สสส. – ตำรวจภูธรภาค 4 หนุนกองร้อยน้ำหวาน ช่วยภารกิจสู้โควิด-19
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. – ตำรวจภูธรภาค 4 หนุน 'กองร้อยน้ำหวาน' ปรับภารกิจเสริมทัพตำรวจดูแลคัดกรองช่วงโควิด-19 เข้าใจ เข้าถึง คุ้นเคยชุมชน หลังโควิด-19 เตรียมถก สสส. ดึงภาคีภาครัฐ หนุนอบรมติดอาวุธทางปัญญาให้เพิ่ม เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและอุบัติเหตุ ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ผลักดันให้คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และตำรวจภูธรภาค 4 จัดตั้งอาสาสมัครจราจรหญิง ที่เรียกกันว่า “กองร้อยน้ำหวาน” ซึ่งมีภารกิจในการช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชน โดยเฉพาะภารกิจเรื่องการดูแลการใช้รถใช้ถนนของคนในชุมชนให้ปลอดภัย
แต่ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกพื้นที่ต้องเข้มงวดตรวจตราตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเดือนมีนาคม 2563 กองร้อยน้ำหวานจึงปรับรูปแบบการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ ด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมเป็นแนวหน้าตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกในชุมชน ช่วยผ่อนงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจรักษาการ ไม่ให้มีประชาชนออกนอกเคหะสถานในช่วงประกาศใช้เคอร์ฟิว
“นอกจากกองร้อยน้ำหวานจะช่วยตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คัดกรองผู้ที่อาจติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังช่วยสกัดยับยั้งการกระทำความผิดในรูปแบบอื่นๆ ได้ อาทิ เมาแล้วขับ การใช้ยาเสพติด ไม่สวมหมวกนิรภัย และอื่นๆ และคนในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและเชื่อฟังคำตักเตือนกองร้อยน้ำหวาน เนื่องจากเป็นบุคคลที่คนในชุมชนนับถือ จึงมีความคุ้นเคยเกรงใจกัน และเนื่องจากกองร้อยน้ำหวานเป็นผู้หญิง เป็นกลุ่มแม่บ้าน-คุณป้า ที่สามารถตรวจเตือนคนในชุมชนที่เป็นผู้ชายได้ ซึ่งช่วยลดการกระทบทั่งจากกรณีไม่ยอมให้ตรวจค้นได้” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
พล.ต.ต.อานนท์ นามประเสริฐ หัวหน้าสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กล่าวว่า ตำรวจภูธรภาค 4 ได้ร่วมกับ สสส. สร้างเครือข่ายเป็นกองกำลังเข้ามาแก้ปัญหาชุมชน ภายใต้ปรัชญาที่ว่า “ปัญหาที่เกิดในชุมชน ต้องดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา” จึงเกิดการคัดเลือกอาสาสมัครหญิงอายุไม่เกิน 60 ปี เข้ามาฝึกอบรมด้านการจัดการ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและยุทธวิธีตำรวจ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจในชุมชน โดยมีตำรวจชุมชนเป็นพี่เลี้ยง
ทั้งนี้ กองร้อยน้ำหวานจะเป็นกองกำลังของชุมชน ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจราจรจากปัญหาเมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย ปัจจุบันกองร้อยน้ำหวานในภาคอีสานตอนบนมีสมาชิก 2,000 กว่าคน กระจายอยู่ใน 12 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย
“แม้สัญญาณการระบาดจะเริ่มดีขึ้น แต่กองร้อยน้ำหวานจะยังไม่หยุดทำหน้าที่ โดยในอนาคตตำรวจภูธรภาค 4 และพื้นที่อื่นๆ จะหารือร่วมกับ สสส. เพื่อดึงเอาภาคีเครือข่ายภาครัฐมาร่วมสนับสนุนการอบรมเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการให้กับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุและภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะทักษะการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานอย่างละเอียด
เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์สร้างระบบดูแลความปลอดภัยในชุมชนให้ดีขึ้น และเพิ่มความรู้ให้กองรอยน้ำหวานสามารถเก็บข้อมูลในพื้นที่ เพื่อนำมาวางแผนป้องกันได้ต่อไปด้วย พร้อมกับจะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันภายในจังหวัดและข้ามจังหวัด เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานให้เข้มข้นมากขึ้น” พล.ต.ต.อานนท์ กล่าว