สสส.จับมือท้องถิ่น สร้างเครือข่ายตำบลจัดการตนเองสู่ชุมชนน่าอยู่

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริม ให้เกิดการทำงานเชื่อมประสานกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานพัฒนาเอกชน ที่มีปฏิบัติการในชุมชน องค์กรชุมชน กลุ่มและเครือข่ายประชาชน เพื่อให้เกิดระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี การผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามท้องถิ่น และมีการรวมตัวเป็นเครือข่าย ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ สสส.ให้ความสำคัญและเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุน

สสส.จับมือท้องถิ่น สร้างเครือข่ายตำบลจัดการตนเองสู่ชุมชนน่าอยู่

 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ลานวัดศรีบุญเรือง ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดเวทีประชุมนำเสนอทุนทางสังคมและพีธีลงนามความร่วมมือ (mou) โครงการเสริมสร้างเครือข่ายตำบลจัดการตนเองสู่ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยมี นายสมพร ใช้บางยาง ผู้แทนคณะกรรมการบริหารแผนงาน สสส., นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่, นายประภัสสร โลโท นายก อบต.สะเมิงเหนือ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่, นายอธิศพัฒน์ เรศมณเทียร นายก อบต.ปอน อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน, นายอุดม ก่อนแสงวิจิตร นายก อบต.แม่กิ๊ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และนายหล้า บุญดวง นายก อบต.ป่าโป่ง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เข้าร่วม

นายสมพร ใช้บางยาง

นายสมพร กล่าวว่า บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ ทำขึ้นระหว่าง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์เรียนรู้ โดย อบต.แม่ทา และเครือข่ายเรียนรู้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 20 แห่ง เพื่อให้เห็นบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ในการร่วมกันขับเคลื่อนพลวัตรแห่งการเรียนรู้ข้ามพื้นที่ สู่การพัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชนที่ดีต่อไป

โดยมีแนวทางปฏิบัติ ประกอบด้วย ให้ทั้ง 3 ฝ่ายแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนหลักการของการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นการหนุนเสริมกันและกันในการพัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชนร่วมกัน โดยมีพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ให้ อบต.แม่ทา ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์เรียนรู้” ที่พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ตนโดยการสนับสนุนให้แกนนำทำวิจัยชุมชน พัฒนาหลักสูตร และให้แกนนำทำวิจัยชุมชน พัฒนาหลักสูตร และสรุปแนวทางการเรียนรู้เพื่อให้พื้นที่อื่นในเครือข่ายเข้าเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาระบบสนับสนุนอื่นในพื้นที่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ร่วมไปกับการปฏิบัติการจริงของแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายเรียนรู้ มีบทบาทในการสนับสนุนให้ผู้นำ-แกนนำของพื้นที่จากทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมเรียนรู้กับศูนย์เรียนรู้ในกระบวนการพัฒนาทักษะ และความสามารถในการวิจัยชุมชนตนเองและจัดระบบการทำงานให้เอื้อต่อการเรียนรู้และนำผลการเรียนรู้มาใช้พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ตนต่อไป รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ร่วมดังกล่าวมาข้างต้น และให้ สสส.มีหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการการพัฒนาความรู้ และงบประมาณในการเอื้อให้เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ได้สร้างกระบวนการขับเคลื่อนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาระบบการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยชุมชนได้อย่างเป็นพลวัตร

นายอุดม อิ่นคำ นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือด้านนายอุดม อิ่นคำ นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมเวทีทำให้ได้มาเรียนรู้บทบาท สสส. ทำให้เห็นช่องทางที่สามารถช่วยในการพัฒนาท้องถิ่นได้ สสส.เป็นหน่วยงานของรัฐบาลแต่มีการบริหารงานอิสระสนับสนุน ส่งเสริมในเรื่องของ สุขภาพ กาย ใจปัญญา สังคม ต้องการให้ทุกคนในสังคมมีความสุข เราต้องการสร้างฐานของชุมชนให้เข้มแข็งการสนับสนุนของ สสส.ไม่ถือว่าเป็นเจ้านายถือว่าเป็นหุ้นส่วนร่วมมือกันในการพัฒนาฐานของประเทศให้มีความเข้มแข็งยังยืนได้จริงๆ

นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายก อบต.ดอนแก้วนายนพดล ณ เชียงใหม่ นายก อบต.ดอนแก้ว กล่าวว่า ความสุขที่ได้จากการทำงานคือการได้อยู่กับท้องถิ่น การที่เราอยู่กับท้องถิ่น สู้มาทุกเรื่องไม่มีปฏิเสธ เพราะในอนาคตหากชุมชนเราทั้งหลายไม่ช่วยเหลือกัน เราจะอยู่ไม่ได้ เราต้องเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง วันนี้ถือว่าเป็นการทำความรู้จักกัน เป็นเครือข่ายของดอนแก้ว เป็นการทำงานที่ผ่านช่วงชีวิตที่ครบรส แต่ก็พบกับความสุขเมื่อเห็นคนในชุมชนมีการพัฒนาทางความคิดทำให้รู้จักตัวตนของตนเองมากขึ้น เราคือใครเราจะทำอะไรเพื่อชุมชนของเรา สสส.เป็นเหมือนคนที่มาช่วยเช็ดกระจกให้เห็นเงาของเราชัดเจนมากขึ้น เมื่อได้เรียนรู้จากตำบลต้นแบบทำให้ได้แนวคิดมาพัฒนาชุมชนตนเอง การจัดเวทีประชุมนำเสนอทุนทางสังคมและพีธีลงนามความร่วมมือโครงการเสริมสร้างเครือข่ายตำบลจัดการตนเองสู่ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ โดยเริ่มต้นจากความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อท้องถิ่นเข้มแข็งและน่าอยู่ ก็จะส่งผลให้ประเทศเข้มแข็งและน่าอยู่ต่อไป

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ         

Shares:
QR Code :
QR Code