สสค.เปิดเทรนด์พลศึกษาทั่วโลก
ต้อนรับกระแสซีเกมส์ สสค.เปิดเทรนด์พลศึกษาทั่วโลก “วิชานอกห้อง” เป็นวิชาที่ติดหนึ่งในห้าวิชาฮิตด้านการศึกษาปี 2556 แต่อัตราการผลิตครูพละในประเทศไทยนั้นยังถือว่าขาดแคลนอยู่จำนวนมาก
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 2 กระทรวงศึกษาธิการ จับกระแสซีเกมส์ด้วยการเปิดสถานการณ์ครูกีฬาไทย ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “รวมฮิตครู (สอนดี) กีฬาเด่น” โดยล่าสุดนิตยสารธุรกิจชั้นนำของโลก “ฟอร์บส์” (forbes) ได้เปิดเผยถึง เทรนด์การศึกษาทั่วโลกพบว่า พลศึกษาเป็นหนึ่งใน 5 วิชาท็อปฮิตแห่งปี2556 โดยเฉพาะการศึกษานอกห้องเรียนถือเป็นวิชาที่สร้างให้เกิดอาชีพและรายได้ และเชื่อว่า คงไม่มีใครปฏิเสธถึงรายได้ และความสำเร็จของเดวิด แบ็คแฮม หรือร็อบบี้ คีน นักเตะชื่อดังระดับโลก
ล่าสุดนางมิเชล โอบาม่า ภริยาประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกายังจัดแคมเปญรณรงค์ “letschoolsmove.org” เพื่อส่งเสริมให้วิชาพละศึกษาคืนสู่ห้องเรียนอีกครั้ง โดยตั้งเป้าให้มีโรงเรียนเข้าร่วม 50,000 โรง ในเวลา 5 ปี (2556-2561) สอดคล้องกับผลวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ในปี 2010 ที่ระบุว่า หากนักเรียนได้เล่นกีฬา ไม่ต่ำกว่า 60 นาที/วัน หรือ 225 นาที/สัปดาห์ จะส่งผลต่อการสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ และพฤติกรรมในการเรียนรู้ในห้อง โดยบางชั้นเรียนพบว่า การที่นักเรียนได้เรียนวิชาพลศึกษามากกว่าเกณฑ์ ส่งผลให้เด็กเรียนได้เกรดดีขึ้น และมีผลการสอบวัดมาตรฐานที่สูงขึ้นด้วย
นายนคร ตังคะพิภพ หัวหน้าโครงการติดตามสนับสนุนชุดโครงการทุนครูสอนดี สสค. กล่าวว่า สำหรับครูสอนดีของสสค.พบว่ามีครูที่สอนพลศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบจำนวน 922 จากครูทั้งสิ้น 18,870 คนที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ครูปริญญา-โค้ชฟุตบอล ครูประจักษ์-โค้ชปั่นจักรยาน ครูสมยศ-ครูนักวอลเล่ย์ทีมชาติ ก็เป็นหนึ่งในครูที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าและความเสียสละของครูกีฬาทั้งสิ้น ที่น่าสนใจคือ ครูพละส่วนใหญ่นั้นเป็นครูสอนในระดับประถม เพราะวิชาพลศึกษา แม้ไม่ได้มุ่งด้านความเป็นเลิศทางวิชาการเช่นวิชาอื่น แต่พลศึกษาเป็นวิชาพื้นที่ส่งเสริมให้เด็กมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา การรักษาระเบียบวินัย เสริมสร้างสุขภาพอนามัย ซึ่งมีความสำคัญในการเตรียมพร้อมสำหรับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย
นายนเรศ ขันธะนี ประธานสาขาวิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์พลศึกษาในประเทศไทยว่า สถาบันทางการศึกษาไทย ประกอบด้วยคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันการพลศึกษาของกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬามีกำลังอัตราการผลิตครูพลศึกษาระดับปริญญาตรี สถาบันละไม่เกิน 50 คน เฉลี่ยแล้วประมาณปีละ 1,500-1,700 คนทั่วประเทศ โดยจากข้อมูลการรับนักศึกษาสาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า สาขาพลศึกษา สุขศึกษาและมวยไทยกลายเป็นสาขาวิชาที่ผลิตครูมากที่สุดในปี 2555-2556 นี้ แต่น่าแปลกที่ยังมีปัญหาการขาดแคลนครูพลศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยครูสุขศึกษา/ครูพลศึกษา ติดอันดับที่ 9 ของครูที่ขาดแคลนจำนวน 3,267 อัตรา โดยครูพลศึกษาในปัจจุบันควรเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม 3 ด้านได้แก่ 1.ทักษะทางภาษา 2.ทักษะเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ เพื่อใช้ในการผลิตบทเรียนสำเร็จรูป และ 3.การจัดฝึกอบรมเพื่อให้ได้ใบประกาศณียบัตรการตัดสินในกีฬาประเทศต่างๆ เป็นต้น
พ.จ.อ.อนุชา อุทัยชีวะ ผู้ช่วยโค้ชครูปริญญา เหล็กดี ผู้ได้รับทุนครูสอนดีจ.อุบลราชธานี โรงเรียนอนุบาลบ้านเหนือเขมราฐ ผู้มีจุดเด่นในการนั่งวิลแชร์สอนคนขาดีเตะฟุตบอล กล่าวว่า ด้วยปัญหาเด็กยากจน เด็กครอบครัวแตกแยก เด็กติดยาเสพติด เด็กสมาธิสั้น และเด็กที่ต้องการโอกาสทางการศึกษา หรืออยากจะเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ จึงเป็นที่มาในการตั้งเป็น “สโมสรฟุตบอล ป.ซิตี้” เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสในอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี และในจังหวัดใกล้เคียง ได้มีทางเลือกในการศึกษาต่อในโรงเรียน รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันขยายผล ส่งต่อ และติดตามผลเด็กสู่วงการฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย อาทิ ธนาสิทธิ์ ศิริผลา องอาจ ภมรประเสริฐ เป็นต้น
ผู้ช่วยโค้ชปริญญา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โค้ชแหง่น (ปริญญา เหล็กดี) มักพูดให้ฟังเสมอว่า อยากให้กำลังใจเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ โดยใช้ความพิการของโค้ชเป็นตัวอย่าง ทั้งค้นหาวิธีสอนเด็ก นั่งเดาะฟุตบอล ใช้หัวบ้าง นั่งโยนลูกให้เด็กฝึก และเมื่อสอนเด็กได้สักคน ก็ใช้เป็นหุ่นเป็นแบบอย่างสอนน้องๆ หรือใช้ซีดีเปิดให้เด็กดู จนสุดท้ายหลับตาก็รู้แล้วว่าจะสอนเด็กอย่างไร แต่สิ่งที่โค้ชแหง่นภูมิใจที่สุดคือ รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จไม่เคยลืมที่จะกลับมาช่วยเหลือรุ่นน้อง
“สำหรับทั้งโค้ชแหง่น และผม แม้เราจะไม่ใช่ครูในระบบ บางคนอาจจะมองว่า เราเป็นครูข้างถนน ครูนอกเวลา เป็นครูฟุตบอล จะมีเฉพาะคนที่ใกล้ชิดถึงจะรู้สึกว่าเป็นครู แต่ผมเชื่อว่า จิตวิญญาณครูทุกคนนั้น อยากสอนให้เป็นคนดี สอนให้เขารักในสิ่งที่เขาอยากทำ ครูอื่นๆอาจจะอยากสอนคนที่มีความพร้อมเพราะมันง่ายมาก แต่โค้ชแหง่นมองเห็นโอกาสที่เด็กเขมราฐต้องการ ก็เลยสู้เพื่อเขาทุกคน เดี๋ยวนี้มีรุ่นพี่ดังๆมาช่วย ทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เราช่วยเขาไม่ได้สูญเปล่าทั้งนี้ถือเป็นเรื่องยากที่จะมีโค้ชหรือครูพละทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อกีฬาได้เหมือนอย่างโค้ชปริญญาอีกแล้ว เพราะโค้ชถ้าไม่มีฐานะก็จะไม่มีใครทุ่มเทได้เต็มที่เพราะไม่มีค่าตอบแทนมาก อย่างไรก็ตามทางโรงเรียนอนุบาลเหนือเขมราฐได้มีการตั้งกองทุนเพื่อให้ลูกศิษย์รำลึกถึงโค้ชปริญญาให้มีกำลังใจเล่นกีฬาและเป็นทุนการศึกษาให้เด็กเขมราฐ ซึ่งจะมีการสร้างรูปเหมือนจากการหล่อทองเหลือง ภายใต้ชื่อ “กองทุนโค้ชแหง่นหัวใจเพชรเพื่อพัฒนาฟุตบอลเยาวชน” ธนาคารธกส. สาขาเขมราฐ จ.อุบลราชธี หมายเลขบัญชี 020029070547“พ.จ.อ.อนุชา กล่าว
