สสส.รณรงค์’ปิดเทอม-สร้างสรรค์’ จัด 32 กิจกรรมรั้งเยาวชนเดินทางผิด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก จัดกิจกรรมรณรงค์ “ปิดเทอม สร้างสรรค์” เพื่อสนับสนุนให้เด็ก เยาวชนใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมอย่างสร้างสรรค์ โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมเพื่อรองรับการใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผลการสำรวจเอแบคโพลล์ในปี 2548 และ 2551 พบว่า ช่วงปิดเทอมเด็กและเยาวชน 84.9% ใช้เวลาไปกับการช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า อีก 67.3% ดูโทรทัศน์/วีดีโอ ขณะที่ 62.1% เล่นอินเตอร์เน็ต และ 52.2% เล่นเกมคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นจากการสำรวจกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ที่เยาวชนทำในช่วงปิดเทอม อันดับแรก 53.8% ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊/เปลือย อีก 41.5% ดูวีดีโอ/ดีวีดีที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ 29.1% มีเพศสัมพันธ์กับแฟน/คู่รัก และ 18.3% ดื่มเหล้า/เบียร์/ไวน์ ทั้งนี้ในช่วงปิดเทอมเด็กและวัยรุ่นนิยมเข้าไปใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งมักพบปัญหาถูกข่มขู่รีดไถมากที่สุด รองลงมาถูกทำร้ายร่างกาย ตบ ตี ชก ต่อย, เป็นหนี้ร้านอินเตอร์เน็ต, ถูกลวนลามทางเพศ พยายามข่มขืน, บังคับให้สูบบุหรี่ ตามลำดับ
“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ จำนวนเด็กหายออกจากบ้านมากขึ้น จากสถิติศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี มูลนิธิกระจกเงา พบช่วงต้นปี 2553 เด็กหายถึง 70 คน โดย 90% เป็นเด็กผู้หญิง และจากการรับแจ้งคนหายผ่านทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตในปี 2552 เฉลี่ยวันละ 10-15 ราย โดย 80% ติดตามกลับมาได้ และอีก 1% เสียชีวิต โดยเด็กที่หายไปส่วนใหญ่เป็นหญิงอายุ 11-15 ปี สอดคล้องกับข้อมูลการเสียชีวิตของเด็ก ในกลุ่ม 1-14 ปี เฉลี่ยเดือนละ 280 คน แต่กลับพบว่า ในช่วงปิดเทอม คือ เดือนเมษายน เสียชีวิตมากที่สุด 400 คน รองลงมาคือ มีนาคม พฤษภาคม และตุลาคม โดยอันดับ 1 คือ การจมน้ำเสียชีวิต 47% คิดเป็น 5-6 คน/วัน ในช่วงปิดเทอม รองลงมาคือ อุบัติเหตุอื่นๆ และอันดับ 3 คือ อุบัติเหตุทางจราจร”
ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า ผลสำรวจวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชน พบ ส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างพื้นที่กิจกรรมมากขึ้น อันดับ 1 คือ ลานกีฬา 38% อันดับ 2 ลานสาธารณะ/ลานพักผ่อน 26% และอันดับ 3 ลานดนตรี/ศิลปวัฒนธรรม 26% ดังนั้น สสส.จึงได้รวบรวม 32 กิจกรรม แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ 1.สนุกสุดมันส์กับกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ อบรมจัดทำหนังสั้น ผลิตเพลงและมิวสิกวีดีโอ ดนตรี ละคร ศิลปะ 2.แค่ขยับเท่ากับเริ่มออกกำลังกาย อาทิ อบรมสอนว่ายน้ำ กิจกรรมเดิน-วิ่ง 3.ฝึกทักษะสร้างอาชีพ 4.อบรมกิจกรรมเสริมปัญญา และ 5.ค่ายอาสาสร้างสุข อาทิ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทาง www.happyschoolbreak.com ทั้งนี้หวังว่าจะจุดประกายให้ครอบครัวเกิดความตื่นตัว เอาใจใส่ และจัดกิจกรรมที่เหมาะสมในช่วงปิดเทอมให้เด็ก รวมทั้งหวังจะกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาทิ เปิดห้องสมุดในโรงเรียนช่วงปิดเทอม ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน ให้นำเรื่องของปิดเทอมสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในมาตรการด้านสังคม (CSR) ขององค์กรด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง