‘สวน สุข ศิลป์’ พื้นที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

 

หากมีของดีแต่ไม่มีที่ให้ “ปล่อยของ” ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคงอัดอั้น เหมือนมีบางอย่างจะพูดแต่พูดไปแล้วไม่มีใครฟัง สุดท้ายคงไม่เกิดความคิดอยากจะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้เอง พื้นที่สร้างสรรค์ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ให้โอกาสในการแสดงออกแล้ว ยังเป็นพื้นที่แบ่งปัน เรียนรู้ และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กับทุกคนอีกด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรมส่งเสริม สุขภาวะ ประจำเดือนเมษายน ภายใต้ชื่องานเก๋ไก๋ ว่า “สวน สุข ศิลป์” ตอน อะไรก็ไทย นำเสนอความเป็นไทยแท้และไทยเท่ ที่นำเอาวัฒนธรรมของไทยผสมผสานกับต่างประเทศได้อย่างลงตัว เพื่อให้กลุ่มเยาวชน ชุมชน และชมรมต่างๆ ได้มีโอกาสมาปล่อยของเด็ดของตัวเองออกมาสู่สังคม โดยมี ซุ้มต่างๆหลายซุ้ม อาทิ ซุ้มสาธิตการละเล่นไทย, กิจกรรม “บันทึกเสียงกลางสวน” จากกลุ่มเยาวชนโคตรอินดี้, การเชิดหุ่นสาย feat. percussion จากกลุ่มเยาวชนจอมทอง, การแสดง battle ฉ่อยปะทะแล็บไทย จากตัวแทนเยาวชนเพลงพื้นบ้านและเยาวชนจากโคตรอินดี้ เป็นต้น โดยเปิดพื้นที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้ชาวชุมชนใกล้เคียงเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมไทยหลากหลายรูปแบบไปพร้อมๆ กัน

อาจารย์ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปะวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ศสส.) เล่าถึงความสำคัญของการมีพื้นที่สร้างสรรค์ว่า “พื้นที่สร้างสรรค์ ควรจะเป็นพื้นที่ สาธารณะที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม แต่ในบ้านเรานั้น ค่อยข้างมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง ซึ่งล้วนเกิดจากความกังวลมากเกินไปของเจ้าหน้าที่ เช่น ปิดทำการเวลาราชการ เขตห้ามเข้าเฉพาะเจ้าหน้าที่ ห้ามนำเอาสิ่งของบางอย่างเข้าไป เหตุผลเหล่านี้เป็นการปิดกั้นการแสดงออกทั้งสิ้น เมื่อไม่มีที่แสดงออกก็เลยต้องหาวิธีระบาย นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่เห็นกันคือ การหันไปพึ่งพาอบายมุข

“การจัดพื้นที่สร้างสรรค์ในเขตชุมชนจึงเป็นวิธีการสร้างสุขภาวะที่แท้จริง สิ่งแรกคือสมาชิกในครอบครัวมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น สองคือสร้างสังคม การแบ่งปัน และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ระหว่างกลุ่ม ที่มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว และสุดท้ายคือ สิ่งที่ทุกคนได้สัมผัสและรับรู้นั้น จะสามารถช่วยให้เขานำเอาไปต่อยอด ความคิดสร้างสรรค์ แล้วนำกลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเองได้”

อาจารย์มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสส. บอกว่า “เหตุผลที่ยกความเป็นไทยมาให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ นั้น เนื่องจากเด็กๆ รุ่นใหม่ ควรที่จะรู้จักสิ่งที่เป็นพื้นฐาน หรือเป็นภูมิปัญญาที่แท้จริงคนเรา ซึ่งแฝงไปด้วยกุศโลบาย คำสอนต่างๆ สอดแทรกไว้ เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการปิดกั้นวัฒนธรรมต่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทกับสังคมตามยุคสมัย แต่จะเน้นการซึมซับและรักษาความเป็นตัวตนของเราไว้ให้ดี คล้ายกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรค เพราะถ้าเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้วต่อให้อิทธิพลความเสื่อมโทรมจากที่อื่นเข้ามาก็ไม่สามารถทำอะไรได้แน่นอน”

สรุปรวมความจากกิจกรรมที่ได้จัดทำขึ้นนี้ ทำให้ พบว่า “หัวใจสำคัญของการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์” คือ ต้องเกิด จากความร่วมมือร่วมใจกันของคนในพื้นที่นั้น และทุกคนต้องแสดงความเป็นเจ้าของและรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ เป็นเพียงแค่การเปิดพื้นที่ให้คนมาแสดงออกเท่านั้น แต่หมายถึง การกระตุ้นและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งร้ายๆ และสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคม ประเทศชาติ และโลกนี้ได้ แต่หากยังเห็นข้อจำกัดหลายอย่างที่เกิดจากความคิดเล็กคิดน้อยของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ โมเดลพื้นที่สร้างสรรค์เช่นนี้ก็คงจะเกิดขึ้นยาก

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code