นายประจักษ์ แพทย์ผล ครูโค้ชจักรยาน ผู้ได้รับทุนครูสอนดีจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในความรู้สึกตนเองเป็นห่วงว่าทั้งครูพละศึกษาและนักเรียนที่เก่งด้านกีฬา โดยเฉพาะกีฬาปั่นจักรยานจะหมดลง เนื่องจากการศึกษาทุกคนจะให้ความสำคัญในทางวิชาการมากกว่า นอกจากนี้ตนอยากให้ทางมหาวิทยาลัยเปิดสอนระดับปริญญาโทที่เกี่ยวกับศาสตร์ด้านกีฬา และพละศึกษา เพราะศาสตร์พละศึกษา เพื่อให้มีอุปกรณ์และเทคนิคการสอนที่ทันสมัย ซึ่งประเทศไทยยังคงนำเข้าและเรียนรู้จากต่างประเทศ ซึ่งจากประสบการณ์การสอนนับสิบปีพบว่า กีฬาไม่เพียงแต่จักรยานเป็นบันไดและโอกาสสู่การศึกษาที่ดี โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสนั้น มีเด็กของผมที่มีโอกาสได้โควต้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยชื่อดัง ได้รับถ้วยพระราชทานฯ ทำให้มีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น
นายชัยณรงค์ รัตนวงศ์ ครูสอนดีโค้ชมวย จ.ร้อยเอ็ด จากโรงเรียนอาจสามารถวิทยา จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า กีฬาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสุขภาพกายใจให้แข็งแรง มีสมองที่ฉลาด ที่สำคัญการเล่นกีฬาก็สามารถนำไปสู่การประกอบอาชีพได้ในอนาคต เพราะหากสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน ระดับจังหวัด และประเทศแล้วก็สามารถนำโควต้าเหล่านั้นไปเป็นตัวช่วยในเรื่องการศึกษา และยังสามรถนำไปประกอบอาชีพที่มั่นคงด้วยการเป็นทหาร ตำรวจ
“ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันลูกศิษย์ให้ประสบความสำเร็จในเรื่องอาชีพและการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองก็ภูมิใจที่เขาไม่ผิดหวังที่ยอมส่งบุตรหลานมาเรียนด้านกีฬา เพราะเด็กบางคนบ้านฐานะยากจน ซึ่งกีฬาก็สามารถทำให้คนเก่งและฉลาดได้ เพราะมีสุขภาพที่แข็งแรง ฉะนั้นก็อยากให้สังคมเปลี่ยนมุมมองมาให้ความสำคัญด้านกีฬาเพิ่มมากขึ้น สถาบันการศึกษาก็ควรเปิดสอนครูด้านกีฬาให้มีดีกรีระดับปริญญาโท และดอกเตอร์สายกีฬา เพราะส่วนมากมีแต่สายบริหารทำให้เกิดปัญหาตกงาน แต่ถ้ามีด้านกีฬาเข้ามาแน่นอนหลายคนย่อมประสบความสำเร็จในชีวิตมากยิ่งขึ้น” นายชัยณรงค์ กล่าว
นายบัวบอน แสงโสม ครูโค้ชนักกรีฑา ครูสอนดีจ.ยโยสธร โรงเรียนบ้านกุดขุ่น ที่สามารถต่อกรกับโรงเรียนประจำจังหวัดด้วยทีมกรีฑา 31 ขา จนได้แชมป์เขตพื้นที่การศึกษามาครอง ทำให้ครูภูมิใจที่สอนให้เด็กโดยเฉพาะเด็กระดับปฐมวัยรู้จักมีความรับผิดชอบ และมีความสามัคคี ซึ่งการเล่นกีฑามี 2 ประเภท คือประเภทเดี่ยวและประเภททีม ซึ่งการเล่นประเภทเดี่ยวหรือรายบุคคลต้องฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง โดยการให้มองดูสถิติของตัวเองว่าการเป็นตวแทนของโรงเรียน ของจังหวัดต้องทำให้ดี นอกจากนี้ก็ยังสอนให้เด็กมีความพยายามพัฒนาทักษะ และมีการเปรียบเทียบสถิติของตัวเองด้วย ส่วนประเภททีม เห็นได้ชัดเจน คือ กระบวนการทำงานเป็นกลุ่มของเด็ก ที่สร้างความสามัคคี ช่วยกันแก้ปัญหา เมื่อทีมไม่ดีก็ให้เด็กประเมินและช่วยกันหาวิธีคิดแก้ไข ซึ่งความรับผิดชอบทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ได้ให้เด็กวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของทีมอื่นให้รู้จักพัฒนาทีมตัวเองให้เป็นที่หนึ่ง
