สสส. – ม.ธ. เปิดเวทีถกกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผุด 4 ข้อเสนอ สร้างทัศนคติเชิงบวก

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                     “สมรสเท่าเทียม” ประตูด่านแรกโอบรับความหลากหลายทางเพศ สสส. สานพลัง ม.ธรรมศาสตร์-ภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสาธารณะขับเคลื่อนการบังคับใช้สมรสเท่าเทียม ผุด 4 ข้อเสนอ พัฒนากฎหมายสมรสเท่าเทียม สู่ก้าวต่อไปของการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ


                     เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ก.พ. 2568 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) และภาคีเครือข่าย เปิดเวทีสาธารณะสมรสเท่าเทียมกับมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ


                     คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่าพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ศ. 2567 เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาให้สังคมมีความเท่าเทียมและมีทัศนคติเชิงบวกต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แม้จะยังมีอคติซ่อนอยู่ โดยข้อมูลการคาดประมาณขนาดประชากรหลากหลายทางเพศ และสถานการณ์ชีวิตและสุขภาพของ LGBTIQN+ ที่ สสส. ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบว่า 1.กลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มที่จะระบุว่าตนเองเป็น LGBTIQN+ มากกว่ากลุ่มประชากรทั่วไป2.คนส่วนใหญ่มองว่ากลุ่ม LGBTIQN+ เป็นบุคคลทั่วไป แต่ยังมีประมาณ 6% ที่มองว่าเป็นความผิดปกติ 3.LGBTIQN+ มีความกังวลสูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งมีความรู้สึกไม่สบายใจและท้อแท้ รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง และมีความคิดทำร้ายตนเอง


                     “ที่ผ่านมาก่อนมีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน อาทิเช่น ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินและมรดก ซึ่งการขับเคลื่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นประเด็นสำคัญที่ สสส. ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการผลักดันข้อเสนอเพื่อบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมให้มีประสิทธิภาพ 4 เรื่อง คือ 1.สร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางทั้งด้านวัฒนธรรมและศาสนา รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าใจแนวคิดความหลากหลายทางเพศ 2.พัฒนาบริการให้คำนึงถึงความละเอียดอ่อน และ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การเงิน และกฎหมายได้ง่ายขึ้น 3.ออกกฎหมายรองรับเพิ่มเติม อาทิเช่น คำนำหน้า และ4.ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ให้ครอบคลุมเรื่องเพศศึกษาและความเท่าเทียมทางเพศ” คุณภรณีกล่าว


                     ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณะสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ไทยเริ่มต้นขับเคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียม มาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่รับรองการใช้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกัน จึงเกิดเป็นกระแสไประดับโลก ขณะเดียวกันสังคมไทยได้รับอิทธิพลในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน จึงเริ่มมีการขับเคลื่อนในเรื่องของการสมรสเท่าเทียมโดยภาคประชาชนมาโดยตลอด กระทั่งปี 2555 ภาครัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และ สสส.เข้ามาสนับสนุนการทำงานเชิงวิชาการ และข้อมูลเชิงลึก เปิดพื้นที่พูดคุยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟังเสียงของภาคประชาสังคมว่าต้องการให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมาในรูปแบบใด เพื่อนำมาทำความเข้าใจกับสังคมมากขึ้น โดยคำนึกถึงเรื่องมิติสุขภาพเป็นหลัก เพื่อลดอคติและความไม่เห็นด้วยได้ง่ายขึ้น


                     “ปัจจุบันการเลือกปฏิบัติลดลง และคนที่มีหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิ์การรักษามากขึ้น ภาครัฐมีการปรับตัวมองคนหลากหลายทางเพศเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งในฐานะผู้มาใช้บริการ ส่งผลให้กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา โดยต่อจากนี้จะมีการขับเคลื่อนกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศและกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนช่วยกันทำให้เกิดขึ้นจริงเหมือนกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อไป” ผศ.รณภูมิ กล่าว


                     ผศ.ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ การสร้างความเป็นกลางทางเพศ เปลี่ยนการใช้คำที่เคยระบุบทบาททางเพศ เช่น “สามี” และ “ภริยา” มาเป็น “บุคคล” หรือ “คู่สมรส” เปิดโอกาสให้บุคคลไม่ว่าจะนิยามตนเองด้วยเพศใด สามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่ของตนเองได้ ซึ่งการจะบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการสำรวจทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจ และความต้องการที่แท้จริงเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม สำหรับผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ยังมีช่องว่างที่สามารถพัฒนาให้กฎหมายคุ้มครองสิทธิของคนทุกกลุ่มเพศได้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันความเป็นกลางทางเพศยังคงไม่ขยายไปถึงขอบเขตของการทำหน้าที่ “บิดา” “มารดา” เนื่องจากจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับที่มีการใช้คำเหล่านี้ เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพสูงสุด


                     คุณกฤษฏิ์ธนัฐ ณ เชียงใหม่ คู่รักสมรสเท่าเทียม กล่าวว่า ตนคบกับแฟนมา 15 ปี กว่าจะมาถึงวันที่ได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย มีอุปสรรคมากมายทั้งเรื่องการทำธุรกรรมต่างๆ การซื้อที่ดิน รวมถึงการรับรองบุตร เพราะแฟนเคยมีแฟนเป็นผู้หญิง และมีลูกด้วยกัน 1 คน พอมาใช้ชีวิตครอบครัวก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง และโดนดูถูกจากคนรอบข้างมองว่าชีวิตคู่จะไปไม่รอด ผู้ชายมาเกาะหลอกให้เลี้ยงดู ซื้อผู้ชายกิน โดนดูถูกสารพัด จึงเกิดความรู้สึกไม่สมบูรณ์แบบ แต่โชคดีที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝั่งรับรู้และเข้าใจมาตลอด ทำให้จับมือกันผ่านมาถึงทุกวันนี้ได้ หลังจากที่ได้จดทะเบียนสมรสก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นด่านแรกที่เติมเต็มชีวิตคู่ได้มากขึ้น และภูมิใจมากเพราะเป็นคนอยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์มาตลอด และในอนาคตอยากให้กฎหมายคุ้มครองไปถึงการรับรองบุตรต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code