สสส.ผุด ‘ผู้พิทักษ์อาหาร’ ต.ม่วงตึ๊ด เดินเครื่องนำชุมชนปลอดภัยห่างไกลโรค

เหตุพบการบริโภคเมนูจาก เนื้อดิบ

 

 สสส.ผุด ‘ผู้พิทักษ์อาหาร’ ต.ม่วงตึ๊ด เดินเครื่องนำชุมชนปลอดภัยห่างไกลโรค

          สืบเนื่องจากในปี 2550 จังหวัดน่านพบว่ามีสถานการณ์ของโรคที่เกิดจากอาหารไม่ว่าจะเป็น 1.โรคการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (streptococcus  suis) ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน 2. อาหารเป็นพิษหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อ botulism 3. โรคอุจจาระร่วง และ 4. โรคอาหารเป็นพิษ

 

 

ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน ยังมีวัฒนธรรมประเพณีและค่านิยมที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะการบริโภคเมนูอาหารจาก “เนื้อดิบ” ของชาวบ้าน ทำให้มีผู้มาใช้บริการในสถานีอนามัยม่วงตึ๊ดด้วยโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษอย่างต่อเนื่อง

 

          ด้วยเหตุนี้ แกนนำชุมชนในพื้นที่ และ ศูนย์การแพทย์ชุมชนม่วงตึ๊ด จึงร่วมกันจัดทำ “โครงการการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเดินอาหารโดยชุมชนมีส่วนร่วม” ขึ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการเตรียมอาหารในงานเลี้ยงต่าง ๆ ของชุมชนให้มีความปลอดภัย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยได้มีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคด้วยการสร้างกลุ่ม “ผู้พิทักษ์อาหาร” ขึ้นมาในแต่ละชุมชน มีหน้าที่ในการดูแลกำหนดพื้นที่การประกอบอาหาร การจัดเตรียมอาหาร และข้าวของเครื่องใช้ในการจัดงานเลี้ยงต่าง ๆ ให้มีความสะอาดปลอดภัย และมี “การกักเก็บตัวอย่างอาหาร” ทั้งหมดที่จัดเลี้ยงเป็นเวลา 7 วัน เพื่อเฝ้าระวัง และทำการรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และทันท่วงที

 

          นายเสกสันต์ เวียงนาเกริกโกวิท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการจัดเวทีระดมความคิดร่วมกันของชาวบ้าน  ทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันของชุมชนเพื่อหาทางออกร่วมกัน หลังจากนั้นจึงได้พาแกนนำชาวบ้านไปศึกษาดูงานที่ อ.บ้านหลวง ซึ่งเคยเกิดปัญหาอย่างรุนแรงมาก่อน ทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักและมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว วัตถุประสงค์ของโครงการนี้นอกจากจะพัฒนาให้เกิดระบบการเฝ้าระวังโรคของชุมชนแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างแกนนำนักสื่อสารสุขภาพ ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนกลุ่มแม่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update: 22-06-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: อรไท บัวทอง

Shares:
QR Code :
QR Code