นายธนาสิทธิ์ ศิริผลา หรือ เต๋าดิญโญ่ อายุ 18 ปี นักเตะดาวรุ่งทีมบางกอกกล๊าส ตำแหน่งปีกซ้ายปีกขวา กล่าวว่า โค้ชปริญญาถึงจะมีคนมองว่าเป็นโค้ชพิการนั่งวิลแชร์มาสอนคนขาดีเล่นฟุตบอล แต่จุดนี้ถือเป็นแรงผลักดันและทำให้เกิดแรงจูงใจทำให้ตัวเองต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเล่นกีฬาฟุตบอลเพื่อให้โค้ชภูมิใจ ซึ่งเริ่มต้นโค้ชปริญญาซึ่งเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันได้มาชักชวนให้ไปเล่นฟุตบอล และโค้ชก็สอนทุกอย่าง พร้อมทั้งมีการแนะนำในการดำรงชีวิต ซึ่งโค้ชก็สอนมาตั้งแต่เด็กว่ากีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ดีอยากให้ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามการที่ตนเองมายืนอยู่จุดนี้ได้ก็รู้สึกภูมิใจ และเป็นส่วนหนึ่งที่โค้ชได้ปลูกฝังให้ความรู้ คำแนะนำให้รู้จักการใช้ชีวิต การเป็นนักกีฬาที่ดี ซึ่งเป้าหมายในชีวิตก็อยากติดทีมชาติชุดใหญ่และจะมอบรางวัลให้โค้ช ฝากน้องๆไม่ว่ากีฬาประเภทใดก็ทำให้สุขภาพดี แต่หากมองในเรื่องของรายได้ถือว่าการเล่นฟุตบอลก็สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน บางครอบครัวพ่อแม่ก็ยังมีอาชีพในทีมสโมสรที่ลูกเป็นนักเตะด้วย ก็อยากให้น้องตั้งใจฝึกฝนเล่นกีฬาด้วยความรัก
น.ส.ปิยนุช แป้นน้อย หรือ แป้น อายุ 24 ปี นักกีฬาวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย ตำแหน่งตัวรับอิสระ กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรัตนบัณทิต ลูกศิษย์ครูสมยส พงศาปาน ครูสอนดีจ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วชอบเล่นกีฬาวอลเล่ย์บอล และโชคดีที่มีอาจารย์สมยศสอนทักษะเล่นวอลเล่ย์ ทั้งทักษะชีวิต ความเป็นอยู่ทั้งภายในและภายนอกประเทศเมื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขัน ก็ต้องขอบคุณอาจารย์สมยศ เพราะหากไม่มีท่านคงไม่ได้มายืนอยู่จุดนี้ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมชาติไทย อาจารย์สมยศช่วยผลักดันทุกอย่างให้ไปถึงฝัน การเข้าไปฝึกเล่นวอลเล่ย์ถือได้ว่าใช้ชีวิตอยู่กับวอลเล่ย์ หากมีปัญหาหรือความไม่เข้าใจในการเล่นกีฬาก็สามารถถามอาจารย์ได้โดยตรง ทั้งนี้แล้วแต่มุมมองของคนที่มองว่าการเล่นกีฬาสำคัญหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่ากีฬาเป็นเรื่องที่สำคัญและทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จจนไปถึงเป้าหมายและฝันที่วางไว้คือเป็นตัวแทนทีมชาติไทย
นายพรประเสริฐ คัตทะจันทร์ หรือน้องดรีม อายุ 17 ปี ผู้คว้ารางวัลถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เป็นสมัยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2555-2556 กล่าวว่า ภูมิใจที่การเล่นกีฬาโดยเฉพาะการปั่นจักรยานจนประสบความสำเร็จได้รางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารถึง 2 ปี ก็อยากขอบคุณโค้ชประจักษ์ แพทย์ผล ที่เห็นแววชวนมาเล่นกีฬาปั่นจักรยาน และมอบโอกาสตรงนี้ให้ จนทำให้ตนมีโอกาสได้รับการศึกษาต่อในสถาบันชื่อเสียง ก็อยากจะให้รุ่นน้องใช้กีฬาเป็นโอกาสในการศึกษา และสร้างอาชีพในอนาคตให้ตัวเอง
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)