สสย.จับมือมพด. เปิดพท.สร้างสรรค์-คุ้มครองเด็กภาวะน้ำท่วม
ในภาวะที่ประเทศไทยถูกน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ส่งผลให้พนักงานเอกชน ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ไม่สามารถไปทำงานได้ รวมถึงเด็กนักเรียนที่โรงเรียนถูกน้ำท่วม แม้บางโรงเรียนใกล้จะเปิดเทอมแล้วก็ยังไม่สามารถไปเรียนได้ ซ้ำร้ายโรงเรียนบางแห่งยังติดประกาศปิดเรียนอย่างไม่มีกำหนด
ด้วยความห่วงใยในการศึกษาและความปลอดภัยของเด็กๆ ในภาวะน้ำท่วม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) save the children (uk) หรือองค์กรช่วยเหลือเด็ก และแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จึงร่วมกันทำโมเดลการคุ้มครองเด็ก ในภาวะน้ำท่วม ผ่านรูปแบบพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก
นส.ประสพสุข โบราณมูล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ระบุว่า โมเดลการคุ้มครองเด็กในภาวะน้ำท่วม ในรูปแบบพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กนั้น ทางมพด. ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดูแลเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กอยู่แล้ว และองค์กรช่วยเหลือเด็ก ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยสำหรับเด็กในสภาวะน้ำท่วม มาร่วมกันจัดกิจกรรม โดยรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ(สสส.) ภายใต้แผนงานสสย. จนเกิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กขึ้นมา ภายใต้รูปแบบ “ปลอดภัย สุข สนุก เรียนรู้”
ขณะที่ขั้นตอนการทำงาน นส.ประสพสุข อธิบายว่า ขั้นแรกทีมงานจะเข้าไปประสานงานในพื้นที่ศูนย์พักพิง ซึ่งหากมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ดูแลอยู่ ก็จะทำการประงานงานพม. ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของศูนย์พักพิง บางศูนย์อาจะเป็นอบจ. เทศบาล เมื่อประสานแล้ว ทีมงานจะเสนอโมเดลพื้นที่ปลอดภัย สุข สนุก เรียนรู้ เพื่อให้เกิดมุมหรือพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมสำหรับเด็กได้ จากนั้นก็จะขอสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก โดยให้เด็กมาลงทะเบียน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เข้าไปทำกิจกรรที่ศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเด็กลงทะเบียน 500 คน ศูนย์พักพิงจ.อยุธยามีเด็กลงทะเบียน 30-50 คน ศูนย์พักพิงวัดไร่ขิง จ.นครปฐม จะเป็นเด็กต่างชาติทั้งหมด คือ 30 คน โดยล่าสุดกำลังประสานไปยังศูนย์พักพิง จ.นครนายก มีเด็กประมาณ 100 คน ขณะที่กิจกรรมที่ทำกับเด็กต่างชาติก็จะเหมือนกับการทำกิจกรรที่ศูนย์พักพิงอื่นๆ เพียงแต่จะแตกต่างกันในบางบริบทเท่านั้น
“หลังจากลงทะเบียนแล้ว เราจะติดป้ายชื่อ พร้อมทำกำไลข้อมือที่เขียนชื่อผู้ปกครองพร้อมเบอร์โทรศัพท์เอาไว้ เพื่อป้องกันเด็กพลัดหลง จากนั้นทีมงานจะเข้าไปจัดทำระบบโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้มีความปลอดภัยสำหรับเด็ก เช่นห้องน้ำเด็กอ่อน ห้องอาบน้ำแยกหญิงชาย ความต้องการเฉพาะบุคคลเรื่องสุขภาพ สาธารณสุข จากนั้นจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครในพื้นที่ อาจจะเป็นผู้ปกครอง นักศึกษาก็ได้ เขาร่วมอบรมการคุ้มครองเด็กผ่านพื้นที่สร้างสรรค์ในสภาวะภัยพิบัติ (น้ำท่วม) โดยจะใช้เวลาอบรมเพียงหนึ่งวัน เพื่อให้อาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแล และสอนน้องๆ เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการดูแลตนเองจากคน สัตว์ สิ่งของ เช่น อย่ารับสิ่งของจากคนแปลกหน้า ไม่ควรไปอยู่ใกล้น้ำ รวมถึงร่วมทำกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนานให้เด็ก โดยในพื้นที่หนึ่งๆ ทีมงานจะอยู่ในพื้นที่ 2-3 วัน จากนั้นก็สอบถามความคืบหน้า ผ่านทางโทรศัพท์ และเข้าไปเป็นครั้งคราว 1-2 อาทิตย์ต่อครั้ง” นส. ประสพสุข อธิบาย
