สสส.- คิด for คิดส์ มุ่งสร้างเด็กไทยเติบโตมีคุณภาพ เปิดเส้นทางใหม่ พัฒนาสุขภาวะเด็ก-ครอบครัว เข้มแข็ง

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    เส้นทางใหม่ นโยบายเด็ก-ครอบครัวไทยแห่งอนาคต สสส.- คิด for คิดส์ เปิดผลวิจัยเจาะลึกสถานการณ์เด็ก-ครอบครัว 4 ด้าน ส่งเสริมสวัสดิการ-เข้าถึงการดูแลสุขภาพจิต-แก้ไขความขัดแย้งในครอบครัว-นวัตกรรมทางสังคม มุ่งสร้างเด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ


                    เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank, 101 PUB) จัดงานเสวนา “เปิดเส้นทางใหม่ นโยบายเด็กและครอบครัวไทยแห่งอนาคต” เผยแพร่ 4 งานวิจัย ได้แก่ 1.ระบบสวัสดิการเด็กเล็กเพื่ออนาคต 2.สังเคราะห์ชุดนโยบายสุขภาพจิตของประชากรไทย ภายใต้บริบทหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3.คิดใหม่การเมือง เรื่อง ‘รุ่น’ ความขัดแย้งในครอบครัวไทย 4.จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม พร้อมหารือเส้นทางใหม่ของนโยบายเด็กและครอบครัวไทย


                    น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชนไทย เพื่อให้ทุกครอบครัวมีความเข้มแข็ง เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีวิถีชีวิตที่มีสุขภาวะ จากการทบทวนสถานการณ์สังคมที่บ่งชี้ถึงความอยู่ดีมีสุขของคนในสังคม พบว่าในมิติของเด็กและเยาวชน มีปัญหาสำคัญที่ที่รอการแก้ไข 4 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องพัฒนาการและคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย 2.วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น แต่บุคลากรทางแพทย์และสถานบริการยังไม่เพียงพอ 3.ความขัดแย้งและไม่ลงรอยทางความคิดของคนต่างรุ่น 4.ความต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทางสังคม ผลงานวิจัยทั้ง 4 เรื่อง จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ สสส. สามารถวางแผนการดำเนินงานลดปัญหาด้านสุขภาวะในสังคมได้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลวิชาการและข้อเสนอเชิงนโยบายที่คมชัด สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมได้ต่อไป โดยสามารถดูรายงานสถานการณ์ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ https://www.kidforkids.org


                    ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยในไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป โดยปี 2567 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแนวทางการดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ภายใต้แนวความคิด Nurturing Care Framework ซึ่งการดูแลเด็กต้องครอบคลุมถึงเรื่องสุขภาพ โภชนาการ สวัสดิการ การได้รับความเอาใจใส่ และโอกาสเข้าถึงเรียนรู้ ซึ่งไม่เพียงให้ความสำคัญเฉพาะกับตัวเด็ก แต่รวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ดูแลด้วย ผู้วิจัยมีข้อเสนอระบบสวัสดิการเด็กเล็ก 1.ให้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันกำกับดูแลสถานดูแลเด็กปฐมวัยให้มีมาตรฐาน เพิ่มกำลังคนให้สามารถดูแลเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันได้ครอบคลุม 2. ให้มีสถานรองรับเด็กของภาครัฐที่เพียงพอ เช่น บ้านพักเด็ก สถานสงเคราะห์เด็กในและนอกเวลาราชการ การดูแลในชุมชน รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่ครอบครัวที่ดูแลเด็กด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยให้เด็กไทยเติบโตขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต


                    รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาหลักประกันสุขภาพจิตถ้วนหน้าในบริบทประเทศไทยที่ทุกคนเข้าถึงได้ จำเป็นต้องใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ เพื่อระบุจุดคานดีคานงัดในระบบที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการออกแบบนโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอต่อการปรับปรุงเรื่องบริการสุขภาพจิต ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4 ด้าน 1.เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในการจ่ายเงินชดเชยช่องทางใหม่ๆ เช่น โทรเวช (telemedicine) เพื่อให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มใหม่เข้าถึงได้เพิ่มขึ้น 2.ขยายการบริการสุขภาพจิต ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ทีมสุขภาพจิตเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของผู้ป่วยโรคทางกาย รวมถึงผู้ป่วยระยะยาว 3.ออกแบบระบบ “ผู้สั่งการรักษาทางสังคม” ทำหน้าที่เชื่อมต่อคำวินิจฉัยและการดูแลรักษาของทีมสุขภาพจิตเพื่อส่งกลับไปที่ครอบครัว องค์กร ชุมชน หรือสังคมที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่ เพื่อแก้ปัญหาถึงรากฐาน 4.ทำงานเชิงนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปรับแก้ปัจจัยด้านสังคมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตเชิงบวก ลดจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรายใหม่และแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน


                    รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาความสัมพันธ์ของความแตกต่างระหว่างรุ่นและความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คนทั่วประเทศ พบว่าความขัดแย้งทางการเมือง เกิดจากแนวคิดและรูปแบบการทำกิจกรรมทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” ที่กระตุ้นจิตสำนึกของ “คนรุ่นใหญ่” กลายมาเป็นข้อขัดแย้งและเผชิญหน้ากันในพื้นที่ครอบครัว ความขัดแย้งระหว่างรุ่นมักถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น โครงสร้างอำนาจที่กดทับ สร้างความไม่พอใจให้คนรุ่นใหม่ และวัฒนธรรมเลี่ยงการเผชิญหน้าที่ไม่เอื้อให้เกิดบทสนทนาเพื่อเรียนรู้ เข้าใจ และปรับตัวอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยเสนอเครื่องมือ ‘จินตนาการพลเมือง’ (Civic Imagination) โปรแกรมเวิร์กชอปสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจินตนาการผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัย (Pop Culture) ช่วยให้เข้าใจคุณค่าที่คนต่างรุ่นยึดถือ ช่วยให้คนในครอบครัวที่มีความสนใจต่างกันสามารถสนทนากันอย่างสนิทสนมได้ยิ่งขึ้น


                    รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยใช้เครื่องมือ Civic Imagination มุ่งออกแบบและพัฒนากระบวนการนำจินตนาการของเยาวชนมาสู่การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม ด้วยการเสริมเครื่องมือการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงออกแบบ และกระบวนการสร้างนวัตกรรมทางสังคม ให้กับเยาวชนอายุ 15-18 ปี รวม 6 ทีม โดยมีพี่เลี้ยงและผู้เชี่ยวชาญร่วมบ่มเพาะอย่างใกล้ชิด พบว่า เยาวชนมีความยึดมั่นในคุณค่าพลเมืองเพิ่มขึ้น เกิดความตระหนักต่อหน้าที่พลเมือง และการมีความรู้ด้านพลเมือง กระบวนการที่ถูกพัฒนาขึ้น จึงสามารถนำไปบูรณาการให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของสถานศึกษา เช่น กลุ่มวิชาสังคมศึกษา (หน้าที่พลเมือง) เพื่อเป็นทางเลือกในการส่งเสริมความเป็นพลเมือง โดยอาศัยการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนแสดงความคิดแบบไม่ปิดกั้นจินตนาการ

Shares:
QR Code :
QR Code