.ศิริวรรณ กล่าวว่า โดยเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สามารถลดจำนวนผู้สูบได้ถึงกว่า 4 ล้านคน ด้วยการช่วยให้ผู้สูบเลิกสูบบุหรี่ 2.4 ล้านคนและป้องกันนักสูบหน้าใหม่ 1.6 ล้านคน และลดผู้เสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จำนวน 31,867 คน อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการสูบบุหรี่ของคนไทยจะลดลง แต่ไม่ควรประมาท เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและมีนักสูบหน้าใหม่ทุกวัน ซึ่งแต่ละปีมีเยาวชนเสพติดบุหรี่ใหม่ประมาณ 3 แสนคน ทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต
“โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของอุตสาหกรรมยาสูบ ที่ใช้กลยุทธ์หลอกล่อ ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ใช้กลิ่น รูปลักษณ์ ที่ดูเป็นมิตร หรือมีสไตล์เปรี้ยว เท่ห์ น่าดึงดูดใจ จึงเป็นสัญญาณเตือนว่ากลยุทธ์การควบคุมยาสูบต้องปรับตัวให้มากขึ้นเพื่อให้ทันกับกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ” ดร.ศิริวรรณ กล่าว
ดร.ศิริวรรณ กล่าวว่า ดังนั้น ศจย. ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ จะจัดประชุมวิชาการบุหรี่ระดับชาติ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 9-10 ส.ค.นี้ ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ โดยมีประเด็นหลักคือ “เพศกับบุหรี่ จุดเน้นการตลาดในผู้หญิง” ซึ่งจะเป็นการระดมความเห็นเพื่อเสนอความเห็น จากนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ปฏิบัติงาน และองค์กรรณรงค์ต่างๆ เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้ผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ โดยมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ อาทิ บทบาทของผู้หญิงกับการควบคุมยาสูบ, รูปแบบบริการการเลิกสูบบุหรี่, การแพทย์ทางเลือกกับการเลิกบุหรี่ เป็นต้น
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update:09-08-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่