สสส.ผนึก ร.ร. – ชุมชน ขยายพื้นที่คนทำเกษตรในเมือง
“สสส. – มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน – ไบโอเทค” ผนึก ร.ร. – ชุมชน ขยายพื้นที่คนทำเกษตรในเมือง กระตุ้นคนกินผัก อาหารปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ ครอบคลุม 100 กว่าพื้นที่ 3 ภาค พร้อมส่งตรงองค์ความรู้ถึงประชาชนกว่า 3.5 แสนคน ขณะที่ ร.ร.วัดลาดบัวขาว ชี้ เด็กกินผัก + ผลไม้มากขึ้น ด้านชุมชนอ่อนนุชไอเดียเก๋ใช้ขยะแลกผักกระตุ้นให้คนพึ่งพาตนเอง
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมภาคีเครือข่าย นักวิชาการ และสื่อมวลชนเกือบ 100 คน ลงพื้นที่ “สวนผักคนเมือง ลดเสี่ยงอาหารไม่ปลอดภัย” ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสวนผักคนเมือง ที่ชุมชนอ่อนนุช 40 ไร่ และ 2.โครงการนำร่องอาหารปลอดภัยกับการยกระดับสุขอนามัยในโรงเรียน ที่โรงเรียนวัดลาดบัวขาว เขตสะพานสูง
นางเพ็ญพรรณ กล่าวว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคีเครือข่าย จัดทำ 2 โครงการดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนกินผัก อาหารปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวและขยายการทำเกษตรในเมือง โดยโครงการสวนผักคนเมือง ดำเนินการมา 2 ปีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล ชุมชนเมืองในจังหวัดภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก รวม 96 พื้นที่ มีศูนย์อบรม 7 แห่ง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าอบรมกว่า 1,000 คน และนำไปขยายผลทำเกษตรในเมืองกว่า 3,000 คน ในจำนวนนี้นำความรู้จากการอบรมไปปฏิบัติจริงกว่า 60% ขณะเดียวกันได้ขยายแนวคิดผ่านโซเชียลมีเดีย และจัดกิจกรรมต่างๆ สามารถสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรในเมืองให้กับประชาชนได้มากกว่า 350,000 คนแล้ว
นางเพ็ญพรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการนำร่องอาหารปลอดภัยฯ ในโรงเรียน ดำเนินการตั้งแต่ต้นปีนี้ ครอบคลุม 32 โรงเรียน ใน 6 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 5 โรงเรียน 2.เชียงราย 5 โรงเรียน 3.นครสวรรค์/อุทัยธานี 5 โรงเรียน 4.นครราชสีมา 5 โรงเรียน 5.ฉะเชิงเทรา/นครนายก 5 โรงเรียน และ 6.กทม. 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดขุมทอง โรงเรียนวัดพิชัย โรงเรียนแดงเป้า(สิงสุขบูรณะ) โรงเรียนสุเหร่าใหม่ โรงเรียนสุเหร่าศาลาลอย โรงเรียนศาลาคู้ และโรงเรียนวัดลาดบัวขาว ซึ่งการลงพื้นที่ทั้ง 2 โครงการวันนี้ จะนำรูปแบบความสำเร็จไปเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อสร้างการรับรู้ เปิดมุมมองในการสร้างเสริมสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ และเกิดการปฏิบัติครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น
ด้าน นายพีรธร เสนีย์วงศ์ ที่ปรึกษากลุ่มโครงการสวนผักคนเมือง ชุมชนอ่อนนุช 40 ไร่ กล่าวว่า หลังย้ายที่อยู่อาศัยจากใต้สะพานมาอยู่บริเวณอ่อนนุช พบว่ามีที่ว่าง 92 ตารางวา จึงร่วมชาวบ้านปลูกผัก เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน และต่อมาได้เพิ่มการเลี้ยงปลา หมู และไก่ด้วย โดยชาวชุมชนประมาณ 80 ครอบครัว มีส่วนร่วมในการดูแลด้วย ส่วนผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดไม่ได้ขาย แต่ให้ชาวบ้านนำขยะ 1 ถุงมาแลกผัก หรือเนื้อสัตว์ที่เพียงพอต่อการบริโภค และคณะกรรมการโครงการฯ จะนำขยะไปขายต่อ เพื่อเป็นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ และจัดการโครงการให้ยั่งยืน
นางกัลยา หลำเพชร หัวหน้าโครงการนำร่องอาหารปลอดภัยฯ โรงเรียนวัดลาดบัวขาวสำนักงานเขตสะพานสูง กล่าวว่า โครงการนี้ ยึดหลัก “ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก และทำในสิ่งที่ใช้ ใช้ในสิ่งที่ทำ” ส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรู้ และลงมือปฏิบัติจริง โดยทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปลูกพืชผักสวนครัว และพืชสมุนไพร เช่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง มะรุม ผักหวาน และมะละกอ ฯลฯ โดยไม่ใช้สารเคมี นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนระดับชั้น ป.4-5 สลับหมุนเวียนกันรับผิดชอบดูแลการทำแปลงผัก รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ผลผลิตที่ได้นำมาประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียน และหากมีผลผลิตมากเกินการใช้ภายในโรงเรียน จะนำไปจำหน่ายราคาถูก ซึ่งนักเรียนมักจะซื้อกลับบ้านฝากผู้ปกครอง เพราะภาคภูมิใจว่าเป็นผักที่ปลูกและดูแลด้วยตนเอง
“นอกจากนี้ มีกิจกรรมนักโภชนากรน้อย ส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้ให้แก่นักเรียน อาทิ การประกวดทำสลัดผัก แข่งขันทำส้มตำลีลา การพูดเสียงตามสายและประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เห็นคุณค่าของผักผลไม้และประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับ เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรม อย.น้อย ตรวจสอบการประกอบอาหารภายในโรงเรียน โดยให้นักเรียนเป็นหมออาหารทำการตรวจสอบสารปนเปื้อนวัสดุและอุปกรณ์ประกอบอาหาร โดยมีชุดตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอันตรายกับนักเรียน จากการประเมินผลพบว่า สามารถกระตุ้นให้นักเรียนสนใจรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น รวมถึงทำให้นักเรียนรู้จักการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ สะอาด ปลอดภัย และเป็นประโยชน์ ทำให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ” นางกัลยา กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข