สสส.-พม.-จุฬาฯ ขับเคลื่อนงานคนไร้บ้าน หนุนเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ ตั้งหลักชีวิตได้อย่างมั่นคง
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
หวั่นคนไร้บ้านเพิ่ม!!! ปี 66 ไทยพบคนไร้บ้าน2,499 คน เกินครึ่งเป็นวัยกลางคน แนวโน้มผู้สูงอายุไร้บ้านพุ่ง เหตุ ตกงาน-ปัญหาครอบครัว เนื่องในสัปดาห์วันที่อยู่อาศัยโลก สสส.-พม.-จุฬาฯสานพลัง ภาคี ขับเคลื่อนงานคนไร้บ้าน หนุนเข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการ ที่อยู่อาศัย มีอาชีพที่เหมาะสมตั้งหลักชีวิตได้อย่างมั่นคง
เวลา 13.00 น. วันที่ 8 ต.ค. 2567 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน จัดงานประชุม “หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อคนไร้บ้าน : จากการตั้งหลักสู่ความมั่นคง” เนื่องในโอกาสสัปดาห์วันที่อยู่อาศัยโลก (World habitat day) แถลงผลสำรวจข้อมูลเชิงลึกสถานการณ์คนไร้บ้านปี 2566
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า พม. เดินหน้าขับเคลื่อนงานคนไร้บ้าน ที่เป็นหนึ่งในประเด็นวิกฤตประชากรร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ผลักดันแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ที่เข้ามามีส่วนช่วยในการสำรวจจำนวนคนไร้บ้าน ความต้องการ และสภาพปัญหา ของคนไร้บ้านทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ พร้อมทั้งวางเป้าหมายร่วมกันในออกแบบระบบการคุ้มครองดูแล จัดจุดบริการในพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างการเข้าถึงได้ง่าย และเสริมศักยภาพคนไร้บ้านให้เข้าถึงการมีที่อยู่อาศัย มีอาชีพ ตลอดจนสามารถเข้าถึงสิทธิสถานะ สวัสดิการและใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมั่นคง
“การจัดงานหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อคนไร้บ้านในวันนี้ นอกจากจะเป็นการสานพลัง ทบทวนการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นการวางหมุดหมายสำคัญเพื่อรับมือความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจในประเด็นคนไร้บ้านให้แก่สังคม ตลอดจนเพื่อทบทวนนโยบายและการทำงานระหว่างภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน รวมถึงการสร้างโอกาสในการตั้งหลักชีวิตของคนไร้บ้านได้อย่างมีศักยภาพต่อไป” นายอนุกูล กล่าว
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้านทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือน พ.ค. ปี 2566 พบคนไร้บ้าน 2,499 คน สาเหตุหลักมาจาก ไม่มีงานทำ ตกงาน 44.72%รองลงมา คือ ปัญหาครอบครัว 35.18% ช่วงอายุคนไร้บ้านส่วนใหญ่ คือ วัยกลางคน อายุ 40-59 ปี 56.8% หรือ 1,419 คน รองลงมาวัยสูงอายุ 22% หรือ 553 คน ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัด คือ ติดสุรา 18.1% มีปัญหาสุขภาพจิต 17.9% ในจำนวนนี้มีแนวโน้มความรุนแรงเพียง 1-2% นอกจากนี้ยังพบสัดส่วนคนไร้บ้านที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ สวัสดิการสูงถึง 30% และมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านไม่เกิน 2 ปีมากถึง 27%โดยในจำนวนนี้พบคนไร้บ้านเลือกอยู่ตามลำพังกว่า 74.1%
“สสส. ร่วมกับ พม. และภาคีเครือข่าย มุ่งสานต่อโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง พัฒนาระบบศูนย์พักคนไร้บ้าน พัฒนาระบบจุดประสานงานคนไร้บ้าน (จุด Drop in) สนับสนุนสวัสดิการ บริการทางสังคม รวมถึงสุขภาพคนไร้บ้าน มีเป้าหมายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์คนไร้บ้านสูงอายุที่มีสถิติแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการมีปัญหากับคนในครอบครัวและไม่มีอาชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น จึงต้องมุ่งเน้นการหานวัตกรรมที่สามารถดูแลคนไร้บ้านสูงอายุได้อย่างครอบคลุม พร้อมขยายผลเชิงพื้นที่ในกทม.และต่างจังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการย้ายถิ่นทำงานของคนไร้บ้านตามฤดูกาลมากที่สุด โดยการฟื้นฟูจิตใจ พัฒนาทักษะอาชีพ ให้เขาตั้งหลักชีวิตจนสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวของตนเองได้ และสนับสนุนโครงการคนไทยไร้สิทธิ ให้ครบทั้ง 13เขต ของ สปสช. ภายในปี 2570 เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพคืนสิทธิให้คนไทย และไม่มีใครต้องไร้สิทธิ พร้อมทั้งมีที่อยู่ มีอาชีพ และรายได้มั่นคงขึ้น” นางภรณี กล่าว
นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประธานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขับเคลื่อนและทำงานประเด็นคนไร้บ้านในช่วงที่ผ่านมา ทั้งมิติการป้องกันและฟื้นฟู ชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านสัมพันธ์กับความเสี่ยงทางสังคมเศรษฐกิจมีมิติที่ซับซ้อนอย่างมาก โดยหลังจากได้ข้อมูลประชากรคนไร้บ้านแล้ว จะนำไปออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ให้มีความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจุฬาฯ และภาคีเครือข่าย จะวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อวางแผนสำรวจคนไร้บ้าน ในวิธีสุ่มตัวอย่างนับจำนวน (capture-recapture method) ช่วยให้สามารถคาดการณ์จำนวนประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านได้อย่างแม่นยำ และสนับสนุนการออกแบบเชิงนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน