สสส.จับมือ กทม. ร่วมสนับสนุน รร.ปลอดน้ำอัดลม
พบเด็กผู้หญิงดื่มบ่อยกว่าเด็กผู้ชายถึง 1.4 เท่า
ปัญหาการบริโภคน้ำตาลเกินความพอดีของเด็กไทยดูจะน่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายปีมานี้ และนับวันยิ่งจะบั่นทอนสุขภาพของเด็กไทยมากขึ้นทุกวันก่อให้เกิดทั้งโรคเบาหวาน อ้วน หรือแม้กระทั่งขาดสารอาหาร จึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานต่างๆ ต้องมาจับมือกันเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหวานของเด็กไทยอย่างจริงจังและเป็นระบบ
ไม่นานมานี้ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร รณรงค์ไม่ดื่ม “น้ำอัดลม” ซึ่งเป็นตัวการหลักที่นำความหวานเกินพอดีมาสู่เด็กไทย ผลักดันให้มีการปลอดน้ำอัดลมในโรงเรียน โดยจัดงาน “แต้มสีสันโรงเรียนอ่อนหวาน 7 วัน 7 สี ไม่มีน้ำอัดลม” ขึ้นที่โรงเรียนวิชูทิศ
เหตุที่ต้องเริ่มจากโรงเรียน เพราะเป็นสถานที่ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชีวิตส่วนใหญ่ของเด็กในวัยนี้ เห็นได้จากผลสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มของนักเรียนจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นทั้งเด็กนักเรียนผู้ปกครองและครู ทั้งสิ้น 9,300 คนพบว่านักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนที่ขายน้ำอัดลมมีการดื่มน้ำอัดลมบ่อยกว่าโรงเรียนที่ปลอดน้ำอัดลมถึง 7.3 เท่า ซึ่งนักเรียนมัธยมจะมีอัตราการดื่มมากกว่าเด็กประถม 3.9 เท่า และที่น่าแปลก คือ เด็กผู้หญิงดื่มน้ำอัดลมบ่อยกว่าเด็กผู้ชายถึง 1.4 เท่า
ซึ่งพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมเหล่านี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก เพราะน้ำอัดลมเป็นบ่อเกิดของโรคหลายชนิด เช่นโรคอ้วน โรคผอม โรคฟันผุ กระดูกกร่อน โดยน้ำอัดลม 1 กระป๋องมีน้ำตาล 10-14 ช้อนชาทุกกระป๋องจึงเพิ่มโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ 1-2 % ส่วนน้ำอัดลมที่โฆษณาว่ามีน้ำตาล 0% จะยิ่งเป็นโทษต่อร่างกาย ทำให้เป็นโรคผมเพราะขาดสารอาหาร เนื่องจากเครื่องดื่มที่ไม่มีสารอาหารใดๆ จะมีแต่แก๊ส เมื่อดื่มเข้าไปจะลดความหิว ทำให้ท้องอืด ไม่อยากทานอาหาร
คนอ้วนที่คิดว่าการดื่มน้ำอัดลมจะสามารถลดความอ้วนได้ ก็เป็นความคิดที่ผิดถนัดเพราะคนที่อ้วนอยู่แล้วหากดื่มน้ำอัดลมมากๆ จะกลายเป็นอ้วนเตี้ยขาดสารอาหารเพราะกรดคาบอนิคในน้ำอัดลมทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกจากร่างกาย โดยเฉพาะวัยรุ่น 9-14 ปี ต้องการแคลเซียมเพื่อสร้างความเติบโตมากที่สุด ถ้าดื่มน้ำอัดลมมาก จะขับแคลเซียมออกจากร่างกายจนหมด จึงสูงได้ไม่เต็มที่ เกิดภาวะพร่องแคลเซียม เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จะเป็นโรคกระดูกคดงอ สึกกร่อนเร็วกว่าปกติ
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานแห่งแรกที่ได้นำร่องลดการขายเครื่องดื่มอัดลมในโรงเรียน โดยได้ดำเนินการกับทั้ง 436 โรงเรียน มาเกือบ 3 ปีแล้วซึ่งนับว่าเป็นการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนหน้าประเทศอื่นๆ ในโลก หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งจะเริ่มกำหนดเป็นนโยบายเท่านั้นจะประกาศใช้ได้ก็ต่อเมื่อ ปี 2553 เรียกได้ว่าประเทศไทยจะรณรงค์ นำหน้าไปถึง 6 ปี
ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เห็นว่า กทม.ทำมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการประสานความร่วมมือเพื่อจะรณรงค์ต่อไปในเครือข่ายอื่นๆ หรือแม้กระทั่งชุมชนต่างๆ ส่งผลให้จังหวัดอื่นๆ มากกว่า 20 จังหวัดก็เริ่มโครงการนี้บ้างแล้ว
นอกจากเรื่องน้ำอัดลม กทม.ยังได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อลดการบริโภคน้ำตาล เช่น การกำหนดอัตราน้ำตาลในอาหาร และการรณรงค์ไม่ใส่ผงชูรส
หากแต่การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหวานของเด็กนั้นทำแค่ที่โรงเรียนคงจะไม่พอ เพราะสถานที่สำคัญที่สุดของชีวิตเด็กอีกแห่งก็คือ บ้าน ซึ่งการปลูกฝังในเรื่องนี้จึงต้องเริ่มจากที่บ้าน ถ้าที่บ้านมีการเอาน้ำอัดลมเข้าปากเด็กเมื่อไหร่เท่ากับเป็นการเริ่มให้เด็กรู้สึกและติดใจรสหวานมากเท่านั้น พ่อแม่จึงต้องใจแข็งเมื่ออยู่ที่บ้าน วิธีหลีกเลี่ยงคือต้องไม่เก็บน้ำหวาน หรือน้ำอัดลมไว้ที่บ้าน และแนะนำให้เด็กเคยชินที่จะดื่มน้ำเปล่าน้ำผลไม้ที่ไม่หวานมาก และนมรสจืดแทนโดยยึดหลักสำคัญคือ “ใน 1 วันไม่ควรมีการบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา” ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะในความเป็นจริงความหวานได้แฝงเข้ามาในทุกรูปแบบ
เมื่อจากบ้านมาสู่โรงเรียนครูก็ต้องช่วยฝึกด้วยอีกแรงจะได้ช่วยเสริมกันแล้วเด็กก็จะรู้สึกว่าน้ำอัดลมไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นหากมีการร่วมมือกันทั้งที่บ้านและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าพฤติกรรมการบริโภคของเด็กจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั่นหมายถึงโอกาสที่เด็กไทยจะรอดพ้นจากพิษภัยของน้ำหวานจำพวกนี้ก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ยิ่งหากมีการปลูกฝังให้เด็กได้รู้ทันโทษของน้ำอัดลม ไม่ใช่ลิ้มรสแต่ความหวานจนลืมใส่ใจพิษภัยที่จะตามมาอีกเป็นขบวน เชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รู้เท่าทันที่จะหลีกเลี่ยงการบริโภคที่ทำลายสุขภาพตัวเองอย่างแน่นอน
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:24-07-51