สสส.จับมือ อปท.100 แห่งสร้างตำบลปลอดสารพิษ
การขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่เป็นกระบวนการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหารในชุมชนด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยวางกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การสร้างพลังความร่วมมือให้องค์กรหลักในชุมชนทำบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ อันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดการพัฒนาระบบการเกษตรของเกษตรกรทั้งระดับครอบครัวและระดับกลุ่มองค์กร
ล่าสุด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุทัยเก่า อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ร่วมประชุมและลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (mou) ร่วมกับเครือข่ายร่วมทั้งหมด 100 ตำบล ในโครงการกองทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนายสมพร ใช้บางยางประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในพิธีลงนาม
นายสมพร กล่าวว่า สสส.ทำงานกับท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นนโยบายสาธารณะประเด็นหนึ่งใน 7 ประการที่ได้กำหนดไว้ เพราะเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ และเห็นว่าชุมชนท้องถิ่นเป็นแหล่งผลิตอาหาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับผู้บริโภคทั่วๆ ไปเท่านั้น แม้แต่กับตัวของเราเอง หรือแม้แต่ผู้อยู่ในพื้นที่ ผู้ผลิตเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งจากที่ได้สุ่มตัวอย่างตรวจประชาชนในบางชุมชนอย่างน้อยๆ ก็ 60-70% ที่มีสารเคมีอยู่ในร่างกายโดยที่ไม่รู้มาก่อนนำไปสู่การตรวจพบโรคร้ายแรง และตรงนี้คือสิ่งที่เรานำมาเป็นข้อมูลในการทำความเข้าใจว่าถึงเวลาแล้ว ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ที่จะต้องปรับวิธีคิดในการทำเกษตรกรรมไปสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืนเปลี่ยนเกษตรกรรมที่มีสารเคมี ไปสู่เกษตรกรรมชีวภาพ
นอกจากนี้ นายสมพร ยังกล่าวอีกว่า จากการที่ขับเคลื่อนมาได้มีการขยายผลที่มีพื้นที่จำนวนประชากร เกษตรกร และจำนวนพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรกรรมชีวภาพมากขึ้นโดยเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 250 แห่ง แต่ในความเป็นจริง เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในขณะนี้เรามีเครือข่ายอยู่พันกว่าแห่ง ไม่ใช่เฉพาะ 100 แห่งที่มาลงนามความร่วมมือเท่านั้น ในแหล่งอื่นๆเราก็ถือว่าเป็นนโยบายที่จะต้องปฏิบัติด้วย เพียงแต่ว่าอาจยังจะไม่เข้มข้น ซึ่งบางแห่งที่ยังไม่ได้มาลงนามกับเรา เค้าก็สามารถปฏิบัติได้ดีและขยายผลได้ดีก็มี ในภาพรวมเราพยายามสร้างตัวอย่างเพื่อกระจายไปทุกภูมิภาคเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอื่นในการเรียนรู้ ซึ่งในขณะนี้เรากำลังพัฒนาพื้นที่ของ อบต.ทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ขึ้นเป็นศูนย์บูรณาการเพื่อการเรียนรู้ในเกษตรกรรมยั่งยืน ทำให้เป็นเกษตรกรรมที่ครบวงจรและยั่งยืนสามารถดูเป็นตัวอย่างและปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร หรือใครก็ได้ที่สนใจสามารถไปศึกษาเรียนรู้ได้เพราะคิดว่าตำบลทมอนั้นเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมมากที่สุด
ด้านนายมหามัติ มะจะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะนังดาลำ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีกล่าวว่า จากที่ตนได้ลงพื้นที่แหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่ที่ 5 พบว่ามีการนำเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนเกิดความรักและความภาคภูมิใจในอาชีพของเกษตรกรและสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นได้ โดยจะมีการจัดสรรพื้นที่อย่างชัดเจน เช่นการบริหารจัดการน้ำในแปลงของการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงไก่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังทำให้ชุมชนมีการพึ่งตนเองในเรื่องของการผลิตอาหารสำหรับการบริโภคและยังเป็นการลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายแก่ร่างกายจะเห็นได้ว่ากลุ่มนี้มีการนำวัสดุที่เหลือใช้มาทำปุ๋ยและมีการคิดหาวิธีการทำสารสกัดต่างๆ แทนสารเคมีนอกจากจะได้ปุ๋ยแล้วยังประหยัดค่าใช้จ่ายและก็ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพ จะเห็นว่าแหล่งนี้มีการสร้างเยาวชน สร้างพื้นที่ให้กับเด็กๆ มากขึ้นทำให้เด็กมีจิตอาสา ทุกพื้นที่ถ้ามีจิตอาสามากขึ้น คิดว่าทุกคนก็จะมีความสุขพื้นที่ก็มีความสุข
ด้านนายธาดา อำพิน วิทยากรแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อบต.อุทัยเก่า อ.หนองฉางจ.อุทัยธานี กล่าวว่า การใช้สารเคมีของชุมชนได้ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายตาย และถือเป็นภัยมหันต์ที่ต้องมาวิเคราะห์การแก้ปัญหา ซึ่งจากการทำข้อมูลบัญชีครัวเรือนพบว่า คนในตำบลมีการลงทุนด้านการเกษตรสูงมาก และคนเข้ารักษาพยาบาลก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ หากหันมาใช้เกษตรอินทรีย์นอกจากจะลดต้นทุนได้แล้ว ยังทำให้สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้นอีกด้วย
“หลังจากที่ทำการเกษตรปลอดสาร ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรเริ่มลดลง จากลงทุนไร่ละ 4,000 บาท เหลือเพียงไร่ละ 1,000 บาทเศษๆ และขายข้าวได้เกวียนละ 8,000-9,000 บาท ทำให้มีเงินเก็บในกระเป๋าอีกเพียบ อีกทั้งค่าใช้จ่ายภายในบ้านก็ลดลงด้วยเพราะไม่ได้จ่ายตลาดซื้อผัก ซื้อปลาหรือเนื้อหมูมาประกอบอาหาร เพียงแต่นำผลผลิตจากศูนย์เกษตรปลอดสารมาใช้ในครอบครัวทั้งเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย” นายธาดากล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
ขอบคุณภาพประกอบจาก : ปันสุข