สสค. – มูลนิธิร่มฉัตร เดินหน้าสร้าง “ศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคกลาง”
พระธรรมภาวนาวิกรมยก “สมุทรสาคร” ภาพอนาคต “ชุมชนอาเซียน” เหตุแรงงานต่างด้าวสูงสุดในประเทศ รุก ‘ภาษาพม่า’ เพื่อเตรียมพร้อมเปิด aec ด้านหอการค้าจังหวัดหนุน หวังลดปัญหา “นายหน้าขายแรงงาน” วงจรแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิร่มฉัตร นำโดยพระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร เป็นประธานเปิดประชุม “จังหวัดต้นแบบสู่การเตรียมความพร้อมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 4 ภูมิภาค” โดยได้รับเกียรติจากนายสุวัฒน์ ตันติพิพัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับประชาสังคมชาวสมุทรสาคร อาทิ หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เขตพื้นที่การศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบล สถานประกอบการ และสถานศึกษา เข้าร่วมประชุม หลังจากที่ทำความเข้าใจในจังหวัดสงขลา และเชียงราย และจะมีการลงพื้นที่เตรียมความพร้อมในจังหวัดอุบลราชธานี วันพุธที่ 20 มี.ค.นี้
พระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร กล่าวว่า แม้สมุทรสาครจะไม่ใช่จังหวัดชายแดนเหมือนจังหวัดอื่นที่เลือกเป็นศูนย์ศึกษาอาเซียนในแต่ละภูมิภาค แต่ด้วยพื้นที่มีความน่าสนใจเพราะมีจำนวนประชากรพม่าสูงที่สุดของประเทศ จากข้อมูลของสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาครในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่า จ.สมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวมากที่สุดอันดับ 1 ของประเทศ โดยแรงงานพม่ามีจำนวนสูงที่สุดถึง 90% หรือ 196,057 คน ซึ่งยังไม่นับรวมลูกจ้างพม่าที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกประมาณ 47,027 คน
พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าวว่า สมุทรสาครเป็นภาพจำลองชุมชนอาเซียนในอนาคตอย่างแท้จริง เพราะมีความหลากหลายของกลุ่มคน โดยการเตรียมความพร้อมต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาครัฐ สถานศึกษา สถาบันทางศาสนา และสถานประกอบการ เพื่อให้ชุมชนรู้จักวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง และนำสู่การพัฒนาศักยภาพของชุมชน ซึ่งเป็นหลักของการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยสิ่งสำคัญของการเตรียมตัวให้พร้อมคือ ภาษา โรงเรียนจึงต้องส่งเสริมเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ให้เรียนรู้ภาษาพม่าควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการค้าและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจสร้างรายได้สำคัญของจังหวัด จึงเป็นการต่อยอดจุดแข็งของจังหวัดในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
นายสุวัฒน์ ตันติพิพัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้าของการเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการเน้นคือ การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก ส่วนจังหวัดตามแนวชายแดนจะให้เปิดสอนภาษาเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายของการเรียนรู้คือ คนไทยสามารถสื่อสารเพื่อการค้าในระดับพื้นที่ และเพื่อการเมืองในระดับสูง ซึ่งระบบการศึกษายังต้องมีการยกระดับในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้ามาศึกษาในประเทศไทยได้ รวมทั้งคนไทยก็สามารถเรียนประเทศเพื่อนบ้านได้เช่นเดียวกัน
นายนันท์ ออประเสริฐ รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จุดแข็งของสมุทรสาครคือศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารจึงมีแรงงานต่างด้าวเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นจุดอ่อนเพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมายทำให้อเมริกาและยุโรปใช้โจมตีทางการค้า หากเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเชื่อว่าจะเกิดผลกระทบ 2 ด้านคือ 1. การถูกกีดกันทางการค้าจากกลุ่มประเทศต่อต้านสินค้าแรงงานผิดกฎหมาย และ2. เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยจะมีการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นๆมากขึ้น โดยเฉพาะการรองรับแรงงานอย่างถูกต้องกฎหมาย ซึ่งต้องเร่งจัดทำฐานข้อมูลแรงงานแฝงที่ผิดกฎหมาย จึงเกิดศูนย์ประสานอำนวยการแรงงานข้ามชาติประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแห่งแรกของประเทศไทยเพื่อเร่งแก้ปัญหา
“การเรียนรู้ภาษาพม่าหรือภาษาเพื่อนบ้านถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะวันนี้คนพม่าในมหาชัยพูดภาษาไทยได้ประมาณ 50% แต่คนไทยที่ฟังภาษาพม่าได้มีเพียง 5% เท่านั้น จึงเกิดระบบนายหน้าขายแรงงาน หรือคนกลางติดต่อระหว่างแรงงานพม่าและผู้ประกอบการ ทำให้เกิดวงจรแรงงานผิดกฎหมาย” รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)