สวัสดิการชุมชน เจ็บไข้ไม่ถูกทอดทิ้ง

          การปลูกจิตสำนึกเรื่องการออมเป็นรากฐานการดำเนินชีวิตบนความพอเพียง ตระหนักรู้ถึงการดูแลสุขภาพชุมชน ด้วยวิถีชีวิตเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน การสร้างความร่วมมือทั้งภายในตำบล และบูรณาการทำงานเพื่อร่วมสร้างสวัสดิการการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนในตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เหล่านี้คือหัวใจสำคัญของระบบสวัสดิการชุมชน

/data/content/19632/cms/bdeimuvwyz16.jpg

         ระบบสวัสดิการชุมชน เป็นแนวคิดที่ต่อยอดมาจากเรื่องของธนาคารหมู่บ้าน โดยการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้นในปี 2535 โดยมีเครือข่ายศูนย์รวมน้ำใจ 4 ตำบลซึ่งประกอบไปด้วย ตำบลคือเวียง ตำบลบ้านปิน ตำบลหนองหล่ม และตำบลบ้านถ้ำ ร่วมกันจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านขึ้น ต่อมาชาวบ้านและสมาชิกของธนาคารหมู่บ้าน ก็เริ่มคิดกันว่า น่าจะหาหนทางสร้างสวัสดิการให้กับสมาชิกอย่างยั่งยืน

         ในช่วงแรกได้มีการนำเอาดอกเบี้ยจากการทำธนาคารหมู่บ้านมาจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก แต่ว่าสมาชิกได้รับสวัสดิการไม่ทั่วถึงและครอบคลุม คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ ในขณะนั้น จึงได้พัฒนาระบบใหม่โดยเปิดให้มีการรับสมัครสมาชิกทุกปี และจัดระบบสวัสดิการให้ดูแลตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต

         ผู้ที่ได้ขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนในตำบลหนองหล่มในช่วงเริ่มต้นนั้นได้แก่ นายสมิง ธรรมปัญญา ประธานกองทุนฯ และนายสำราญ จันต๊ะวงค์ รองประธานกองทุนฯ อาจารย์มุกดา อินต๊ะสาร เครือข่ายศูนย์รวมน้ำใจฯ และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นต้น

         คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติได้รับรอง “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองหล่ม” เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546  เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 มาถึงวันนี้กองทุนสวัสดิการหมู่บ้านมีสมาชิกทุกกลุ่ม  มีเงินสะสมราวหนึ่งล้านเจ็ดแสนบาท โดยเงินนี้บางส่วนมาจากการสมทบของเทศบาลตำบลหนองหล่ม เพราะเห็นความสำคัญของระบบสวัสดิการ ขณะที่รายได้หลักจะมาจากสมาชิก ซึ่งสมาชิกจะส่งเงินเข้าสะสมในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี และที่ผ่านมาพบว่า สมาชิกจ่ายเงินสมทบตรงต่อเวลา

          การออมกำหนดให้สมาชิกจ่ายเงินออมปีละ 200 บาท โดยให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่มีทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนอยู่ในตำบลหนองหล่มเท่านั้น และเมื่อเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการจะได้ผลประโยชน์ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย

          นั่นคือ เมื่อมีเด็กเกิดกองทุนสวัสดิการจะจ่ายค่าทำขวัญให้คนละ 500 บาท แต่หากมีการเจ็บป่วย จะจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 90 วัน คืนละ 100 บาท แต่รวมแล้วต้องเป็นเงินไม่เกิน 2,000 บาท ขณะที่การเสียชีวิตก็จะมีเงินสงเคราะห์ให้ตามอายุการเป็นสมาชิก หากเป็นสมาชิกครบ 6 เดือนจะได้เงินสงเคราะห์ 3,000 บาท หรือเป็นสมาชิก 1 ปี 2  ปี 3 ปี และ 4 ปี จะได้เงินสงเคราะห์ 5,000, 10,000, 15,000 และ 20,000 บาทตามลำดับ

          “ตอนนี้ส่วนใหญ่เราจ่าย 20,000 บาทเพราะสมาชิกส่วนมากมีอายุครบ 4 ปีแล้ว” นายสำราญ จันต๊ะวงศ์ รองประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองหล่มบอก “แต่ปีหน้าเราจะเริ่มเก็บค่าเข้าเป็นสมาชิก 500 บาท”

          คนทำงานในกองทุนสวัสดิการฯ บอกแนวทางในการกระตุ้นให้คนที่ยังรีรอที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก เพราะไม่อยากเสียค่าสมทบนาน โดยเงินที่ได้มาจากสมาชิกส่วนใหญ่จะนำไปฝากธนาคาร อีกร้อยละ 10 จะนำไปหุ้นกับกองทุนหมู่บ้านในการปล่อยกู้ให้กับชาวบ้าน โดยได้รับดอกเบี้ยร้อยละ 0.5

         ระบบการทำงานของกองทุนสวัสดิการจะมีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นประธานกองทุน  มีการเลือกกรรมการหมู่บ้านๆ ละ 5 คน เพื่อเลือกขึ้นมาเป็นกรรมการระดับตำบลอีกครั้งหนึ่ง และด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน มีการสื่อสารกับชุมชนและสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองหล่มได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบที่มีการจัดสวัสดิการชุมชน และรางวัลองค์กรชุมชนเข้มแข็งด้านการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม แต่รางวัลที่ทำให้คนทำงานในกองทุนสวัสดิการชุมชนรู้สึกภาคภูมิใจ คือการที่ได้เห็นคนแก่ และคนเจ็บในบ้านหนองหล่มได้รับการดูแล

        “ยายแก้วอายุร้อยกว่าแล้ว แกไม่สบาย ครอบครัวไม่มีเงิน ลูกชายป่วยเป็นโรคลมชัก ลูกสาวก็ไปรับจ้างที่อื่น ก็ได้เงินจากกองทุนสวัสดิการนี่แหละที่ใช้กินใช้อยู่ระหว่างที่ป่วย” นางนฤมล ทะลิ  ผู้ช่วยเลขานุการกองทุนสวัสดิการเล่าพร้อมรอยยิ้ม

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ปันสุข

Shares:
QR Code :
QR Code