โดยภายหลังจากทำกิจกรรมให้เด็กๆ นอกจากการผ่อนคลายความเครียดให้ผู้ปกครองได้แล้ว ยังพบว่าเด็กๆ ที่ได้ร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์ ยังจดจำความรู้ที่ได้นำไปใช้ด้วย โดย นส.ประสพสุข เล่าว่า พบว่ามีเด็กบางคนที่พลัดหลงจากผู้ปกครอง เด็กจะมองหาพี่ที่เป็นอาสาสมัครที่เขาเคยพูดคุยด้วย แล้วเข้าไปขอความช่วยเหลือ อย่างเวลาเราทำกิจกรรมแล้วจะมีการเช็คคำตอบว่าได้สอนอะไรบ้าง เด็กๆ ก็จะตอบว่า อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า อย่ารับของจากคนแปลกหน้า เป็นต้น
ด้านนางทัดดาว ธรรมชีพ ชาว จ.อยุธยา วัย 40 ปี ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่ศูนย์พักพิง จ.อยุธยามาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สภาพจิตใจในช่วงนั้นเกิดความเครียดมาก เนื่องจากห่วงบ้าน ห่วงทรัพย์สิน แต่คิดว่าการตัดสินใจออกมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงจะปลอดภัยกับชีวิตและลูกชายมากกว่า
“พอป้ามาอยู่ที่ศูนย์ได้ไม่นาน ก็มีทีมงานจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเข้ามาจัดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กป้าจึงสมัครเป็นอาสาสมัครดูแลการอาบน้ำให้เด็กๆ และลูกชายป้า น้องฟลุ๊ก เขาก็ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมด้วย พอหลังจากทำกิจกรรมเสร็จน้องฟลุ๊กเขาจะเอารูปที่เขาวาด และระบายสีมาให้ดู บางทีก็มาร้องเพลงและก็เต้นท่าที่ครูสอนให้ป้าดู ป้าก็รู้สึกสนุก มีความสุขไปกับเขาด้วย แม้ในใจจะห่วงบ้านบ้าง แต่ก็ถือว่าทำให้ป้าไม่คิดมาก และป้าต้องขอบคุณมากเลยที่มาทำกิจกรรมดีๆ แบบนี้ให้เด็ก เขาจะได้ไม่ต้องไปเล่นซุกซน หรือไปเล่นน้ำ เพราะอันตรายต่อตัวเขามาก” ทัดดาว กล่าว
ขณะที่ ด.ช.โชคทิวา ชาบำเหน็จ หรือน้องฟลุ๊ก ลูกชายของทัดดาวในวัย 7 ขวบ เล่าให้ฟังว่า เมื่อได้เข้ามาอยู่ที่ศูนย์พักพิง ก็มีครูมาสอนให้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ในศูนย์ เช่น ครูจะสอนเล่านิทาน ปั้นดินน้ำมัน ร้องเพลง ระบายสี เล่นเกมส์
“ผมชอบกิจกรรมระบายดีที่สุดเลยครับ เพราะว่ามีสีสวยๆ ให้ผมได้เลือกระบาย ทำให้เกิดความสนุกสนาน และมีเพื่อนเยอะกว่าเดิมครับ ตอนนี้ก็อยากไปโรงเรียน แต่ไปไม่ได้เพราะน้ำท่วม ก็เลยเรียนในศูนย์พักพิงไปก่อนครับ” น้องฟลุ๊กกล่าว
นอกจะมีกิจรรมดีๆ ในศูนย์พักพิงแล้ว ทางมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กยังมีแนวคิดว่าจะทดลองทำพื้นที่สร้างสรรค์ลอยน้ำขึ้น เนื่องจากในบางศูนย์พักพิงต้องนอนเต้นท์ที่เป็นเกาะกลางถนน หรือบางคนนอนบนสะพานลอย จึงจะมีการลงพื้นที่ และนำกระเป๋าที่เป็นของเล่นเด็กอาทิ สีน้ำมัน ดินน้ำมัน ตัวต่อ หนังสือนิทาน ไปให้กับผู้ปกครองหรือผู้นำในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงนำคู่มือสำหรับผู้ปกครองและเด็กในการดูแลเด็กในภาวะน้ำท่วม ห้องเรียนบนถนนไปให้ผู้ปกครอง กรณีที่ผู้ประสบภัยไม่ยอมอพยพออกจากบ้าน
นับเป็นอีกหนึ่งกิจรรมดีๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์พื้นที่แห่งจิตนาการให้กับเด็ก ที่จะได้โลดแล่นก่อนเปิดเทอมและหลังน้ำลด
ที่มา: แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน