สสส.จับมือภาคีฯ สู้โควิด-19 เดินหน้าสร้างครัวชุมชน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. รวมพลัง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน สร้างครัวชุมชน 5 แห่ง กรุงเทพฯ – ปทุมธานี – เชียงใหม่ – ขอนแก่น – กาญจนบุรี หนุนเสริมความมั่นคงทางอาหาร ช่วยประชากรกลุ่มเปราะบางรอดชีวิตโควิด-19
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 คนไร้บ้านคือประชากรกลุ่มเปราะบางที่เผชิญความเสี่ยงติดเชื้อ เพราะต้องใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้านได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัมสี่ภาค สถาบันเอเชียศึกษา และศูนย์แม่โขงศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างกลไกชุมชนป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงออกมาเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น
นางภรณี กล่าวต่อว่า ภาวะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ชุมชนที่มีประชากรกลุ่มเปราะบาง ต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก การใช้กลไกชุมชนเข้าไปหนุนเสริมมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะมีการประมาณการว่าคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ตาม หนึ่งในนั้นคือการสร้าง “ครัวกลาง” หรือ “ครัวชุมชน” และจัดทีมอาสาสมัครขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน ขาดรายได้จากโควิด-19 และช่วยคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะให้ได้มีอาหารเลี้ยงปากท้องในภาวะวิกฤต
ปัจจุบัน สสส. และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน ได้พัฒนาให้เกิดระบบครัวกลาง ในศูนย์คนไร้บ้าน 4 แห่งช่วงโควิด-19 และ 1 จุดประสานงาน ได้แก่ 1.ศูนย์คนไร้บ้านบ้านพูนสุข จ.ปทุมธานี จัดทำครัวกลาง และแจกอาหารให้คนไร้บ้านใน 4 จุด ได้แก่ สถานีรถไฟรังสิต อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ท่าน้ำนนทบุรี และสถานีรถไฟหัวลำโพง ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลา 17.00 – 20.00 น. 2.ศูนย์คนไร้บ้าน บ้านเตื่อมฝัน จ.เชียงใหม่ จัดทำครัวกลางชุมชนรูปแบบร้านอาหารราคาถูก 15-20 บาท และช่วงที่คนไร้บ้านบางส่วนไม่มีรายได้ จึงใช้วิธีให้คนกลุ่มนี้มาทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อแลกกับคูปองอาหาร
นอกจากนี้ยังมีโครงการปั๋นอิ่มแจกอาหารให้คนไร้บ้าน 3 จุด ได้แก่ ลานท่าแพ ทุกวันจันทร์ หน้าขนส่งช้างเผือก ทุกวันพุธ และตลาดดอกไม้ กาดหลวง ทุกวันศุกร์ และยังมีเครือข่ายจิตอาสาจากภาคส่วนต่างๆ ส่งอาหารมาสมทบเพื่อคนไร้บ้าน สัปดาห์ละ 3 วัน หากวันไหนอาหารมีจำนวนมาก อาสาสมัครจะตระเวนนำไปแจกตามชุมชนเปราะบางที่มีคนตกงานอีกทาง
3.ศูนย์คนไร้บ้าน บ้านโฮมแสนสุข จ.ขอนแก่น ได้ช่วยเหลือให้คนไร้บ้านเข้าถึงอาหาร 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) แจกคูปองปันกัน หรือ Food Stamp สัปดาห์ละ 100 บาท/คน ให้ไปจับจ่ายซื้ออาหารในร้านค้าชุมชน 2) สนับสนุนครัวชุมชนเปราะบางเสี่ยงคนไร้บ้าน ขายอาหารราคาถูก 15 – 20 บาท ที่ชุมชนเหล่านาดี12 และชุมชนเทพารักษ์ 5 และ 3) จัดทีมอาสาสมัครแจกอาหารคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ในเขตเทศบาลนครขอนเเก่น 4) ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู กรุงเทพฯ จัดทำครัวกลาง และร้านข้าวแกงราคาถูก จานละ 15-20 บาท
และ 5) จุดประสานงานอาสาสมัครเพื่อคนไร้บ้านที่สถานีขนส่งมวลชน จ.กาญจนบุรี ที่ทำอาหาร แจกคนไร้บ้านทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งจุดนี้จะเป็นศูนย์กลางเพื่อคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรี โดยการจัดทำครัวกลางและจุดประสานงานของศูนย์เครือข่ายคนไร้บ้าน 5 แห่ง สสส. ได้ขับเคลื่อนร่วมกันจากหลายภาคส่วนทั้งประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานต่างๆทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ทำงานเชิงรุกเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน
“การจัดตั้งครัวกลางหรือครัวชุมชนเพื่อคนไร้บ้าน มีเป้าหมายช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่คนไร้บ้านและประชากรกลุ่มเปราะบางในชุมชนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ โดยครัวกลางจะให้บริการอาหารทั้งคนไร้บ้านในศูนย์พัก และจะมีทีมอาสาสมัครลงพื้นที่แจกคนไร้บ้านในที่สาธารณะ ควบคู่กับการขยายความช่วยเหลือไปยังชุมชนที่ประสบความเดือดร้อน ซึ่งการทำงานเพื่อกลุ่มคนไร้บ้านไม่ว่าจะสถานการณ์ปกติหรือภาวะวิกฤตโควิด-19 สสส. และภาคีเครือข่ายมีเป้าหมายทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สนับสนุนให้ มีรายได้ พึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการสนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หารายได้เสริมในชุมชน และการสนับสนุนให้เกิดระบบครัวกลางและการแบ่งปันอาหารภายในชุมชน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชนและสังคมได้ โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงสิทธิบริการทางสุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ด้านสุขภาพ” นางภรณี กล่าว