สสค.เร่งติดอาวุธทางปัญญา…เด็กนอกระบบ

สสค.เร่งติดอาวุธทางปัญญา…เด็กนอกระบบ 

            แม้รัฐบาลชุดนี้จะประกาศนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนมีข้อกฎหมายบังคับให้เด็กต้องเข้าสู่ระบบโรงเรียน หรือทางเลือกการเรียนแบบโฮมสคูล แต่ผลจากรายงานสภาวะการศึกษาไทยปี 2550-2551 พบว่า มีเด็กไทยไม่รู้หนังสือสูงถึง 1.7 ล้านคน

 

สสค.เร่งติดอาวุธทางปัญญา…เด็กนอกระบบ

 

            ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า เด็กจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กอยู่นอกระบบการศึกษาเช่น กลุ่มเด็กยากจน เด็กพิการ ที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะเข้าโรงเรียน โดยพบว่าเด็กอายุตั้งแต่ 3-17 ปี เป็นเด็กนอกระบบเกือบ 2 ล้านคน และพบแรงงานไทยที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษา ร้อยละ 60 ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี2549 ที่ระบุว่าประชากรไทยวัยแรงงานจบการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษามากถึง 21.6 ล้านคน หรือ 60% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในวัยแรงงานส่งผลให้แรงงานไทยมีระดับผลิตภาพต่ำกว่าแรงงานมาเลเซียร่วม 3 เท่า

 

            “การดึงเด็กนอกระบบการศึกษาเข้าสู่การเรียนรู้อีกครั้งจะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพแรงงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่น ๆ ทั้งเด็กยากจน เด็กไร้ครอบครัว เด็กพิการเด็กเร่ร่อน เด็กที่กำเนิดจากคนต่างด้าวเด็กที่หนีหรือหลุดรอดออกจากโรงเรียนหรือแม้แต่เด็กที่มีชื่ออยู่กับสถานศึกษาแต่ในความเป็นจริงไม่มีโอกาสได้เรียนให้น้อยลง เพื่อพัฒนาให้เด็กเยาวชนมีสุขภาวะทางร่างกายและปัญญาที่สมบูรณ์อย่างยั่งยืน”ดร.เจือจันทร์ให้ความเห็น

 

สสค.เร่งติดอาวุธทางปัญญา…เด็กนอกระบบ

 

            สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการที่จะประสานให้ส่วนต่างๆ ตั้งแต่องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ผลักดันโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนในระดับท้องถิ่น(เทศบาล) เพื่อดึงเด็กนอกระบบกลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อีกครั้ง รวมถึงการพัฒนาความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพ โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนท้องถิ่น และการจัดระบบงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ตอบโจทย์การเรียนรู้ของสังคมร่วมกันทั้งระบบ ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมประมาณ 15-20 เทศบาล เทศบาลละ 5,000 คน เปิดให้กลุ่มโรงเรียนทั่วประเทศส่งโครงการฟื้นฟู และพัฒนาเด็กนอกระบบ ให้มีอาชีพมีความรู้

 

สสค.เร่งติดอาวุธทางปัญญา…เด็กนอกระบบ

 

            นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า หลังจาก สสค.เปิดให้การสนับสนุนทุนในรอบแรก แก่กลุ่มโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศรวม 207 โรงเรียน จาก1,139 โรงเรียน ที่ผ่านการพิจารณาพบว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่พบคือ จำนวนเด็กนอกห้องเรียน ซึ่งตกหล่นไปจากระบบการศึกษาไทย ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาประสานโดยตรง ซึ่งหากไม่แก้ไขเรื่องนี้ ผลเสียไม่ได้เกิดแค่ในเด็ก แต่จะลามไปทั้งสังคม เช่น ทักษะในการประกอบอาชีพปัญหาอาชญากรรม นอกจากนี้ ข้อมูลในสหรัฐอเมริการะบุว่า เด็กนอกระบบมีโอกาสเสี่ยงมากถึง 7 เท่า และมีชีวิตสั้นลง 9 ปี

 

สสค.เร่งติดอาวุธทางปัญญา…เด็กนอกระบบ

 

            ด้าน นางทิพย์ภาภรณ์ สิมวิเศษ ผู้รับผิดชอบ “โครงการศูนย์เรียนรู้ผักปลอดสารพิษแบบไร้ดิน (ไฮโดรโพนิกส์)” เทศบาลคอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน สสค.เพื่อให้เด็กนอกระบบมีอาชีพเสริมติดตัว เล่าว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างต้นกล้าอาชีพให้แก่เด็กนอกระบบในชุมชน ซึ่งจะต่างกับโครงการอื่นๆ ตรงที่จะเริ่มสำรวจเก็บข้อมูลผักปลอดสารพิษ ขั้นตอนต่อไปจึงรวมกลุ่ม และออกเชิญชวนเด็กนอกระบบในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรม ซึ่งท้ายที่สุดเด็กกลุ่มนี้จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความรู้ และเป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม นอกจากนี้เด็กๆ ยังสามารถสร้างรายได้จากเวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเป็นผลกำไรแก่ตนเองและครอบครัวด้วย

 

สสค.เร่งติดอาวุธทางปัญญา…เด็กนอกระบบ

 

            ด้าน น.ส.สุกัญญา โคตรพูลชัย จาก “โครงการต้นกล้ากลางใจ หัวใจใฝ่ดี” เทศบาลตำบลตาลสุม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่ มักประสบกับปัญหาหยุดเรียนกลางคัน เนื่องจากต้องออกมาช่วยผู้ปกครองทำงาน หรือติดยาเสพติด และตั้งท้องในระหว่างที่เรียน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีงบประมาณสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับสังคมโดยตรง

 

สสค.เร่งติดอาวุธทางปัญญา…เด็กนอกระบบ

 

            นายสุรเสกข์ ผลบุญ จาก “โครงการสร้างผู้นำเด็กและเยาวชนจิตอาสา ร่วมพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบ” เทศบาลตำบลปากพะยูน จ.พัทลุง บอกเล่าว่า เด็กทุกคนชอบการถูกมองว่าเป็นฮีโร่ ดังนั้นกิจกรรมในโครงการจึงจะค่อยๆ ชวนให้เด็กนอกระบบกลับมามีส่วนร่วมในสังคม ให้รู้จักคุณค่าของตัวเอง และทำให้เค้ากลายเป็นฮีโร่ในด้านดีของสังคม

 

            โครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนในระดับท้องถิ่น เป็นรูปแบบของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ใช้ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง แทนที่จะกำหนดนโยบายจากส่วนกลางการศึกษาของประเทศ เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

update : 04-01-54

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code