สสส. ผุดมาตรฐาน “ที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัว” พยุงแซนด์วิชเจเนอเรชัน 3.4 ล้านครัวเรือน

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

กข่าว สสส. ผุดมาตรฐาน “ที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัว” พยุงแซนด์วิชเจเนอเรชัน 3.4 ล้านครัวเรือน

                  ไทยมีครัวเรือน “แซนด์วิชเจเนอเรชัน” 3.4 ล้านครัวเรือน คนวัยทำงานเป็น “เดอะแบก” เหตุต้องดูแลพ่อแม่-ลูก ชี้ 41.8% มีเงินออมน้อยกว่า 20,000 บาทต่อครัวเรือน แถมต้องเผชิญภาวะเครียด-นอนไม่หลับ-สุขภาพพัง สสส. สานพลังภาคี เปิดตัว “มาตรฐานสถานประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อครอบครัว” มุ่งยกระดับสุขภาวะคนวัยทำงาน 4 มิติ “เวลา-สถานที่ทำงาน-สวัสดิการครอบครัว-ความสัมพันธ์” นำร่องในสถานประกอบการแล้ว 32 แห่งทั่วประเทศ

ภาพบรรยากาศงาน สสส. ผุดมาตรฐาน “ที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัว” พยุงแซนด์วิชเจเนอเรชัน 3.4 ล้านครัวเรือน
                  เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ค. 2568 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานเปิดตัว “มาตรฐานสถานประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อครอบครัว” ภายใต้โครงการสานพลังเครือข่ายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนงานสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว มุ่งส่งเสริมให้สถานประกอบการไทยพัฒนานโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว และเอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ ให้กับคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศ

ภาพบุคคล ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส.
                  ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า ไทยกำลังเผชิญกำลังเผชิญความท้าทาย ทั้งปัญหา “เด็กเกิดน้อย” จากเกิดใหม่ปีละหลักล้านคน เหลือเพียงปีละ 5 แสนคน และปัญหาการก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ตั้งแต่ปี 2565 มีประชากรอายุเกิน 60 ปี เพิ่มสูงขึ้น 20% จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ส่งผลให้คนวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ต้องแบกรับภาระพึ่งพิงเพิ่มขึ้นสองชั้น คือ การดูแลบุตรและการดูแลพ่อแม่ของตนเอง หรือที่เรียกว่า “แซนด์วิชเจเนอเรชัน (Sandwich Generation)” สอดคล้องกับรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ปี 2566 ไทยมีครัวเรือนลักษณะเป็น Sandwich Generation จำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 14% ของครัวเรือนทั้งหมด มีอัตราพึ่งพิงสูง โดยวัยแรงงาน 100 คน ต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุรวม 86 คน

ภาพบบรรยากาศงาน สสส. ผุดมาตรฐาน “ที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัว” พยุงแซนด์วิชเจเนอเรชัน 3.4 ล้านครัวเรือน
                  ศ.ดร.นพ.พรชัยฯ กล่าวต่อว่า ครัวเรือน Sandwich Generation 41.8% มีเงินออมน้อยกว่า 20,000 บาทต่อครัวเรือน คนวัยทำงานต้องใช้เวลาเฉลี่ย13 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งทำงานและดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูก ส่งผลให้มีความเปราะบางทางการเงินและปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจ สอดคล้องกับผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ ปี 2566 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบคนวัยทำงานในครัวเรือน Sandwich Generation มีภาวะเครียดและนอนไม่หลับ 0.8% เมื่อเทียบกับวัยแรงงานทั้งประเทศที่มีสัดส่วน 0.6% สาเหตุจากการต้องจัดสรรเวลาในการทำงาน และดูแลสมาชิกในครัวเรือนไปพร้อมกัน ดังนั้น การออกแบบสภาพแวดล้อม นโยบาย และระบบการทำงานที่เอื้อต่อการทำงานที่มีคุณค่าและการใช้ชีวิตที่มีความหมาย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

                  “สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนามาตรฐานสถานประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อครอบครัว โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรทั้งภายในและต่างประเทศ ที่มีการจัดสวัสดิการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการดูแลครอบครัวให้แก่ลูกจ้าง และจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อการเป็นสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว ประกอบด้วยสวัสดิการที่สำคัญ 4 มิติ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการเวลา (Time management) เช่น การปรับลดชั่วโมงการทำงานและเพิ่มวันหยุด เพื่อให้มีเวลาดูแลสมาชิกในครอบครัว 2.สถานที่ทำงาน (Work location) เช่น อนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากภายนอกสำนักงาน โดยเน้นส่งงานตามกำหนด 3.การสนับสนุนครอบครัว (Family support) การจัดให้มีห้องนมแม่ ศูนย์ดูแลเด็ก การสนับสนุนการดูแลสุขภาพให้กับครอบครัวของพนักงาน 4.การเสริมสร้างความสัมพันธ์ (Relationship) มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แก่พนักงาน เช่น การอบรมการคุยกับลูกวัยรุ่น การจัดกิจกรรมที่สามารถนำลูกมาเข้าร่วมได้ สำหรับองค์กรที่สนใจใช้มาตรฐานฯ สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.ffwthailand.net” ศ.ดร.นพ.พรชัย กล่าว

ภาพบุคคล น.ส.รัชดา ธราภาค หัวหน้าโครงการสานพลังเครือข่ายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ฯ
                  น.ส.รัชดา ธราภาค หัวหน้าโครงการสานพลังเครือข่ายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ฯ กล่าวว่า ปี 2567 มี 32 แห่ง ได้นำร่องทดลองนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อครอบครัวไปขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน ตามแนวทางการดำเนินงานสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1.กำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการ ให้สถานที่ทำงานเป็นมิตรต่อครอบครัวที่ชัดเจน 2.จัดสวัสดิการและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับครอบครัว 4 มิติ ได้แก่ 1.บริหารจัดการเวลา 2.ปรับสถานที่ทำงาน 3.สนับสนุนครอบครัว 4.เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว 3.ใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศในการเก็บข้อมูลพนักงานและครอบครัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน 4.ติดตามผลลัพธ์จากการจัดสวัสดิการและการสนับสนุนการดูแลครอบครัวขององค์กร ทำแบบสำรวจความพึงพอใจ และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มพนักงานที่มีครอบครัว

ภาพบุุคคล นายพิพัฒน์ ธัญธเนส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคพีเอ็น กรีน เอ็นเนอร์จี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรนำร่องใช้มาตรฐานฯ กล
                  นายพิพัฒน์ ธัญธเนส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคพีเอ็น กรีน เอ็นเนอร์จี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรนำร่องใช้มาตรฐานฯ กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งขับเคลื่อนการดูแลพนักงานให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการดูแลครอบครัวของพนักงาน จึงได้นำมาตรฐานสถานประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อครอบครัวของ สสส. มาพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัวของพนักงานใน 6 เรื่อง 1.ปรับเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น และสนับสนุนสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม 2.หนุนสวัสดิการครอบครัว ผ่านการมอบทุนการศึกษาสำหรับบุตรของพนักงาน และเงินช่วยเหลือในครอบครัวในวาระสำคัญ 3.เพิ่มสวัสดิการสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี โดยการจัดทำประกันสุขภาพกลุ่ม ตรวจสุขภาพประจำปี และหอพักราคาถูก 4.สร้างความมั่นคงทางการเงิน ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินกู้ฉุกเฉินปลอดดอกเบี้ย 5.สร้างความมั่นคงในอาชีพ จัดให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงาน ปรับอัตราเงินเดือนและโบนัสประจำปี 6.เพิ่มสวัสดิการวันลาพิเศษสำหรับครอบครัว ลาเพื่อสมรส ลาอุปสมบท และลาจัดงานฌาปนกิจ การคิดแบบ Total Package ในเรื่องสวัสดิการ นอกจากจะช่วยให้คนทำงานมีความสุข ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้ธุรกิจอยู่รอดท่ามกลางการแย่งแรงงานที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรม

Shares:
QR Code :
QR Code